ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ให้ข้อมูลว่าสามารถขายอพาร์ทเมนท์ใหม่ได้กว่า 1,600 ห้อง ในไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดในช่วงสามปีที่ผ่านมา และความต้องการดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น ในเมืองเบอร์โน (Brno) ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของประเทศ รองจากกรุงปราก “จำนวนอพาร์ทเมนท์ ที่ขายได้ทำให้ฉันประหลาดใจ เดิมทีฉันคาดว่ายอดขายอพาร์ทเมนท์ในปีนี้จะใกล้เคียงกับไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ซึ่งขายอพาร์ทเมนท์ได้ประมาณ 1,300 ห้อง” Petr Michálek ประธานคณะกรรมการ Skanska Residential กล่าว โดยบริษัทและกลุ่มบริษัทในเครือ รวมถึงตัวแทนของบริษัทไม่คาดคิดว่าจะมีตัวเลขในการขายอพาร์ทเมนท์สูงเช่นนี้
ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2567 การขายอพาร์ทเมนท์ในกรุงปรากเพิ่มขึ้นกว่า 2.5 เท่าจากปีที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนั้นอาจเป็นเพราะยอดขายที่ต่ำมากในปีที่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของปีนี้ถือว่าโดดเด่นหากเปรียบเทียบในช่วงสิบปีที่ผ่านมา นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ขอกล่าวถึงปี 2558 และ 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดฟื้นตัวเต็มที่จากวิกฤตการเงิน และในปี 2564 เมื่อสินเชื่อจำนองบ้านราคาถูกผลักดันให้เกิดการซื้อขาย แต่ปีนี้ถือว่าดีกว่าปีที่ผ่านๆ มา
นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คาดการณ์ว่าจะขายอพาร์ทเมนท์ได้ 6,000 ห้อง ในปีนี้ ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมากว่า 2,000 ห้อง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือเป็นยอดขายที่มากกว่าตัวเลขก่อนการเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยยอดขายที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับอุปทานที่จำกัด จะกดดันราคาอสังหาริมทรัพย์ให้สูงขึ้น สิ่งนี้เป็นที่ยอมรับไม่เพียงแต่นักพัฒนา อสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ด้วย “เวลาที่คาดว่าอพาร์ทเมนท์จะมีราคาถูกลงได้ สิ้นสุดลงแล้ว” Pavel Kliment ที่ปรึกษาและหุ้นส่วนของบริษัท KPMG เชี่ยวชาญด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์และการ ก่อสร้างกล่าว
ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.
ปี 2566 สาธารณรัฐเช็ก นำเข้าสินค้าวัสดุก่อสร้าง คิดเป็นมูลค่า 28,635 ล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศ เยอรมนี โปแลนด์ สโลวาเกีย อิตาลี ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และจีน ตามลำดับ โดยประเทศไทยส่งออกสินค้าวัสดุก่อสร้าง ไปยังสาธารณรัฐเช็ก คิดเป็นมูลค่า 90.89 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์และ ของตกแต่งบ้าน สาธารณรัฐเช็ก นำเข้าคิดเป็นมูลค่า 4,055 ล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศโปแลนด์ เยอรมนี โรมาเนีย จีน เซอร์เบีย สโลวาเกีย และอิตาลี ตามลำดับ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการไทย ในการขยายการส่งออก สินค้าวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน มายังตลาดสาธารณรัฐเช็กเพิ่มเติม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจพิจารณาวัสดุ/สินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ รวมถึงการบริหารจัดการเรื่องต้นทุน และการกำหนดราคาสินค้าที่น่าดึงดูดใจ เพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดที่เน้นเรื่องราคาเป็นสำคัญ