GDP ไตรมาส 1 ของอินโดนีเซียโตเกินคาด

จาการ์ตา 6 พ.ค. (รอยเตอร์) – การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในไตรมาสแรกเกินความคาดหมาย โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐในระดับสูงสำหรับการเลือกตั้งของประเทศ แต่การรักษาอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งยังเป็นสิ่งที่ท้าทาย เนื่องจากการพัฒนาทั่วโลกและภาวะการเงินในท้องถิ่นที่ตึงตัว

 

อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขยายตัว 5.11% ต่อปีในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบสามไตรมาส การเติบโตเกินอัตรา 5% ที่นักเศรษฐศาสตร์สำรวจและคาดการณ์อยู่ที่  5.04% เมื่อสิ้นไตรมาส 4

 

ในช่วงสามเดือนแรกของปี 2567 การใช้จ่ายเพื่อการรณรงค์สำหรับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม ซึ่งเริ่มในเดือนมีนาคมมาจนถึงเมษายน ได้ช่วยหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งช่วยชดเชยผลกระทบที่เศรษฐกิจของอินโดนีเซียได้รับจากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงในปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียเป็นประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรเป็นผู้ส่งออกถ่านหินให้ความร้อน น้ำมันปาล์ม และนิกเกิลรายใหญ่ที่สุดในโลก

 

นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่าการเลือกตั้งและการใช้จ่ายเดือนรอมฎอนที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยที่ช่วนสนับสนุนการเติบโตนี้ ในอนาคตข้างหน้า อัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่สูงขึ้นในระยะยาว ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง รวมถึงวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของอินโดนีเซียเอง ซึ่งรวมอยู่ที่ 275 จุดพื้นฐานตั้งแต่กลางปี 2565 ถึงเดือนเมษายน 2567 อาจเป็นอุปสรรคต่อแนวโน้มการเติบโต

 

“เศรษฐกิจถูกกำหนดให้ต้องดิ้นรนในช่วงไตรมาสต่อๆ ไป เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง และการเติบโตทั่วโลกที่ต่ำกว่าแนวโน้ม ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุปสงค์” นาย Gareth Leather นักเศรษฐศาสตร์ของ Capital Economics คาดการณ์การเติบโตทั้งปี 2567.อยู่ที่เพียง 4.5 % กล่าว

 

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) รวมถึงการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนที่แล้วเพื่อเพิ่มการสนับสนุนสกุลเงินรูเปียห์ซึ่งร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบสี่ปีท่ามกลางความผันผวนของตลาดโลก นาย Radhika Rao นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร DBS กล่าว ทั้งนี้ คาดว่าธนาคารกลางอินโดนีเซียจะยังคงดำเนินการสนับสนุนนค่าเงินรูเปียห์แต่จะดำเนินการอย่างรัดกุมหากค่าเงินรูเปียห์ร่วงลงอีก

 

การเติบโตที่มั่นคงจะช่วยให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียยังคงมุ่งเน้นไปที่ราคาและเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน โดยคาดการณ์การเติบโตทั้งปี 5% รูเปียห์ฟื้นตัวจากการขาดทุนบางส่วนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

 

อัตราการเติบโตไตรมาสแรกช้ากว่าการคาดการณ์ของรัฐบาลที่ 5.17% สำหรับปี 2567 รัฐบาลตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 5.2% เพิ่มขึ้นจาก 5.05% ในปีที่แล้ว

 

ปัจจัยจากการใช้จ่ายสาธารณะที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

ในไตรมาสแรก การใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นเกือบ 20% ต่อปีในไตรมาสแรก เทียบกับอัตราการเติบโตเพียง 2.81% ในช่วงสามเดือนก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายที่สูงขึ้นสำหรับโครงการการเลือกตั้งและสวัสดิการ เพื่อช่วยคนยากจนรับมือกับราคาอาหารที่สูงขึ้น

 

การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 4.91% เมื่อเทียบเป็นรายปี เทียบกับการขยายตัว 4.47% ในไตรมาสก่อนหน้า การบริโภคภาคครัวเรือนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP ของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม การเติบโตของการลงทุนลดลงเหลือ 3.79% ในเดือนมกราคม-มีนาคม จาก 5.02% ในไตรมาสที่สี่

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐหลายรายแสดงความหวังว่าการลงทุนจะกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่รัฐมนตรีกลาโหม นายปราโบโว ซูเบียนโต ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมา

 

นายปราโบโว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ในระหว่างการหาเสียง คาดว่าจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสานต่อจากประธานาธิบดีโจโก วิโดโดต่อไปเมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม

 

 

ข้อคิดเห็นของสำนักงานฯ:

เศรษฐกิจของอินโดนีเซียเติบโตเกินความคาดหมายในไตรมาสที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2567) เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงและการบริโภคภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในช่วงรอมฎอนและการเลือกตั้งที่ผ่านมา การรักษาการเติบโตให้อยู่ในระดับนี้อาจเป็นเรื่องยากเนื่องจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์โลกและภาวะเงินเฟ้อของอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม  การใช้จ่ายภาครัฐและการบริโภคภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในอินโดนีเซียเป็นแนวโน้มที่ดี เป็นโอกาสของสินค้าไทย โดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย การที่อินโดนีเซียให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในสินค้าวัสดุก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง  อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรติดตามนโยบายเศรษฐกิจและแนวโน้มตลาด และกฎระเบียบของอินโดนีเซียอย่างใกล้ชิด และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการปรับตัวเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซีย

thThai