กระทรวงการคลังไม่เห็นชอบการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารปศุสัตว์

ประชาชนของจังหวัด Ben Tre (ภาคใต้) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ เช่น กุ้งและเนื้อวัว รวมถึงการที่ราคาอาหารปศุสัตว์เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากที่เลี้ยงปศุสัตว์ในจังหวัด Ben Tre ประสบภาวะเดือดร้อน ดังนั้นประชาชนของจังหวัด Ben Tre จึงเรียกร้องให้กระทรวงการคลังของเวียดนาม (MoF) พิจารณาลดภาษีสำหรับวัตถุดิบนำเข้าในการผลิตอาหารปศุสัตว์เพื่อแบ่งเบาภาระทางการเงินและลดต้นทุนโดยรวมของสินค้า

เพื่อตอบสนองต่อคำร้องของประชาชนของจังหวัด Ben Tre กระทรวงการคลังได้ระบุอัตราภาษีนำเข้าของสินค้ากลุ่มวัตถุดิบสำหรับการผลิตอาหารปศุสัตว์นั้นอยู่ในระดับที่ต่ำและสามารถช่วยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอาหารปศุสัตว์ในเวียดนามและลดการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้า โดยในช่วงปีที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ดำเนินการลดอัตราภาษีนำเข้าอาหารปศุสัตว์ เช่น ข้าวสาลีเป็นร้อยละ 0 (จากเป็นร้อยละ 5 และร้อยละ 3) และร้อยละ 2 สำหรับข้าวโพด (จากร้อยละ 5) อีกทั้ง อัตราภาษีนำเข้าสำหรับวัตถุดิบอื่นๆ บางชนิดเป็นศูนย์ เช่น เนื้อสัตว์ผงละเอียด รำข้าว และข้าวขาวหัก นอกจากนี้ วัตถุดิบบางชนิดที่จำเป็นสำหรับในการเลี้ยงสัตว์ปีกและสุกรจะต้องเสียอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 3 และภาษีนำเข้าสำหรับกากถั่วเหลืองนั้นอยู่ที่ร้อยละ 2

โดยการควบคุมอัตราภาษีนำเข้าสำหรับวัตถุดิบในการผลิตอาหารปศุสัตว์ ได้ระบุตามมาตรา 10 ของกฎหมายภาษีส่งออกและภาษีนำเข้า เลขที่ 107/2016/QH13 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอาหารปศุสัตว์ในเวียดนาม ส่งเสริมการสร้างแหล่งผลิตวัตถุดิบของเวียดนาม ลดการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้า และรับประกันผลประโยชน์ระหว่างเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารปศุสัตว์

อย่างไรก็ดี สำหรับวัตถุดิบที่ไม่สามารถผลิตได้ในเวียดนามจะกำหนดอัตราภาษีนำเข้าเป็น 0 เพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่สำหรับวัตถุดิบที่สามารถผลิตได้ในเวียดนามจะยังคงกำหนดอัตราภาษีที่ต่ำและเหมาะสมเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเวียดนามที่ผลิตอาหารปศุสัตว์ มีโอกาศในการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสนับสนุนการลดต้นทุนอาหารปศุสัตว์ด้วย นอกจากนั้น การควบคุมและกำหนดนโนบายด้านภาษี และค่าธรรมเนียมต่างๆ จะยังคงต้องหาแนวทางในการปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบททางการค้ามากขึ้นเพื่อพัฒนาสนับสนุนอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของเวียดนามในอนาคตได้

อีกทั้ง กระทรวงอื่นๆ และสมาคมหลายแห่งของเวียดนามได้เสนอให้ลดอัตราภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังรวบรวมความคิดเห็นจากหน่วยงานเหล่านี้ รวมทั้งหอการค้าเวียดนามและอุตสาหกรรมเวียดนาม (Vietnam Chamber of Commerce and Industry) เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาลเวียดนามต่อไป

 

(จาก https://en.vietnamplus.vn/)

ข้อคิดเห็น สคต

ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 อุตสาหกรรมปศุสัตว์ของเวียดนามมีการเติบโตได้ดีแต่ยังได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาอาหารปศุสัตว์ในเวียดนาม และการขาดแคลนวัตถุดิบหลักของการผลิตอาหารปศุสัตว์ จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบ ได้แก่ ข้าวโพด กากถั่วเหลือง และข้าวสาลี จากต่างประเทศ นอกจากนั้น เกษตรกรเวียดนามมีพื้นที่ในการปลูกวัตถุดิบอาหารปศุสัตว์จำนวนไม่มากและรายได้จากสินค้าวัตถุดิบสำหรับอาหารปศุสัตว์นั้นต่ำกว่าสินค้าเกษตรอื่นๆ ทำให้เกษตรกรเวียดนามขาดแรงจูงใจในการปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้โรงงานอาหารปศุสัตว์เวียดนามต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศร้อยละ 65 – 70 ทำให้ต้นทุนการผลิตและราคาขายอาหารปศุสัตว์เพิ่มขึ้น ในไตรมาสแรกของปี 2567 บราซิลเป็นแหล่งนำเข้าข้าวโพดหลักของเวียดนาม ซึ่งนำเข้าประมาณ 1.48 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 53.4 ของปริมาณการนำเข้าข้าวโพดทั้งหมด ลองลงมาคืออาร์เจนตินาอยู่ที่ 0.7 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 26.2 สปป.ลาวอยู่ที่ 6 หมื่นตัน คิดเป็นร้อยละ 2.4 และไทยอยู่ที่ 1 พันตัน คิดเป็นร้อยละ 0.043 อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการปศุสัตว์ของเวียดนามยังคงหาแหล่งนำเข้าใหม่ๆ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในเวียดนาม จึงเป็นโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยและเกษตรกรไทยในการเพิ่มการส่งออกสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบอาหารปศุสัตว์ไปยังเวียดนาม

thThai