อินเดียตั้งเป้าขึ้นแท่นตลาดก่อสร้างที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกภายในปี 2568

ท่ามกลางกระแสอสังหาริมทรัพย์อินเดียที่กำลังเติบโตควบคู่ไปกับแรงผลักดันด้านระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานจากการให้ความสำคัญของรัฐบาลอินเดีย ภาคการก่อสร้างอินเดียนั้นกำลังเติบเติบไปได้ดีและอยู่ในภาวะที่เฟื่องฟู ทำให้อินเดียตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2568 ประเทศจะก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านตลาดการก่อสร้างที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากจีนและสหรัฐฯ ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการก่อสร้างของอินเดียคิดเป็น 9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยอินเดียมีการจ้างงานที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ด้วยแรงงานกว่า 71 ล้านคน
ด้วยนโยบายสำคัญของนายกรัฐมนตรีโมดีที่ผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมนำโดยธุรกิจก่อสร้างกลายเป็นหนึ่งในดัชนีทางเศรษฐกิจสำคัญที่บ่งชี้ความก้าวหน้าของประเทศ จากข้อมูลทางการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2568 อุตสาหกรรมการก่อสร้างจะสร้างรายได้สูงถึง 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเมื่อไตรมาสที่ผ่านมา (เดือนกรกฎาคม-กันยายน) ขยายตัวร้อยละ 13.3 เทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นผลประกอบการที่ดีที่สุดในรอบ 5 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยในปี 2566 อุตสาหกรรมนี้มีการเติบโตที่ร้อยละ 9.6 ซึ่งเกินกว่าความคาดหมาย ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจนี้เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ของชาวอินเดียจํานวนมาก ส่งผลให้เกิดภาวะการขาดแคลนที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ การเติบโตของประชากรและการเร่งรัดเพื่อเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน องค์การสหประชาชาติยังคาดการณ์ว่าประชากรอินเดียจะเพิ่มถึง 1.64 พันล้านคนในปี 2590 โดยประมาณ 51% อาศัยอยู่ในเขตเมือง รัฐบาลจึงได้เร่งพัฒนาภาคการก่อสร้างผ่านการเบิกจ่ายงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งนำไปสู่ภาวะธุรกิจการก่อสร้างที่เติบโตได้ดีในปัจจุบัน

อินเดียตั้งเป้าขึ้นแท่นตลาดก่อสร้างที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกภายในปี 2568ข้อมูลเพิ่มเติม
1. อุตสาหกรรมก่อสร้างของอินเดียประกอบด้วย 2 ภาคส่วนที่สำคัญ ได้แก่ 1) อสังหาริมทรัพย์ และ2) การพัฒนาเมือง ด้านอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย อาคารที่อยู่อาศัย สำนักงาน ร้านค้าปลีก โรงแรมและสวนสันทนาการ โดยการพัฒนาเมือง จะครอบคลุมระบบน้ำประปา สุขาภิบาล การคมนาคมภายในเมือง โรงเรียนและสถานพยาบาลของอินเดีย
2. ในปีงบประมาณ 2024 ถึง 2025 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณด้านการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐาน มูลค่า 134 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 3.4% ของจีดีพี อุตสาหกรรมการก่อสร้างยังเป็นภาคส่วนที่รับเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในลำดับที่ 6 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศแล้วกว่า 32 พันล้านเหรียญสหรัฐตั้งแต่ปี 2543 การลงทุนโดยตรงที่ได้รับการอนุญาตผ่านทางช่องทางปกติ ซึ่งสามารถลงทุนได้เต็ม 100% คือการลงทุนในโครงการห้างสรรพสินค้า ระบบการบริหารจัดการทำธุรกิจ และการดูเขตชุมชน ในขณะเดียวกันกฎเกณฑ์ดังกล่าวยังได้ถูกนำมาปรับใช้กับโครงการทางด้านสาธารณูปโภค เช่น การคมนาคม ระบบจัดการน้ำการระบายน้ำทิ้ง และการบําบัดน้ำเสีย

ผลกระทบ/ท่าที
1. อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น: การขยายตัวของตลาดการก่อสร้างมีส่วนส่งเสริมความต้องการของสินค้าวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายถึงตลาดของอินเดียจะเป็นโอกาสและเป็นตลาดใหญ่ให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจทั้งทางด้านการจัดหาวัสดุอุปกรณ์สำหรับการก่อสร้างอาคารและเครื่องจักร
2. การให้ความสำคัญด้านระบบสาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐาน: เป็นการสร้างความต้องการโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงสำหรับการก่อสร้างเส้นทางถนน รางรถไฟ หรือโครงการขนาดใหญ่ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดหาวัตถุดิบเพื่อป้อนตลาดอินเดียในโครงการดังกล่าว
3. ภาวะการแข่งขัน: เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างของอินเดีย มีการวางโครงสร้างทางธุรกิจไว้เป็นอย่างดีและมีผู้เล่นที่สำคัญ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยที่ต้องการจะเจาะตลาดอุตสาหกรรมก่อสร้างจะต้องเผชิญกับการแข่งขันทั้งทางด้านราคา การสร้างแบรนด์เพื่อทำให้สินค้าเป็นที่ยอมรับ รวมถึงสร้างเครือข่ายการกระจายสินค้าที่เหมาะสม

ข้อคิดเห็น
1. ในช่วงปีงบประมาณ 2024 ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมนั้น เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวร้อยละ 8.4 โดยภาคส่วนสำคัญที่มีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว คือ ภาคการก่อสร้าง และการผลิตที่แข็งแกร่ง นายกรัฐมนตรีโมดีได้เคยแสดงวิสัยทัศน์ไว้ถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจะมีส่วนช่วยประชากรกว่า 140 ล้านคน ให้มีชีวิตที่ดีขึ้นและเพื่อก้าวสู่การบรรลุเป้าหมาย Visksit bharat (Developed India) ซึ่งภาคการผลิตและการก่อสร้างเป็น ภาคอุตสาหกรรมที่มีส่วนช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ การขยายตัวตัวเลขสองหลักเป็นเครื่องบ่งชี้ทางเศรษฐกิจ โดยภาคการผลิตขยายตัว 11.6% ในขณะที่ ภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 9.6 ทั้งนี้ ในปี 2566 อินเดียนำเข้าจากไทย สินค้าสิ่งก่อสร้างและส่วนประกอบของสิ่งก่อสร้างอื่นๆ (HS 730890) 12,072,733 เหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1,107 เทียบกับช่วงเวลาเดียวจากปีที่ผ่านมา (ฐานปีที่ผ่านมาค่อนข้างต่ำ) โดยอินเดียนำเข้าจากไทย เป็นลำดับที่ 4 รองจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
2. ธุรกิจการผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างอินเดียมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามภาวการณ์ก่อสร้างที่ทยอยฟื้นตัว การเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในภาคการก่อสร้างปี 2566 นี้ถูกขับเคลื่อนด้วยแรงหนุนหลักจากการลงทุนของรัฐบาลที่มุ่งเป้าไปที่โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งในปี 2567 นอกจากนี้ การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เช่น ด้านพลังงาน การคมนาคม และที่อยู่อาศัย มีส่วนช่วยกระตุ้นการขยายตัวของอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการไทยที่สนใจในตลาดอินเดียสำหรับธุรกิจการก่อสร้าง อาจพิจารณาศึกษาตัวอย่าง Best practice ของบริษัทไทยที่เข้าได้เข้ามาลงทุนแล้วในอินเดีย อาทิ ITD Cem/ SCG International เพื่อนำแนวคิดมาปรับใช้กับธุรกิจให้เหมาะสม นอกจากนี้ ผู้ส่งออกสินค้าวัสดุก่อสร้าง อาจพิจารณาการสร้างแบรนด์โดยมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเพาะ (Niche product) และมีข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยี ซึ่งอาจรวมถึงวัสดุก่อสร้างที่ประหยัดพลังงาน มีนวัตกรรม หรือเป็นส่วนประกอบของอาคารสำเร็จรูป รวมถึงการสร้างเครือข่ายเพื่อขยายความร่วมมือกับบริษัทอินเดีย จะมีส่วนช่วยให้ผู้ส่งออกไทยสามารถรับมือ ลดความซับซ้อนของตลาด เห็นช่องทางการจัดจำหน่ายและเข้าถึงตลาดอินเดียได้ดียิ่งขึ้น

 

 

 

thThai