- ภาพรวมตลาดสินค้าเนื้อสัตว์ อาหารทะเลแปรรูป และโปรตีนทางเลือกในสิงคโปร์ปี 2566
ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า มูลค่าการขายสินค้าสินค้าเนื้อสัตว์ อาหารทะเลแปรรูป และโปรตีนทางเลือกในสิงคโปร์ในปี 2566 อยู่ที่ 470.4 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มสูงขึ้น 4.8% (YoY) โดยประกอบไปด้วยสินค้าเนื้อสัตว์แปรรูป 211.1 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มสูงขึ้น 5.7% (YoY) สินค้าอาหารทะเลแปรรูปอยู่ที่ 142.2 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 3.8% (YoY) และกลุ่มโปรตีนทางเลือกอย่างเต้าหู้ อยู่ที่ 116 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 4.3% (YoY)
ในปี 2566 ความต้องการซื้อสินค้าปลีกในกลุ่มสินค้าเนื้อสัตว์ อาหารทะเลแปรรูป และโปรตีนทางเลือกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังจากลดลงเล็กน้อยในปีก่อนหน้าจากปัญหาด้านเงินเฟ้อ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ ชาวสิงคโปร์ส่วนมากจะซื้อสินค้าเนื้อสัตว์แปรรูปเพื่อเป็นส่วนผสมในการประกอบอาหารที่บ้าน เพราะก่อให้เกิดความสะดวกสบายในการเตรียมอาหาร ประกอบกับความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้สินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูปแช่แข็งเติบโตสูงสุดอย่างต่อเนื่อง เช่น นักเก็ตแช่แข็ง ไก่คาระเกะแช่แข็ง
ในปี 2566 ความต้องการซื้อสินค้าปลีกในกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากชาวสิงคโปร์ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพมากขึ้น และมองว่าสินค้ากลุ่มนี้อุดมไปด้วยโปรตีนและแคลเซียม อย่างไรก็ดี การเติบโตเชิงปริมาณของสินค้าอาหารทะเลแปรรูปจะช้ากว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป เพราะว่าอาหารทะเลมักจะมีราคาสูงกว่า ประกอบกับภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน และกำลังซื้อผู้บริโภคต่ำ ชาวสิงคโปร์จึงมองหาทางเลือกที่มีความคุ้มค่า ส่งผลให้หลายๆ บริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์รสชาติใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความสนใจและกระตุ้นยอดขาย เช่น แบรนด์ Ayam ได้เปิดตัวปลาซาร์ดีนรสหม่าล่าในเดือนเมษายน 2566 เพื่อตอบรับเทรนด์หม่าล่า นอกจากนี้ หลายบริษัทออกสินค้าที่มีปริมาณโซเดียมต่ำ เพื่อตามกระแสรักสุขภาพมากขึ้นของชาวสิงคโปร์ ซึ่งจะสอดคล้องกับสินค้าปลาทูน่ากระป๋องที่มีเกลือลดลง 25% ที่วางขายในตลาดในขณะนี้
โปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์และอาหารทะเลยังคงเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มในสิงคโปร์ เพราะว่าจำนวนผู้บริโภคอาหารจากพืชเป็นหลัก เช่น ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติแบบยืดหยุ่นเป็นครั้งคราว (Flexitarians) หรือผู้รับประทานอาหารเจ คิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยของประชากรสิงคโปร์ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์และอาหารทะเลยังคงพยายามเลียนแบบเนื้อสัมผัสและรสชาติให้คล้ายกับการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เพื่อดึงดูดฐานผู้บริโภคให้กว้างขึ้น ความสามารถในการจ่ายยังคงเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำหรับการเข้ามาทำตลาดโปรตีนทางเลือกในสิงคโปร์ ราคาที่แพงกว่าเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดผู้บริโภคจำนวนมาก หรือซื้อสินค้าซ้ำ จากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจในปี 2566 ทำให้ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น ผู้ผลิตหลายรายจึงได้ทำรายการส่งเสริมการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย เช่น แบรนด์ MeatZero ของบริษัท CP Foods Singapore ได้นำเสนอส่วนลด 2 เหรียญสิงคโปร์สำหรับการซื้อ 12 เหรียญสิงคโปร์ ภายในระยะเวลาที่กำหนด เป็นต้น อย่างไรก็ดี หลายแบรนด์ได้เข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์เพื่อเป็นการขยายผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ เช่น ร้านอาหาร Nando’s ได้นำเสนอไก่ PERi-PERi ที่ทำจากพืชครั้งแรก โดยร่วมมือกับแบรนด์โปรตีนจากพืชของอินโดนีเซีย Green Label ในเดือนพฤษภาคม 2566 กล่าวโดยสรุปคือ นอกเหนือจากรสชาติแล้ว ราคายังเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผู้บริโภคไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ ถึงแม้ว่าผู้บริโภคจะมีการรับรู้ในผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มากขึ้น และร้านค้าปลีกได้หันมาจำหน่ายสินค้ากลุ่มนี้มากขึ้นก็ตาม แต่ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น ประกอบกับการขึ้นภาษีสินค้าและบริการในปี 2567 เป็น 9% Euromonitor จึงคาดว่าการเติบโตของปริมาณการค้าปลีกสินค้ากลุ่มนี้จะยังคงอยู่ในระดับต่ำในช่วงระยะคาดการณ์
2. โอกาสทางการตลาดของสินค้าเนื้อสัตว์ อาหารทะเลแปรรูป และโปรตีนทางเลือกในสิงคโปร์
ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ให้ความสนใจในการดูแลด้านสุขภาพและให้ความสำคัญด้านโภชนาการจากการรับประทานในแต่ละวันมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าเนื้อสัตว์แปรรูป แล้วหันไปซื้อเนื้อสัตว์สดมากขึ้น ดังนั้น ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์แปรรูปจึงต้องพยายามยกระดับรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูปแช่เย็น กลุ่มสินค้าสัตว์ปีก เพื่อตอบสนองต่อแนวโน้มการดูแลสุขภาพ โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้บริโภคที่ต้องการเพิ่มโปรตีนในมื้ออาหาร เนื่องจากอาหารเอเชียส่วนมากจะเน้นที่คาร์โบไฮเดรต จึงก่อให้เกิดความต้องการซื้อสินค้าอกไก่แช่เย็นเพิ่มมากขึ้น เพราะผู้บริโภคมองว่า เนื้อขาวดีต่อสุขภาพมากกว่าเนื้อแดง และมีไขมันน้อยกว่า ประกอบกับสินค้ามาในรูปแบบพร้อมปรุงก่อให้เกิดความสะดวกสบายต่อผู้บริโภค เช่น แบรนด์ Betagro ได้เปิดตัวสินค้าอกไก่นุ่มอบรสพริกไทยดำ ซึ่งดึงดูดผู้บริโภคได้มากขึ้น เพราะโดยปกติผู้บริโภคมองว่า อกไก่รสชาติจืดและแห้ง แบรนด์ Ayam ได้เปิดตัวไก่ฉีกรสเผ็ดและมายองเนสในเดือนเมษายน 2566 ซึ่งเป็นการขยายความหลากหลายของสินค้าให้กับแบรนด์นอกเหนือจากอาหารทะเลแปรรูป กล่าวโดยสรุปคือ ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์มองหาสินค้าทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นจากเนื้อสัตว์แปรรูป ดังนั้น ผู้ผลิตควรคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น การลดเกลือ หรือสารปรุงแต่งในผลิตภัณฑ์ และไม่มีสารกันบูด และควรมีการเปิดตัวรสชาติใหม่ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคและการเติบโตของกระแสอาหารเพื่อสุขภาพในอนาคต
ในปี 2565 ราคาต่อหน่วยของสินค้าเต้าหู้และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองขึ้นสูงสุด เนื่องจากการขาดแคลนสินค้าโภคภัณฑ์เมล็ดถั่วเหลืองทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นส่งผลให้ปริมาณค้าปลีกลดลง ในปี 2566 หลังจากที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลายลง ประกอบกับซูเปอร์มาร์เก็ตพยายามรักษาราคาที่เข้าถึงได้สำหรับผู้บริโภค จะเห็นได้จาก ซูเปอร์มาร์เก็ต FairPrice ได้ลดราคา 1% สำหรับสินค้ากลุ่มเต้าหู้ และแบรนด์ Fortune ได้ทำโปรโมชั่น ณ จุดขายอยู่บ่อยครั้ง เต้าหู้มีจุดแข็งอยู่ที่เป็นอาหารจากพืชที่มีไขมันต่ำ และมีโปรตีนสูง เมื่อรวมกับแนวโน้มการดูแลสุขภาพ จะช่วยให้เกิดความต้องการซื้อเต้าหู้เพิ่มมากขึ้น เพื่อทดแทนการใช้เนื้อสัตว์ในการประกอบอาหารกลุ่มมังสวิรัติ หรืออาหารวีแกน กล่าวโดยสรุปคือ ความต้องการซื้อเต้าหู้และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่องเนื่องจากเทรนด์การดูแลสุขภาพ และวิถีชีวิตที่วุ่นวายของผู้บริโภคชาวสิงคโปร์
3. แบรนด์สินค้าเนื้อสัตว์ อาหารทะเลแปรรูป และโปรตีนทางเลือกในสิงคโปร์
ในปี 2566 สินค้ากลุ่มเต้าหู้ต่างๆ แบรนด์ Fortune และ Unicurd ได้มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดอยู่ที่ 9.8% และ 7% ตามมาด้วยแบรนด์ปลากระป๋อง Ayam อยู่ที่ 5.7% แบรนด์ลูกชิ้นปลา และอื่นๆ แบรนด์ Dodo อยู่ที่ประมาณ 5.3% และแบรนด์ FairPrice อยู่ที่ 4.9% และแบรนด์เนื้อสัตว์แปรรูป CP อยู่ที่ 3.4%
ข้อมูลเพิ่มเติม/ความคิดเห็นสคต.
ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์มองหาสินค้าทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นจากสินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป ดังนั้น ผู้ผลิตควรคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น การลดเกลือ หรือสารปรุงแต่งในผลิตภัณฑ์ และไม่มีสารกันบูด และควรมีการเปิดตัวรสชาติใหม่ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคในสิงคโปร์ ในขณะเดียวกัน ชาวสิงคโปร์มีการคำนึงถึงความคุ้มค่าทางราคาด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาความต้องการและแนวโน้มของตลาดเป้าหมายเพื่อพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งศึกษาข้อกำหนดด้านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์[1] เพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐานและติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป
[1] กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์ – https://www.sfa.gov.sg/food-import-export/commercial-food-imports
ที่มาข้อมูล : Euromonitor