แคนาดาเร่งพัฒนาโปรตีนจากพืช เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคช่วงเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูง (สคต.โทรอนโต)

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์  ระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม – 17 พฤษภาคม 2567

แคนาดาเร่งพัฒนาโปรตีนจากพืช เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคช่วงเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูง

โปรตีนจากพืชมีโครงสร้างสารโปรตีนแตกต่างกันออกไปขึ้นกับวัตถุดิบ ส่วนมากจะมาจากถั่วเหลือง ถั่วลันเตา และแป้งสาลี เมื่อเทียบกับเนื้อที่มาจากสัตว์ เนื้อที่ทำจากพืชก็ให้สารอาหารที่ครบถ้วนเช่นกัน ซึ่งประกอบด้วยโปรตีน ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ และน้ำ การผลิตโปรตีนจากพืชในอนาคตจะมีการพัฒนาเพื่อให้มีลักษณะโครงสร้างคล้ายคลึงกับเนื้อสัตว์ปกติให้ได้มากที่สุด ภาคอุตสาหกรรมถือว่าประสบความสำเร็จมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยบริษัทที่ใช้ผลิตภัณฑ์ Plant-based ส่วนมากจะนำไปผลิตแฮมเบอร์เกอร์และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งในอดีตถือว่าเป็นตลาดขนาดเล็กเพราะฐานผู้บริโภคส่วนมากคือ กลุ่มคนที่ทานมังสวิรัติเท่านั้น

โรงงานผลิตโปรตีนจากพืชในแคนาดากำลังมุ่งเน้นในการปรับปรุงเรื่องราคา ลดต้นทุน พัฒนารสชาติและเนื้อสัมผัส เพื่อทำให้ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มราคาของสินค้า ค่าครองชีพและจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นสามารถมีตัวเลือกของแหล่งสารอาหารโปรตีนมากขึ้น

ในภาคอุตสาหกรรมนี้ ผู้เชี่ยวชาญอย่าง Mr. Bill Greuel จากบริษัท Protein Industries Canada มุ่งเน้นการปรับปรุงพัฒนาสินค้าเนื้อเทียมอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นเรื่องความละเอียดในการละลายของชีสจากพืชและปรับปรุงผิวสัมผัสของเนื้อโปรตีนจากพืชที่พยายามพัฒนาให้ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์มากขึ้น เพื่อให้ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น โดยเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จะคำนึงถึง     “Holy Trinity of consumer needs” ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยราคา รสชาติ และเนื้อสัมผัส ที่จะส่งเสริมให้มีผู้บริโภคหันมาลองใช้สินค้าทดแทนจากพืชมากขึ้น

แคนาดาเร่งพัฒนาโปรตีนจากพืช เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคช่วงเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูง (สคต.โทรอนโต)แคนาดาเร่งพัฒนาโปรตีนจากพืช เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคช่วงเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูง (สคต.โทรอนโต)

เพื่อจัดการกับความท้าทายของปัญหาจากอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ภาคอุตสาหกรรมกำลังเร่งพัฒนาความสามารถในการผลิตในแคนาดาและนวัตกรรมต่างๆ แนวทางนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริมให้มีทางเลือกมากขึ้นสำหรับผู้ผลิตอาหารและผู้บริโภค โดยมีโอกาสที่จะช่วยลดความกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลต่อตลาดโปรตีนจากพืชได้ อย่างไรก็ตาม การขยายขอบเขตของการผลิตนั้นต้องการเงินลงทุนที่สูงมาก และต้องเผชิญกับความท้าทายในการจัดหาเงินทุนและกระบวนการอนุมัติทางกฎหมาย เนื่องจากการขอขึ้นทะเบียนอาหารใหม่ในแคนาดานั้นใช้เวลามากกว่าสหรัฐอเมริกา

แคนาดาเร่งพัฒนาโปรตีนจากพืช เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคช่วงเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูง (สคต.โทรอนโต)

แม้จะมีความตื่นตัวและความคาดหวังการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของโควิด กับกลุ่มสินค้าเนื้อโปรตีนทางเลือก แต่การคาดการณ์การเติบโตของอุตสาหกรรมโปรตีนจากพืชนั้น ก็ได้มีการปรับลดระดับการเติบโตเหลือร้อยละ 6 ถึง 8 (จากเดิมเคยคาดการณ์ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 24.9 ระหว่างปี 2566-2573) แต่ก็ยังถือว่ามีนัยสำคัญอยู่ การปรับตัวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในการจัดหาเงินทุนให้กับโรงงานผลิตขนาดใหญ่ ดังนั้นการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนและการปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแลถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องในภาคส่วนนี้

ความเห็นของ สคต.

            เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้าประเภทต่างๆ ค่าครองชีพปรับเพิ่มขึ้น โดยภาคส่วนของสินค้าเนื้อสัตว์เองก็ได้มีการขยับราคาสูงขึ้น โดยในปี 2566 ราคาเนื้อสัตว์ในแคนาดาปรับเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 5-7 (ในขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2566 อยู่ที่ระดับร้อยละ 3.9) ทำให้ภาคเอกชนได้เร่งการพัฒนาสินค้าโปรตีนทางเลือกที่ผลิตมาจากพืชมากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีตัวเลือกใหม่ๆ ในการบริโภค ที่ไม่เพียงเน้นเรื่องการพัฒนารสชาติ เนื้อสัมผัส แต่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องการลดต้นทุนการผลิตสินค้าให้มีราคาต่ำกว่าเนื้อสัตว์จริง ที่จะทำให้สามารถเปิดตลาดที่ไม่จำกัดเพียงเฉพาะกลุ่มมังสวิรัติเท่านั้น แต่จะสามารถขยายเปิดกลุ่มตลาดหลัก (Mainstream Market) ให้หันสนใจบริโภคเนื้อสัตว์จากโปรตีนพืชมากขึ้น

ทุกวันนี้ สารโปรตีนจากพืชมีการพัฒนาให้สารอาหารครบถ้วนหรือสามารถเทียบเท่าสารอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ แต่ยังคงมีความท้าทายให้ต้องปรับปรุงพัฒนาเรื่องเนื้อสัมผัสให้ดีมากยิ่งขึ้น ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะลงทุนในภาคส่วนนี้มากขึ้น เพราะการแข่งขันในสินค้ากลุ่มนี้ในปัจจุบันยังนับว่าเป็นช่วงการเริ่มต้น (Early Stage in Global Race) ที่ทั่วโลกจะมีการพัฒนาอย่างจริงจัง ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีภูมิอากาศที่เหมาะสม สามารถเพาะปลูกพืชการเกษตรได้หลากหลายชนิด สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเนื้อโปรตีนจากพืช ดังนั้น การศึกษาและการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมนี้ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอีกทั้งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรจากประเทศไทยด้วย

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)

——————————————————————-

 

thThai