ทุเรียนถือว่าเป็นผลไม้ที่มีราคาสูงในตลาดจีนและเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง จากการสำรวจราคาทุเรียนพบว่ามีการปรับตัวลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทองไทยเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดในช่วงกลางเดือนเมษายนเป็นต้นมา รวมถึงสายพันธุ์อื่น ๆ เช่น ก้านยาว มูซานคิง และชะนี ทั้งนี้ ราคาทุเรียนที่ปรับตัวลดลงตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ส่งผลให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของห้างและร้านค้า กระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาซื้อทุเรียนมากขึ้น
ในช่วงวันหยุดแรงงาน (1 – 5 พฤษภาคม 2567) พบว่าราคาทุเรียนในตลาดจีนได้มีการปรับลดลง สาเหตุจากหลายปัจจัย อาทิ อุปทานที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ในทุกปีช่วงเดือนมีนาคม – ตุลาคมเป็นช่วงที่ตลาดทุเรียนเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ที่เป็นช่วงเวลาที่ผลผลิตส่งออกเข้าสู่ตลาดจีนจำนวนมาก โดยตั้งแต่เดือนเมษายนปีนี้ทุเรียนสดจำนวนมากเริ่มเข้าสู่ท้องตลาด ทำให้ปริมาณการจำหน่ายและราคาได้รับผลกระทบตามกลไกทางเศรษฐกิจ ประกอบกับห้างร้านต่าง ๆ ได้จัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดความต้องการซื้อ ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายมากขึ้น
ภาพกิจกรรมส่งเสริมการขายทุเรียนไทยของห้าง AEON ในเดือนพฤษภาคม 2567
แม้ว่าจากการสำรวจพบว่าส่งผลต่อผู้บริโภคบางรายที่เกิดความกังวลต่อคุณภาพทุเรียนเมื่อราคาปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี ผู้จำหน่ายต่างแสดงความเห็นว่าราคาเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจซื้อ แต่หากเกษตรกรและพ่อค้าสามารถรับประกันคุณภาพและรสชาติของทุเรียนได้ ราคาจะไม่เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการซื้อของผู้บริโภค
ราคาประมาณการจากการสำรวจตลาดการจำหน่ายทุเรียนในเมืองต่าง ๆ ของจีน
สถานที่จำหน่าย | วันที่ | ราคาต่อกิโลกรัม |
ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตร ณ เมืองหางโจว | เมษายน | ราคาปลีก 70 หยวน (350 บาท) |
พฤษภาคม | ราคาปลีก 60 หยวน (300 บาท) | |
ราคาส่ง 60 หยวน (300 บาท)
ราคาส่งยกกล่อง 52 หยวน (260 บาท) |
||
ร้านขายผลไม้แฟรนไชส์ ณ เมืองหางโจว | เมษายน | หมอนทองไทย
ราคาปลีก 120 หยวน (600 บาท) ชะนีไทย ราคาปลีก 100 หยวน (500 บาท) |
พฤษภาคม | หมอนทองไทย
ราคาปลีก 70 หยวน (350 บาท) ถึง ราคาปลีก 90 หยวน (450 บาท) ชะนีไทย ราคาปลีก 77.8 หยวน (389 บาท) |
|
ซุปเปอร์มาเก็ต ณ กรุงปักกิ่ง | มีนาคม | หมอนทองไทย
ราคาปลีก 120 หยวน (600 บาท) |
พฤษภาคม | ก้านยาวไทย
ราคาปลีก 60 หยวน (300 บาท) หมอนทองไทย ราคาปลีก 69.8 หยวน (299 บาท) |
|
ร้านแผงลอย ณ ตลาดกวางสี | พฤษภาคม | ราคาปลีก 100 หยวน (500 บาท) |
แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ | พฤษภาคม | ทุเรียนหมอนทองแช่แข็ง ขนาด 300 กรัม ราคาเฉลี่ย 33-50 หยวน (165-250 บาท) |
สถานการณ์ทุเรียนในจีน
ประเทศจีนเป็นตลาดบริโภคทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และทุเรียนได้กลายเป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีปริมาณการนำเข้าสูงสุดของจีนตลอดหลายปีที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าประกอบกับค่าขนส่ง ทำให้ระดับราคาขายทุเรียนในจีนมีราคาสูงมาเป็นเวลานานแล้ว ราคาขึ้นลงของทุเรียนจึงส่งผลกระทบต่อความต้องการผู้บริโภคในวงกว้างโดยตรง จากสถิติในปี 2566 จีนนำเข้าทุเรียนสูงเป็นอันดับหนึ่งของมูลค่าการนำเข้าผลไม้ของจีน โดยมีมูลค่าถึง 6,699 ล้านเหรียญสหรัฐ (เติบโตร้อยละ 66.16 จากปีก่อน) มีปริมาณการนำเข้าถึง 1.42 ล้านตัน (เติบโตร้อยละ 72.78 จากปีก่อน) โดยทั้งปริมาณและมูลค่าเติบโตเกือบ 3 เท่า เมื่อเทียบจากปี 2563 โดยปริมาณนำเข้าจากคู่ค้าหลัก ได้แก่ ไทย ร้อยละ 65.19 และ เวียดนาม ร้อยละ 34.55 โดยผลิตของไทยจะออกสู่ตลาดช้ากว่าเวียดนาม ส่งผลให้ตัวเลขการนำเข้าทุเรียนจากประเทศเวียดนามสูงกว่าไทยเพียงบางช่วงเท่านั้น แต่โดยภาพรวมทั้งปี 2566 ไทยยังคงเป็นแชมป์การส่งออกทุเรียนในตลาดจีน
ต้นทุนการขนส่งที่สูงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาผลไม้นำเข้า หลายปีมานี้สืบเนื่องจากอุปสงค์ทุเรียนสดโดยรวมในจีนขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยต้นทุนอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ แรงงานคนในการขนส่งและราคาน้ำมัน ที่ดันราคาทุเรียนนำเข้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากเปรียบเทียบต้นทุนการขนส่งในแต่ละรูปแบบจะพบว่า ปัจจุบันการขนส่งทางบกและทางทะเลเป็นรูปแบบการขนส่งหลัก มีต้นทุนโดยรวมค่อนข้างต่ำ แต่ระยะเวลาในการเก็บรักษาทุเรียนค่อนข้างสั้น อย่างไรก็ดี จากการสอบถามจากผู้นำเข้าพบว่ามีการขนส่งทุเรียนจากไทยผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน (รถบรรทุก-รถไฟ-รถบรรทุก) สู่จีนตอนเหนือ สามารถย่นระยะเวลาการขนส่งลงได้อีก 2 วัน (อยู่ระหว่างไม่เกิน 5-7 วัน) ซึ่งเป็นการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ และสามารถช่วยเก็บรักษาคุณภาพความสดใหม่ของทุเรียนได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี หากมีการผลักดันให้มีสายเรือที่สามารถขนส่งทุเรียนจากไทย ตรงเข้าสู่ท่าเรือจีนตอนเหนือเช่นท่าเรือชิงต่าว (โดยไม่ผ่านเมืองอื่น) จะเป็นอีกช่องทางการขนส่งที่มีศักยภาพซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการขนส่งผลไม้ไทย
ปัจจุบันทุเรียนในตลาดจีนพึ่งพาการนำเข้า แต่ด้วยความต้องการของตลาดจีนเป็นปริมาณมาก จีนได้เลือกมณฑลไห่หนาน มณฑลกวางตุ้ง มณฑลยูนนาน และไต้หวัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอากาศอบอุ่น เป็นแหล่งทดลองปลูกทุเรียน โดยนำทุเรียนพันธุ์ดีมาจากมาเลเซียมาเพาะพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเมื่อปี 2561 มณฑลไห่หนานก็เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการปลูกถ่ายกิ่งต้นกล้าทุเรียน จนกระทั่งปี 2566 ทุเรียนเมืองซานย่าก็เข้าสู่ตลาดเป็นที่จับตามองของตลาด การเพาะปลูกทุเรียนในมณฑลไห่หนานมีพื้นที่กว่า 30,000 หมู่ (12,500 ไร่) มีพื้นที่ติดผลทุเรียนในไห่หนานประมาณ 1,400 หมู่ (583.33 ไร่) มีปริมาณผลผลิต 50 ตัน ในปีนี้คาดว่าจะมีพื้นที่ติดผลทุเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 4,000 หมู่ (1,666.67 ไร่) ปริมาณผลผลิต 250 ตัน โดยปัจจุบันทุเรียนจีนที่เข้าสู่ตลาดมาจากเขตนิเวศวิทยาเมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน เท่านั้น ซึ่งมีคุณภาพดี มีความได้เปรียบด้านการขนส่งสะดวก ใกล้แหล่งบริโภค สามารถรับประกันความสดและความสุก รวมถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูงของจีนที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ข้อเสียของมณฑลไห่หนานมีพายุไต้ฝุ่นบ่อยครั้งและฝนตกไม่สม่ำเสมอ ซึ่งจะกระทบต่อผลผลิต
เนื่องจากจีนกำลังอยู่ในช่วงการทดลองปลูกทุเรียน ผนวกกับการแข่งขันจากเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามที่กำลังมาแรง จึงคาดว่าตลาดการส่งออกทุเรียนทั่วโลกจะร้อนแรงยิ่งขึ้น และต้นทุนการส่งออกทุเรียนของเวียดนามมาถึงจีนที่ถูกกว่าไทย จึงจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคา เมื่อเปรียบเทียบไทยกับประเทศผู้ผลิตอื่นๆ อาทิ เวียดนาม ไทยมีความได้เปรียบในด้านอุปทานที่แข็งแกร่ง คุณภาพเป็นที่ยอมรับ และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคจีนอย่างมาก จึงคาดว่าในระยะสั้นนี้ทุเรียนไทยจะยังเป็นผู้นำของตลาดทุเรียนนำเข้าของจีน
ความเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
การจำหน่ายทุเรียนในตลาดจีนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมานี้ โดยที่ผ่านมาพบว่าในปี 2558 มีการจำหน่ายทุเรียนเฉพาะในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการจำหน่ายทุเรียนตามท้องถนน และร้านขายผลไม้ในซอยเล็ก ๆ ตลอดจนแผงลอยตามข้างทางจนทุเรียนเป็นผลไม้ที่ชาวจีนส่วนใหญ่รู้จักเป็นอย่างดี การจำหน่ายทุเรียนในตลาดจีนส่วนใหญ่เป็นทุเรียนสด แต่อย่างไรก็ดี การจำหน่ายผลไม้สดมีปัญหาด้านระยะเวลาการจัดเก็บที่สั้น ยากต่อการขนส่ง และราคาของผลไม้สดจะค่อนข้างมีความผันผวนในตลาด ทำให้ผู้ประกอบการจึงมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้ผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์อื่นของทุเรียนเพื่อเพิ่มยอดขายและกำไรให้มากขึ้น โดยมีการนำไปแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหารต่างๆ อย่างแพร่หลาย เช่น ขนมบัวลอย ขนมเค้ก ขนมปัง ไอศกรีม พิซซ่า และเครื่องดื่ม เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจุบันจีนยังสามารถปลูกทุเรียนได้บ้างแล้ว แต่ยังคงมีปริมาณผลผลิตน้อยมาก จึงยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยจีนมีปริมาณความต้องการบริโภคทุเรียนคิดเป็นร้อยละ 19 ของความต้องการบริโภคทุเรียนทั่วโลก อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายกฎหมายนำเข้าของจีนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่อนุญาตนำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนาม และฟิลิปปินส์ ประกอบกับความพยายามในการปลูกทุเรียนจีน จึงทำให้การแข่งขันของตลาดทุเรียนจีนจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นสำหรับผู้ประกอบการไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยจึงต้องให้ความสำคัญต่อแนวโน้มการแข่งขันในอุตสาหกรรมทุเรียนที่ขณะนี้มีคู่แข่งมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมการพัฒนา การลดต้นทุนผลิต และรักษามาตรฐานคุณภาพทุเรียนไทย การสร้างมูลค่าเพิ่ม การแปรรูปทุเรียนที่สอดคล้องกับความต้องการในตลาดจีน รวมถึงการสร้างแบรนด์ทุเรียนไทยที่มีคุณภาพสูง การประชาสัมพันธ์ความเป็นเอกลักษณ์ของทุเรียนไทย ตลอดจนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การขยายช่องทางในการทำตลาด และพัฒนาช่องทางการขนส่งที่หลากหลาย เป็นต้น เพื่อให้ทุเรียนไทยสามารถอยู่รักษาตลาดจีนให้เป็นที่นิยมได้อย่างยาวนานและยังคงครองแชมป์ผู้นำทุเรียนในตลาดจีน
แหล่งที่มา https://www.chinairn.com/hyzx/20240507/115109642.shtml