จีนต้อนรับฤดูกาลทุเรียน ด้วยเรือขนส่งพิเศษสำหรับการนำเข้าทุเรียน (Durian Express Line) สู่ตลาดจีน ผ่านท่าเรือหนานซาแล้วกว่า 28,000 ตัน

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ท่าเรือหนานซารายงานว่า เรือขนส่งพิเศษสำหรับการนำเข้าทุเรียน (Durian Express Line) ได้ทำการเทียบท่าในช่วงวันหยุดยาววันแรงงานของจีน จำนวน 13 ลำ น้ำหนักประมาณ 28,000 ตัน อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่า ทุกสัปดาห์จะมีเรือขนส่งพิเศษสำหรับการนำเข้าทุเรียน (Durian Express Line) เทียบท่าที่ท่าเรือหนานซามากกว่า 15 ลำ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคสำหรับผลไม้คุณภาพสูงในตลาดจีน

ตามรายงานของศุลกากรกวางโจว ระบุว่า ทุเรียนจากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน ซึ่งผู้นำเข้าผลไม้รายใหญ่ได้เตรียมพร้อมสำหรับฤดูกาลจำหน่ายทุเรียนซึ่งมีผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมากในช่วงดังกล่าว ปัจจุบัน ท่าเรือกวางโจวหนานซากำลังเข้าสู่ฤดูกาลที่มีการนำเข้าทุเรียนสูงสุด ซึ่งมีทุเรียนจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมากนำเข้าประเทศจีนผ่านท่าเรือหนานซากวางโจว

ปัจจุบัน ท่าเรือหนานซากลายเป็นท่าเรือนำเข้าทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน  จากสถิติพบว่า ทุเรียนมากกว่า 8,000 ตู้ เข้าสู่ตลาดภายในประเทศผ่านทางท่าเรือหนานซา โดยเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ในช่วงฤดูกาลที่มีการจำหน่ายทุเรียนสูงที่สุด Mr. Liang Yan ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Guangzhou Nansha International Logistics Co., Ltd. กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อตู้ขนส่งผลไม้มาถึงท่าเรือหนานซา เมืองกวางโจว หลังจากนั้น จะดำเนินการขนถ่ายและปล่อยสินค้าได้แล้วเสร็จภายในสองชั่วโมง และสามารถขยายสู่ตลาดค้าส่งผลไม้เพื่อทำการจำหน่ายได้ภายใน 24 ชั่วโมง

ปัจจุบันท่าเรือหนานซามีเส้นทางระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยมีการพัฒนาประสิทธิภาพคลังสินค้าระหว่างการขนส่งที่เรียกว่า “ระบบห่วงโซ่ความเย็น (Cold chain system)” และการอำนวยความสะดวกในการผ่านพิธีการศุลกากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งดึงดูดความสนใจจากบริษัทโลจิสติกส์อาหารสด ส่งผลให้ท่าเรือหนานซากลายเป็นท่าเรือที่มีการนำเข้าสินค้าสูงอันดับต้นๆ ของจีน โดยตามสถิติ ระบุว่า ท่าเรือหนานซามีเส้นทางการค้าต่างประเทศมากกว่า 130 เส้นทางไปยังประเทศต่างๆ ตาม “เส้นทางสายไหม” โดยร้อยละ 50 เป็นเส้นทางสู่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสินค้าผลไม้ที่มาจากพื้นที่ผลิตผลไม้ที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เช่น ประเทศไทยและกัมพูชา ซึ่งมีทั้งทุเรียน ลำไย กล้วย มะพร้าว และมังคุด เป็นต้น ซึ่งมีการนำเข้ามาอย่างต่อเนื่องผ่านท่าเรือหนานซา ทั้งนี้ เนื่องด้วยในแต่ละปีมีการนำเข้าผลไม้ผ่านด่านศุลกรกรท่าเรือหนานซาเป็นจำนวนมาก ศุลกากรหนานซาจึงได้มีการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการนำเข้าผลไม้หลายด้าน อาทิ การให้คำแนะนำในการสำแดงล่วงหน้า และดำเนินการพิธีการศุลกากรแบบ “ไร้กระดาษ” ช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะมีการตรวจสอบอย่างทันท่วงที ทำให้การกระจายสินค้าสะดวกยิ่งขึ้นหลังจากสินค้ามาถึงท่าเรือ ซึ่งช่วยผู้ประกอบการประหยัดเวลาในการนำของออกและสามารถคงความสดของผลไม้ได้เป็นอย่างดี

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

เนื่องจากทุเรียนมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีรสชาติ กลิ่นหอมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงเป็นผลไม้ที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในหลายประเทศ ปัจจุบันจีนกลายเป็นหนึ่งในตลาดผู้บริโภคทุเรียนที่สำคัญของโลก มีการนำเข้าทุเรียนเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาผลไม้นำเข้าตลอดทั้งปี  เมื่อถึงฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน บริษัทเดินเรือหลายแห่งในจีนได้เพิ่มเส้นทางพิเศษสำหรับการนำเข้าทุเรียน (Durian Express Line) จากไทย ซึ่งใช้ระยะเวลาขนส่งเพียง 4 วัน อีกทั้งการขนส่งทางเรือยังคงเป็นเส้นทางการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งประเภทอื่น การขนส่งทางเรือ จึงถือว่าเป็นช่องทางการขนส่งผลไม้ที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจการขนส่งสินค้าผลไม้มายังประเทศจีน จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการสินค้าผลไม้ทุเรียนสำหรับช่องทางการขนส่งทุเรียนทางเรือมายังตลาดจีนซึ่งมีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตรวจสอบสินค้าก่อนส่งออกอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าด้อยคุณภาพเมื่อส่งออกมาถึงจีน รวมถึงควรกำกับดูแลและตรวจสอบบริษัทโลจิสติกส์สำหรับขั้นตอนการขนส่ง อาทิ การควบคุมอุณภูมิความเย็น การจัดเรียงสินค้า และการลำเลียงสินค้า เพื่อระมัดระวังไม่ให้คุณภาพผลไม้ด้อยสภาพลง

นอกจากสินค้าทุเรียนแล้ว หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการ ควรหาโอกาสในการหารือร่วมกับผู้ประกอบการการขนส่งและท่าเรือของจีนในการเพิ่มช่องทางการขนส่งพิเศษสำหรับผลไม้ชนิดอื่นๆ เพื่อสามารถลดระยะเวลาในการขนส่ง ทำให้สามารถรักษาความสดใหม่ส่งตรงไปถึงมือผู้บริโภค รวมถึงผู้ประกอบการไทยควรศึกษาเส้นทางการขนส่ง เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาปัจจัยด้านระยะเวลาและต้นทุนการขนส่งสินค้า เพื่อให้สินค้าผลไม้ไทยที่ส่งออกไปยังจีนมีคุณภาพ สามารถแข่งขันในตลาดประเทศจีนได้อย่างมีศักยภาพ และสามารถสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพของสินค้าแก่ผู้บริโภคจีน ตลอดจนรักษาฐานลูกค้าผู้บริโภคในตลาดจีนให้นิยม ชื่นชอบทุเรียนและผลไม้ชนิดอื่นๆ ของไทยต่อไป

 

 

ที่มา: http://www.zgsyb.com/news.html?aid=681798

https://www.chinanews.com.cn/cj/2024/05-04/10211141.shtml

ภาพ : http://www.zgsyb.com/news.html?aid=681798

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

thThai