บทความทางการค้า “สถานการณ์พลังงานชีวมวล (Biomass Energy) ในตลาดญี่ปุ่น”

              ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสนใจพลังงานชีวมวล (Biomass Energy) มากขึ้นในฐานะที่เป็นพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงประเภทน้ำมัน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลัก โดยพลังงานทดแทนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามแหล่งของพลังงาน ได้แก่
1. พลังงานทางเลือก (Alternative Energy) คือ พลังงานที่ได้จากแหล่งฟอสซิล (Fossil Fuel) อื่นที่ไม่ใช่น้ำมัน เช่น ถ่านหิน (Coal) ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ หรือยูเรเนียม
ซึ่งเป็นพลังงานชนิดที่ใช้แล้วหมดไป พลังงานประเภทนี้เป็นสาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  และนำไปสู่ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม
2. พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) คือ พลังงานที่ได้จากแหล่งที่สามารถผลิตหรือก่อกำเนิดพลังงานนั้นขึ้นมาเองได้ และยังหมุนเวียนกลับมาใช้ได้อีก ส่วนใหญ่เป็นพลังงานสะอาด (Clean Energy) ซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือก่อให้เกิดมลภาวะ โดยเฉพาะการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน ตัวอย่างเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานคลื่น พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานเคมีจากไฮโดรเจน พลังงานชีวมวล พลังงานชีวภาพ พลังงานไบโอดีเซล และพลังงานเอทานอล เป็นต้น
พลังงานชีวมวล (Biomass Energy) คืออะไร
พลังงานชีวมวลเป็นการผลิตพลังงานด้วยวัสดุชีวมวล และอินทรียวัตถุ ที่ได้จากพืช และสัตว์ เช่น วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ไม้และเศษไม้ หรือของเหลือจากชุมชน และที่ได้จากภาคอุตสาหกรรม เช่น แกลบ ชานอ้อย เศษไม้ กากปาล์ม กากมันสำปะหลัง ซังข้าวโพด กาบและกะลามะพร้าว เป็นต้น กระบวนการแปรรูปชีวมวล ไปเป็นพลังงานทำได้หลายรูปแบบ เช่น การเผาไหม้โดยตรง (Combustion คือการนำชีวมวลไปเผาจะได้ความร้อนออกมาตามค่าความร้อนของชนิดชีวมวล ความร้อนที่ได้จากการเผาสามารถนำไปใช้ในการผลิตไอน้ำหรือผลิตไฟฟ้า) การผลิตก๊าซ (Gasification คือการเปลี่ยนชีวมวลให้เป็นแก๊สเชื้อเพลิงเรียกว่าแก๊สชีวภาพ (Biogas) มีองค์ประกอบของแก๊สมีเทน ไฮโดรเจน และคาร์บอนมอนนอกไซต์) การหมัก (Fermentation คือการนำชีวมวลมาหมักด้วยแบคทีเรียในสภาวะไร้อากาศ เกิดเป็นแก๊สชีวภาพ (Biogas)) และการผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากพืช (ใช้กระบวนการทางชีวภาพ ย่อยสลายแป้ง น้ำตาล และเซลลูโลสจากพืช เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง ให้เป็นเอทานอล เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์เบนซิน และหากนำไปผ่านกระบวนการทางฟิสิกส์และเคมี โดยสกัดน้ำมันออกจากพืชน้ำมัน น้ำมันปาล์ม แล้วนำไปผ่านกระบวนการ Transesterification ก็จะได้ไบโอดีเซล เป็นต้น)
สถานการณ์ตลาดพลังงานชีวมวลของญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นมีแนวโน้มใช้พลังงานชีวมวลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยจากการวิจัยของ Yano Economic Reserch พบว่าในปี 2563 ขนาดของตลาดพลังงานชีวมวลในญี่ปุ่นอยู่ที่ 726,100 ล้านเยน (174,264 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 8.3% จากปีก่อนหน้าและมีแนวโน้มว่าจะอยู่ที่ 1.7252 ล้านล้านเยน (414,048 ล้านบาท) ในปี 2578
บทความทางการค้า "สถานการณ์พลังงานชีวมวล (Biomass Energy) ในตลาดญี่ปุ่น"
ญี่ปุ่นพึ่งพาเชื้อเพลิงชีวมวลนำเข้าอย่างมากเนื่องจากมีทรัพยากรชีวมวลภายในประเทศจำกัด เศษไม้และเศษไม้อัดเม็ดเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลหลักที่นำเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นเพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวล ปริมาณนำเข้าอยู่ที่ 2,028,230 ตันในปี 2563 โดยนำเข้าจากไทย 0.6% ในขณะที่นำเข้าจากเวียดนาม 45%
ปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นมีการใช้พลังงานชีวมวลเพิ่มขึ้น
นโยบายพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ของรัฐบาล : การใช้พลังงานหมุนเวียนในญี่ปุ่นอยู่ที่ 16.1% ในปี 2560 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายในการใช้พลังงานหมุนเวียนไว้ 22-24% ในปี 2573 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน โดยโครงการ Feed-in Tariff (FIT) scheme ของรัฐบาลได้ช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนด้านการผลิตไฟฟ้าชีวมวลของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น
การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล : การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเป็นส่วนสำคัญของตลาดพลังงานชีวภาพในญี่ปุ่น มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล เช่น ขี้เลื่อย เศษไม้ทางการเกษตร และวัสดุเหลือใช้ ทั่วประเทศเพื่อผลิตไฟฟ้า วัตถุดิบหลักในการผลิตไฟฟ้าชีวมวลในปัจจุบันคือเศษไม้และเศษไม้อัดเม็ด โดยรัฐบาลญี่ปุ่นส่งเสริมการจัดตั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้เศษอาหารและขยะจากการเกษตรเป็นวัสดุชีวมวลชนิดใหม่ พร้อมโครงการเงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเข้าร่วมโครงการนี้
 การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ
 ไบโอเอทานอล ญี่ปุ่นได้กำหนดข้อบังคับการผสมเชื้อเพลิงโดยกำหนดให้ไบโอเอทานอลจำนวนหนึ่งผสมกับน้ำมันเบนซินที่จำหน่ายในประเทศ สิ่งนี้สร้างความต้องการไบโอเอทานอลอย่างต่อเนื่องและให้โอกาสทางการตลาดแก่ผู้ผลิตเอทานอล ในญี่ปุ่นมีโรงงานเอธานอล 2 แห่งของ Kawasaki Heavy Industries, Ltd. และ Japan Chemical Engineering & Machinery Co., Ltd. อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นต้องพึ่งพา       เอทานอลนำเข้าอย่างมากเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ
 SAF (Sustainable Aviation Fuel หรือเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน) รัฐบาลญี่ปุ่นส่งเสริมการใช้ SAF และร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรม เช่น สายการบินและซัพพลายเออร์เชื้อเพลิง ความท้าทายคือความพร้อมของวัตถุดิบในการผลิต SAF นักวิจัยบางคนมุ่งเน้นไปที่วัตถุดิบทางเลือก เช่น สาหร่าย น้ำมันที่ใช้แล้ว และขยะมูลฝอย
การฟื้นฟูชนบท : โครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลในญี่ปุ่นมักมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูชนบทด้วยการจัดหาแหล่งรายได้ใหม่ให้กับชุมชนเกษตรกรรมผ่านการเพาะปลูกพืชพลังงานและการขายวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
การวิจัยและพัฒนา : ญี่ปุ่นได้ลงทุนในโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานชีวมวลและปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการแปลงชีวมวล ซึ่งรวมถึงการวิจัยเกี่ยวกับระบบชีวมวลเป็นพลังงาน และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานชีวมวลที่ยั่งยืน
การนำเข้าพลังงานชีวมวลมายังประเทศญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นไม่มีมาตรการเฉพาะสำหรับพลังงานชีวมวลโดยเฉพาะ แต่จะควบคุมการนำเข้าตามลักษณะของวัสดุของพลังงานชีวมวล เช่น
บทความทางการค้า "สถานการณ์พลังงานชีวมวล (Biomass Energy) ในตลาดญี่ปุ่น"
หมายเหตุ
1. สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Food Sanitation Act ได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น (Office of Import Food Safety Food Inspection and Safety Division,Public Health Bureau , Ministry of Health, Labour and Welfare)
https://www.mhlw.go.jp/stf/seisakunitsuite/bunya/kenkou_iryou/shokuhin/yunyu_kanshi/kanshi/index_00004.html
2. สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Plant Quarantine Law ได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น Plant Protection Division, Food Safety and Consumer Affairs Bureau, Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries
https://www.maff.go.jp/pps/j/introduction/english.html
อนาคตของพลังงานชีวมวลและโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย
            ญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายที่ท้าทายในการใช้พลังงานหมุนเวียนไว้ที่ 22-24% ในปี 2573 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งเมื่อปี 2563 ขนาดของตลาดพลังงานชีวมวลในญี่ปุ่นอยู่ที่ 726.1 พันล้านเยน เพิ่มขึ้น 8.3% จากปีก่อนหน้าและมีแนวโน้มว่าจะอยู่ที่ 1,725.2 พันล้านเยน ในปี 2578 ญี่ปุ่นพึ่งพาเชื้อเพลิงชีวมวลนำเข้าอย่างมากเนื่องจากมีทรัพยากรชีวมวลภายในประเทศจำกัด เศษไม้และเศษไม้อัดเม็ดเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลหลักที่ญี่ปุ่นนำเข้ามาเพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวล ปริมาณนำเข้าอยู่ที่ 2,028,230 ตัน ในปี 2563 โดยนำเข้าจากไทย 0.6% ในขณะที่นำเข้าจากเวียดนามมากถึง 45%
ไม่เพียงแต่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นที่ต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น แต่ประเทศในกลุ่ม ASEAN ก็มีความต้องการเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากข้อมูลของ International Energy Agency (IEA) พบว่า เมื่อปี 2553 ความต้องการพลังงานไฟฟ้าของ ASEAN อยู่ที่ 607 TWh-ชม. สำหรับญี่ปุ่นมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 1,017 TWh-ชม. แต่เมื่อปี 2563 ความต้องการของ ASEAN อยู่ที่ 1,037 TWh-ชม. สำหรับญี่ปุ่นมีความต้องการอยู่ที่ 934 TWh-ชม. จะเห็นได้ว่าในระยะเวลา 10 ปีความต้องการพลังงานไฟฟ้าของ ASEAN ขยับขึ้นมาแซงญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อย
             บริษัทญี่ปุ่นมีความร่วมมือด้านพลังงานกับประเทศในกลุ่ม ASEAN อย่างเช่นบริษัท Petronas ของมาเลเซียซึ่งญี่ปุ่นมีความร่วมมือสร้างความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานการผลิตก๊าซไฮโดรเจนและแอมโมเนีย รวมถึงการเก็บรวบรวมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  และบริษัท PT Pupuk Iskandar Muda (PIM บริษัทในเครือ PIHC) ของอินโดนีเซียซึ่งญี่ปุ่นมีความร่วมมือพัฒนาก๊าซไฮโดรเจนให้เป็นแอมโมเนียสะอาด (ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณน้อย)  โดยคาดว่าความร่วมมือดังกล่าวจะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับทั้งญี่ปุ่นและ ASEAN ซึ่งเป็นฐานการประกอบธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่น  ปัจจุบันญี่ปุ่นให้ความสนใจพลังงานจากแอมโมเนียสะอาดเพิ่มขึ้น เพราะแอมโมเนียเป็นสิ่งที่ใช้ในเกษตรกรรมทั่วไปจึงเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่าย  อีกทั้งยังมีข้อดีด้านการขนส่ง เพราะมีจุดเดือดอยู่ที่ -33oC ซึ่งสูงกว่าก๊าซไฮโตรเจนที่มีจุดเดือดอยู่ที่ -253oC จึงขนส่งได้ง่าย  แต่หากนำมาเป็นพลังงานสำหรับผลิตไฟฟ้าก็ยังพบข้อเสียคือเผาไหม้ยากกว่าถ่านหินจึงต้องควบคุมวิธีการเผาไหม้ให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะ
กล่าวได้ว่า ความต้องการพลังงานหมุนเวียนของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายสู่สังคมไร้คาร์บอน (Carbon Zero) ในปี 2573  ดังนั้น ทั้งภาคการผลิตซึ่งต้องการพลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก หรือภาคบริการอย่างการขนส่งหรืออากาศยาน ต่างก็พยายามค้นคว้าและพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่จะนำมาใช้ในธุรกิจของตน ซึ่งประเทศไทยมีวัตถุดิบของพลังงานดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทั้งเศษเหลือใช้จากเกษตรกรรม และขยะจากครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม  ซึ่งหากได้รับการพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลในวิธีการที่ถูกต้อง รวมทั้งควบคุมคุณภาพให้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยอาจหาความร่วมมือกับบริษัทญี่ปุ่น เชื้อเพลิงชีวมวลของไทยก็จะเป็นที่ต้องการของทั้งญี่ปุ่นเองและประเทศอื่นๆ ที่กำลังมองหาพลังงานหมุนเวียนด้วยเช่นกัน
บทความทางการค้าที่น่าสนใจในประเทศญี่ปุ่น เดือนพฤษภาคม 2567
 “สถานการณ์พลังงานชีวมวล (Biomass Energy) ในตลาดญี่ปุ่น”
โดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
1. วารสาร Nikkei Business ฉบับที่ 2237 วันที่ 15 เมษายน 2567
2. วารสาร Nikkei Business ฉบับที่ 2238 วันที่ 22 เมษายน 2567
3. https://www.npobin.net/hakusho/2023/trend_02.html
4. https://www.chemihouse.com/
5. https://www.opsmoac.go.th/kamphaengphet-manual-files-421891791835
6. https://www.thebangkokinsight.com/news/environmental-sustainability/558298/#google_vignette
7. https://khaokorwindpower.com/
thThai