เมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเรือขนส่งรถยนต์ BYD Explorer No. 1 ของบริษัท BYD ได้ทำการขนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) กว่า 3,000 คัน มายังท่าเรือ Bremerhaven ซึ่งเรื่องนี้ได้สร้างความกังวลใจให้หลาย ฝ่าย โดยนาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (EU) ได้กล่าวว่า “รถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกจากจีนกำลังบุกตลาดยุโรป” และนาง Leyen ได้สั่งการให้ตรวจสอบภาษีนำเข้ารถยนต์ในล๊อตนี้จากด้วย อย่างไรก็ดี ในอีก 2 เดือนต่อมา ปรากฏว่า มีการนำเข้ารถ EV จากตะวันออกไกลเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งจากข้อมูลของกรมขนส่งเยอรมนี (KBA – Kraftfahrt Bundesamt) ระบุว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2024 ในเยอรมนีมีการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ของ BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของจีนเพียง 160 คัน เท่านั้น และไม่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (ตามที่เคยกังวล) ในขณะที่ บริษัท BLG ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์และเป็นผู้รับผิดชอบในท่าเรือฯ ออกมายืนยันว่า รถ EV ของ BYD ที่อยู่ในท่าเรือดังกล่าวนั้น ได้ถูกเตรียมจัดส่งไปทั่วยุโรป ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่าปกติ ถึงจะขายได้ ซึ่งเรื่องนี้ ผู้ผลิตรายอื่นก็ประสบปัญหาเช่นกัน โดย BLG ให้ความเห็นว่า “เป็นเพราะความต้องการของตลาดอยู่ในช่วงขาลง”

 

ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นว่า นอกจากความต้องการของตลาดที่ลดลงแล้ว รถ BYD ยังมีปัญหาใหญ่หนึ่งปัญหา ก่อนที่จะสามารถนำมาจำหน่ายในยุโรปได้ นั่นก็คือ การขนส่งรถยนต์ทางทะเลข้ามทวีป ได้ทำให้เกิดเชื้อราในรถ แน่นอนเป็นเรื่องปรกติที่รถยนต์ที่ขนส่งระยะไกลขนาดนี้จะมีราขึ้นบ้าง และไม่ได้ส่งผลกระทบด้านมาตรฐานของรถยนต์ดังกล่าวมากมายนัก จากข้อมูลวงในที่ผ่านมา เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาหนักอกของ BYD ก็ว่าได้ จนต้องระงับการส่งสินค้าไประยะหนึ่ง และกล่าวว่า มีลูกค้าในตลาดเยอรมนีเป็นตัวเลข 3 หลัก ที่ประสบปัญหาดังกล่าว ทำให้พวกเขาต้องรอสินค้านานเป็นพิเศษ โดย BYD ได้ตอบคำถามของหนังสือพิมพ์ Handelsblatt ในประเด็นดังกล่าว ซึ่ง BYD ยืนยันว่า รถยนต์ที่มีการขนส่งในปีที่ผ่านมาประสบปัญหาเชื้อราบ้าง แต่ปัญหาดังกล่าวก็ได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว และรถยนต์ที่จอดอยู่ในท่าเรือ ฯ ในปัจจุบันก็ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ซึ่งเมื่อรถยนต์ประสบปัญหาเชื้อราเดินทางมาถึงก็ถูกทำความสะอาดด้วยโอโซนในทันที ซึ่งหากลูกค้าต้องรอรถยนต์นาน ส่วนหนึ่งก็มีสาเหตุมาจากปัญหาด้านการขนส่ง เช่น เรือเดินสมุทรที่ต้องเปลี่ยนเส้นทางเนื่องจากความตึงเครียดในทะเลแดง เป็นต้น

 

เมื่อ BYD ต้องการที่สยายปีกไปทั่วโลก แม้ว่าความต้องการสินค้าจะลดลง BYD ก็อาจจะต้องเจ็บตัวในการขยายธุรกิจในยุโรป โดยเฉพาะในเยอรมนี เพราะปัญหาด้านการจำหน่ายสินค้าในปัจจุบัน BYD จึงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้สูงมากในทวีปยุโรปได้ ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (European Football Championship) บริษัท BYD ต้องการที่จะนำเสนอตัวเองในฐานะผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 1 ของจีนในภูมิภาคยุโรป และนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีที่สุดของบริษัทฯ ให้เห็น แต่จนแล้วจนรอดบริษัท BYD ก็ยังไม่สามารถก้าวเข้ามาเป็นผู้จำหน่ายรถ EV อันดับต้น ๆ ในยุโรปได้ เมื่อปีที่ผ่านมา BYD ซึ่งมีฐานการผลิตหลักตั้งอยู่ในเมืองเชินเจิ้นได้กลายมาเป็นหัวข้อข่าวระดับนานาชาติเมื่อ BYD ก้าวเข้ามาแทนที่บริษัท VW ในฐานะผู้นำตลาดในจีนที่แบรนด์หลักแทน และในไตรมาสที่ผ่านมาก็ยังครองตำแหน่งผู้ผลิตรถ EV รายใหญ่ที่สุดของโลกแทนบริษัท Tesla อีกด้วย เหนือสิ่งอื่นใดสูตรความสำเร็จของ BYD ก็คือ การบูรณาการ Real Net Output Ratio ของบริษัท (ในภาษาเยอรมันก็คือ Fertigungstiefe หมายถึง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อต้นทุนของบริษัทสะท้อนถึงสัดส่วนการผลิตภายในในกระบวนการผลิตสินค้า) นอกจาก BYD จะผลิตยานพาหนะแล้ว บริษัทฯ ก็ผลิตแบตเตอรี่เองอีกด้วย ซึ่งแบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบที่แพงที่สุดของรถ EV แม้ว่าล่าสุด BYD จะกลับมาอยู่อันดับ 2 ในการจัดอันดับตำแหน่งผู้ผลิตรถ EV โลกแล้วก็ตาม ด้านนาย Gregor Sebastian นักวิเคราะห์จาก Rhodium Group องค์กรคลังสมอง (Thinktank) อิสระที่มุ่งเน้นการประกอบธุรกิจในประเทศจีนกล่าวว่า “จนถึงขณะนี้ BYD เป็นผู้ผลิตรถ EV เอกชนเพียงรายเดียวของจีนที่มีบทบาทในการแข่งขันระยะยาวในระดับโลกได้” อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ BYD กลับแตกต่างกับจำนวนการจดทะเบียนรถ EV ใหม่ในเยอรมนี ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่สำคัญที่สุดในสหภาพยุโรป จากข้อมูลของ KBA ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2024 BYD มีสถิติการจดทะเบียนต่ำกว่า 200 คันต่อเดือน อย่างต่อเนื่องซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 9 เดือนเลยทีเดียว แม้แต่ในตลาดเล็ก อย่างประเทศออสเตรีย หรือประเทศเบลเยียม BYD ก็ยังสามารถจำหน่ายรถ EV ได้เพิ่มมากขึ้น

 

แผนการบุกตลาดยุโรปของ BYD กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก ล่าสุด BYD สามารถจำหน่ายรถยนต์ของตนนอกจีนได้เพียง 8% เท่านั้น ปัจจุบันบริษัทฯ มีแรงกดดันมหาศาลในการหาทางเพิ่มยอดจำหน่ายนอกจีน ตามที่นาย Wang Chuanfu ผู้ก่อตั้ง BYD กล่าวกับนักลงทุนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในปี 2024 บริษัทฯ ประสงค์ที่จะเพิ่มยอดจำหน่ายในต่างประเทศขึ้นเป็น 2 เท่าตัว โดยต้องการที่จะจำหน่ายรถ EV รวมกันเป็นเป็น 500,000 คัน ในปี 2024 และเป้าหมายในปี 2025 คือ 1 ล้านคัน อย่างไรก็ตามความต้องการรถ EV ในเยอรมนีและยุโรปที่ลดลงอาจทำให้กลุ่มบริษัทพลาดเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างทะเยอทะยานนี้ได้ นาย Benjamin Kibies นักวิเคราะห์ด้านยานยนต์ของบริษัท Dataforce บริษัทผู้ให้บริการข้อมูลอุตสาหกรรมกล่าวว่า “BYD ยังยืนอยู่ในจุดเริ่มต้นของการบุกตลาดยุโรป” โดยเขาคาดการณ์ว่า ความต้องการรถ EV ในเยอรมนีที่ลดลงในปัจจุบันนั้นจะส่งผลกระทบกับแผนการขยายธุรกิจของ BYD ล่าช้าขึ้นไปอีก จากข้อมูลของ Dataforce ในปี 2023 บริษัท BYD จดทะเบียนรถยนต์ 15,600 คัน ในยุโรป โดยในจำนวนดังกล่าว 4,000 คัน เป็นการจดทะเบียนในเยอรมนี หากตัวเลขดังกล่าวยังคงต่ำหรือต่ำกว่านี้ต่อไปมีแนวโน้มที่ยอดจำหน่ายของ BYD ในเยอรมนี ในปี 2024 อาจต่ำกว่าปีก่อนหน้าก็ได้ เนื่องจากตัวเลขการจดทะเบียนยังอยู่ในระดับปานกลาง ทำให้ BYD ต้องทยอยกำลังปรับโครงสร้างธุรกิจในยุโรปใหม่ ในระหว่างงาน Beijing International Automotive Exhibition บริษัทฯ ได้ออกมาประกาศมอบหมายให้นาง Stella Li ก้าวเข้ามาเป็นผู้บริหารระดับสูงของ BYD และบริษัทฯ ให้นาง Li เป็นคนรับผิดชอบตลาดใหม่ที่ โดยปัจจุบันนาง Li ในวัย 53 ปี น่าจะเพิ่มบทบาทที่สำคัญให้กับนาย Michael Shu ผู้บริหารภูมิภาคยุโรปคนปัจจุบันเพิ่มขึ้น แม้ว่าบริษัทฯ ไม่ได้ออกประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่ BYD ก็ได้ยืนยันรายละเอียดด้านการปรับเปลี่ยนบุคลากรกับหนังสือพิมพ์ Handelsblatt หลังจากที่ได้มีการสอบถามไป ปัจจุบันเรียกได้ว่า นาง Li เป็นเบอร์ 2 ของบริษัทตามหลังนาย Wang Chuanfu ประธาน และผู้ก่อตั้งบริษัทเท่านั้น หน้าที่ของนาง Li ก็เหมือนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของบริษัทฯ เมื่อ BYD ยังคงเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่เป็นหลักนาง Li ในเวลานั้นก็เป็นกำลังหลักในการผลักดันการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศอยู่แล้ว ปัจจุบันนาง Li เป็นผู้บริหารหลักด้านธุรกิจยานยนต์ในภูมิภาคอเมริกา ซึ่งสำหรับ BYD แล้วอเมริกาเป็นภูมิภาคที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง วงในกล่าวกันว่า นาง Li น่าจะเข้ามาจัดระเบียบ “ทำความสะอาดบ้าน” ในยุโรปกันขนานใหญ่ ภายในยังมีการพูดถึงการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่อีกด้วย โดยในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานาง Li ได้ปรากฏตัวให้ตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่ได้พบเห็น และเข้ามาแนะนำตัวเองในฐานะ “คู่ซ้อมมวย”และ “หัวสะพาน” สำหรับเชื่อมต่อธุรกิจต่าง ๆ ของ BYD โดยหนึ่งในตัวแทนจำหน่ายที่อยู่ในที่ประชุมกล่าวว่า นอกจากนี้ประเด็นสำคัญ ๆ ของบริษัทยังสามารถ “ดำเนินการผ่านองค์กรได้เร็วขึ้นอย่างแน่นอน” ในขณะเดียวกันแรงกดดันต่อตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากจำนวนตัวเลขการจดทะเบียนรถใหม่ที่เรียกได้ว่าแย่มากนั้นเอง

 

นอกเหนือจากปัญหาการสิ้นสุดลงของนโยบายสนับสนุนการซื้อรถ EV ของรัฐบาล และความล่าช้าในการส่งมอบแล้ว ตัวแทนจำหน่ายมองว่า ราคาก็เป็นอีกอุปสรรคสำคัญต่อการขยายธุรกิจของ BYD ตัวแทนจำหน่ายคนหนึ่งกล่าวว่า “ราคาที่เรากำลังขายรถในตอนนี้แทบจะไม่มีส่วนลดอะไรเลย ซึ่งขาดแรงจูงใจ และพื้นที่ให้เราเคลื่อนไหว” นอกจากนี้ BYD ยังมีรถค้างโกด้งที่ยังไม่ได้ขายจำนวนมาก ที่มีอายุมากกว่าหนึ่งปี ทำให้ไม่สามารถนำรถเหล่านี้มาให้เช่าในฐานะรถใหม่ (Lease Car) ได้อีกต่อไป พวกเขากล่าวว่า “นี่เป็นประเด็นใหญ่ที่สำคัญมาก” โดยบริษัท BYD ได้ออกมาอธิบายถึงประเด็นดังกล่าวว่า “เราไม่มีปัญหากับรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 12 เดือน” ในระหว่างที่บริษัท Hedin Electric Mobility GmbH ผู้นำเข้าหลักของ BYD กลับนิ่งเงียบและไม่กล่าวอะไรในประเด็นดังกล่าว โดยนาง Li ต้องการที่จะผลักดันให้ BYD บรรลุเป้าหมายถัดไปในยุโรปหลังจากที่บริษัทได้ประกาศอย่างชัดเจนในงาน Beijing Auto Show เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ BYD เตรียมรถรุ่นใหม่ซึ่งรวมถึง Plug-in SUV ก็ได้รับการวางแผนสำหรับส่งเข้าตลาดยุโรปในปีนี้เช่นกันนั้นหมายความว่า BYD จะมีรถยนต์ 6 รุ่นในตลาดยุโรป และตามที่สื่อของอังกฤษและสเปนออกมารายงานพร้อมกัน รถราคาประหยัดรุ่นเริ่มต้นสำหรับยุโรปของ BYD อาจตามมาในปี 2025 อีกด้วย โดยนาง Li เชื่อมั่นว่า ยอดจำหน่ายจะสอดคล้องกับกำลังการผลิตเมื่อ BYD เริ่มการผลิตรถในยุโรปในปี 2025 บริษัท BYD จะสร้างโรงงานแห่งแรกในสหภาพยุโรปในประเทศฮังการี และเมื่อยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นก็เป็นไปได้ที่จะมีการสร้างโรงงานแห่งที่สองในยุโรปตาม

 

จาก Handelsblatt 20 พฤษภาคม 2567

thThai