สำนักงานศุลกากรชิงต่าวเปิดเผยข้อมูลสถิติมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 มณฑลซานตงมีมูลค่าการค้ารวม 1.05 ล้านล้านหยวน (5.25 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +5.9 แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 638,750 ล้านหยวน (3.19 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +10.7 และการนำเข้ามูลค่า 407,720 ล้านหยวน (2.03 ล้านล้านบาท) ลดลงร้อยละ -0.8 โดยเฉพาะในเดือนเมษายน 2567 มณฑลซานตงมีมูลค่าการค้ารวม 275,540 ล้านหยวน (1.37 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +6.7 แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 168,160 ล้านหยวน (840,800 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +9.9 และการนำเข้ามูลค่า 107,380 ล้านหยวน (536,900 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +1.9
การค้าระหว่างประเทศรายเมือง (ม.ค.-เม.ย. 2567) มณฑลซานตงมีทิศทางการค้าที่สดใส โดยพบว่าในช่วง 4 เดือนแรกนี้ มี 12 เมือง (จากทั้งหมด 16 เมือง) ในมณฑลซานตงที่มีการค้าระหว่างประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในที่นี้มี 5 เมืองที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราเลข 2 หลัก โดยเมืองจี่หนิงขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +47.6 เมืองไท่อันขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +38.5 เมืองปินโจวขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +27.4 เมืองหลินอี๋ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +25.6 และเมืองเต๋อโจวขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +13.5 โดยเมืองชิงต่าวมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศรวม เป็นอันดับ 1 มูลค่า 280,340 ล้านหยวน (1.4017 ล้านล้านหยวน) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +3.2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.8 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของมณฑลซานตง ซึ่งยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำอย่างเหนียวแน่น
การค้าระหว่างประเทศตามประเภทการถือหุ้นของกิจการ (ม.ค.-เม.ย. 2567) แบ่งเป็น การค้าระหว่างประเทศของบริษัทเอกชนจีนมีมูลค่า 790,670 ล้านหยวน (3.95 ล้านล้านหยวน) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +9.5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.6 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศรวมของมณฑลซานตง (สัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) บริษัทต่างชาติ มีมูลค่า 165,730 ล้านหยวน (828,650 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ -11.9 และรัฐวิสาหกิจมีมูลค่า 89,700 ล้านหยวน (448,500 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +15.4
การค้าระหว่างประเทศรายตลาดสำคัญ (ม.ค.-เม.ย. 2567) อาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา คือ ตลาดคู่ค้าที่สำคัญของมณฑลซานตง โดยการค้ากับอาเซียนเป็นมูลค่า 217,730 ล้านหยวน (1.088 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +18.9 สหภาพยุโรปมูลค่า 96,330 ล้านหยวน (481,650 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +4.5 สหรัฐอเมริกามูลค่า 93,440 ล้านหยวน (467,200 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ -1.6 เกาหลีใต้มูลค่า 87,310 ล้านหยวน (436,550 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +7.1 รัสเซียมูลค่า 79,350 ล้านหยวน (396,750 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ -18.1 ญี่ปุ่นมูลค่า 53,670 ล้านหยวน (268,350 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ -15.4 และบราซิลมูลค่า 52,610 ล้านหยวน (263,050 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +51.5 ซึ่งมูลค่าการค้ากับประเทศที่กล่าวมาข้างต้นคิดเป็นร้อยละ 65 นอกจากนี้ การค้ากับประเทศแถบเส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) มูลค่า 601,740 ล้านหยวน (3.0 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +7.2 คิดเป็นร้อยละ 57.5 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศรวมของมณฑลซานตง (ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7)
สินค้าส่งออกสำคัญ (ม.ค.-เม.ย. 2567) มณฑลซานตงมีการส่งออกเครื่องจักรไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบ มูลค่า 293,020 ล้านหยวน (1.465 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +8.0 (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.9) ในที่นี้เป็นการส่งออกอะไหล่รถยนต์มูลค่า 44,550 ล้านหยวน (222,750 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +5.8 ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์มูลค่า 18,650 ล้านหยวน (93,250 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +31.6 เครื่องใช้ในบ้านมูลค่า 17,840 ล้านหยวน (89,200 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +38.1 เครื่องจักรและอุปกรณ์ทั่วไปมูลค่า 17,790 ล้านหยวน (88,950 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +95.7 รถยนต์มูลค่า 15,720 ล้านหยวน (78,600 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แรงงานเข้มข้นมีมูลค่าการส่งออก 116,880 ล้านหยวน (584,400 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +18.2 และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมูลค่า 50,510 ล้านหยวน (252,550 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +12.3
สินค้านำเข้าสำคัญ (ม.ค.-เม.ย. 2567) มณฑลซานตงมีการนำเข้าน้ำมันดิบ 26.964 ล้านตัน ลดลงร้อยละ -13.7 คิดเป็นมูลค่า 112,200 ล้านหยวน (561,000 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ -4.9 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.5 ของมูลค่าการนำเข้า สินแร่ 36.08 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ +6.0 หรือคิดเป็นมูลค่า 31,910 ล้านหยวน (159,550 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ +17.1 ผลิตภัณฑ์เครื่องกลไฟฟ้ามูลค่า 63,290 ล้านหยวน (316,450 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ -12.0 และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมูลค่า 50,800 ล้านหยวน (254,000 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ -1.5
นโยบายการบุกตลาดโลกของมณฑลซานตง
การค้าระหว่างประเทศของมณฑลซานตงในช่วง 4 เดือนแรกมีแนวโน้มขยายตัวสูง ซึ่งเบื้องหลังความสําเร็จนี้เป็นผลจากนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพการค้าต่างประเทศ ความพยายามในการเปิดตลาดต่างประเทศ และการส่งเสริมการค้าต่างประเทศในมณฑลซานตงที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ อีกทั้งยังมีข้อได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมที่สะดวก และมีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์
(1) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มณฑลซานตงยังได้ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการเกิดใหม่อย่างแข็งขัน โดยเร่งบ่มเพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ 2.อุปกรณ์ระดับไฮเอนด์ 3.พลังงานใหม่และวัสดุใหม่ 4.Modern Oceans 5.สุขภาพและการแพทย์ 6.เคมีภัณฑ์ระดับไฮเอนด์ 7.การเกษตรประสิทธิภาพสูงสมัยใหม่ 8.ความคิดสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม 9.การท่องเที่ยวคุณภาพ 10. การเงินสมัยใหม่ ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของการค้าต่างประเทศของมณฑลซานตงอีกด้วย โดยเฉพาะการขยายการส่งออก 3 สินค้าใหม่ (รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียม และโซล่าเซลล์) และสินค้าขั้นกลาง (Intermediate Goods) ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงและการยกระดับผลิตภัณฑ์แบบดั้งเดิม เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารและสินค้าเกษตร เสื้อผ้าสิ่งทอ ของใช้ในครัวเรือน เป็นต้น รวมถึงขยายส่วนแบ่งทางการตลาด
(2) มุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมของแต่ละเมืองในมณฑลซานตง
1. ตงหยิง ได้แก่ พลังงานใหม่ การเกษตรประสิทธิภาพสูงสมัยใหม่ การบินและอวกาศ การท่องที่ยวเชิงวัฒนธรรม
2. ปินโจว ได้แก่ อะลูมิเนียมคุณภาพสูง เคมี แปรรูปอาหาร สิ่งทออัจฉริยะ
3. จือป๋อ ได้แก่ อุปกรณ์อัจริยะ วัสดุใหม่ เภสัชภัณฑ์ ข้อมูลและการสื่อสาร
4. เต๋อโจว ได้แก่ อุปกรณ์เทคโนโลยี ยาชีวภาพ วัสดุใหม่ แปรรูปอาหาร
5. เหลียวเฉิง ได้แก่ โลหะเหล็ก (ferrous & non-ferrous metal) เครื่องจักรกลทางการเกษตรและอุปกรณ์ การแปรรูปสินค้าเกษตร
6. จี่หนาน ได้แก่ Big Data และเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ยาชีวภาพ
7. ไท่อาน ได้แก่ พลังงานใหม่ ยาและเครื่องมือแพทย์ การพิมพ์/สิ่งพิมพ์ เศรษฐกิจดิจิทัล
8. จี่หนิง ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร เสื้อผ้าสิ่งทอ
9. เหอเจ๋อ ได้แก่ ยาชีวภาพ เคมีภัณฑ์คุณภาพสูง โลจิสติกส์ การแปรรูปสินค้าเกษตร
10. เวยไห่ ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ยาและเครื่องมือแพทย์
11. เยียนไถ่ ได้แก่ การบินและอวกาศ ยาชีวภาพ โลหะเหล็กและ non-ferrous metal
12. ชิงต่าว ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ พลังงานใหม่ วัสดุใหม่ สุขภาพทางการแพทย์ อุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีสูง การเงินสมัยใหม่ โลจิสติกส์สมัยใหม่
13. เหวยฟาง ได้แก่ Modern Oceans เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ อุปกรณ์ระดับไฮเอนด์ วัสดุใหม่ พลังงานใหม่
14. รื้อจ้าว ได้แก่ การผลิตขั้นสูง เคมี ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
15. หลินอี๋ ได้แก่ การผลิตอุปกรณ์ขั้นสูง การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การเงินสมัยใหม่ ข้อมูลและการสื่อสาร
16. จ่าวจวง ได้แก่ อุปกรณ์คุณภาพสูง เคมีภัณฑ์ระดับไฮเอนด์ วัสดุใหม่ การเกษตรที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูง
(3) มณฑลซานตงพยายามผลักดันนโยบาย “ของดีซานตง ทำการค้ากับทั่วโลก” สำหรับปี 2567 โดยรักษาเสถียรภาพของตลาดดั้งเดิม (ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) โดยการเพิ่มจำนวนการจัดนิทรรศการในตลาดยุโรปและอเมริกา และใช้จุดแข็งจากทำเลที่ตั้งเพื่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าส่งออกไปยังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมถึงการตอบสนองความต้องการของตลาดเกิดใหม่ อาทิ อาเซียน เอเชียกลาง รัสเซีย เอเชียตะวันออก แอฟริกาและละตินอเมริกา เป็นต้น โดยการจัดนิทรรศการงานแสดงสินค้าส่งออก ทั้งในรูปแบบการเป็นเจ้าภาพ หรือการร่วมจัดงานแสดงสินค้าในตลาดเป้าหมาย อาทิ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ รัสเซีย ฮังการี และแทนซาเนีย ฯลฯ โดยในปี 2567 ได้วางแผนนิทรรศการทั้งสิ้น 263 โครงการ โดยเป็นเจ้าภาพ 5 โครงการ แบ่งเป็นกลุ่มสินค้า เครื่องจักรและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน ฮาร์แวร์และวัสดุก่อสร้าง อาหารและสินค้าเกษตร เสื้อผ้าสิ่งทอ อุตสาหกรรมยาและเคมี พลังงานสีเขียว กีฬาและสันทนาการ และธุรกิจบริการ เป็นต้น
ความเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
มณฑลซานตงมีเศรษฐกิจเติบโตเป็นอันดับสามของจีน และจากสถิติพบแนวโน้มการเติบโตทางการค้าระหว่างประเทศ มีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีรากฐานอุตสาหกรรมที่มั่นคง มีศักยภาพด้านการบริโภค มีประชากรจำนวนมาก และปัจจุบันรัฐบาลจีนยังส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงความร่วมมือ RCEP กับประเทศสมาชิกอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ มณฑลซานตงยังเป็นแหล่งนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราที่สำคัญ และเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในสินค้าดังกล่าว ทั้งมีการนำเข้าผลไม้สดที่สำคัญอันดับต้นๆ ของไทย โดยโครงสร้างสินค้าที่ไทยส่งออกไปมณฑลซานตงเป็นสินค้าอุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร สัดส่วนร้อยละ 29 (หมายเหตุ: อ้างอิงสถิติปี 2566 โดยไม่รวมกลุ่มสินค้าเชื้อเพลิงและพลังงาน) ซึ่งมีคู่แข่งเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ เช่น มาเลเซีย และเวียดนาม ขณะที่มณฑลซานตงรวมทั้งมณฑลต่าง ๆ ในจีน มีทิศทางการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ซึ่งไทยจำเป็นที่จะต้องเร่งยกระดับการส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น เพื่อสร้างความได้เปรียบในการรักษาและแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในอนาคต
แหล่งที่มา
http://shanghai.customs.gov.cn/qingdao_customs/406496/406497/5869961/index.html
https://news.sohu.com/a/759032442_121308937
https://www.163.com/dy/article/IVIK6194051481OF.html