จับกระแสผู้ประกอบการตุรกี ความคาดหวังและความกังวลในช่วงครึ่งปีหลัง

ผู้ส่งออกตุรกีตั้งความหวังว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2024 นี้ การส่งออกของตุรกีจะแข็งแกร่งขึ้น โดยคาดว่าจะมีการส่งออกไปยังตลาดเดิมและตลาดตะวันออกกลางเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจกระทบต่อยอดการขาย ส่วนภาคการผลิตห่วงต้นทุนสูงขึ้นในขณะที่คำสั่งซื้อลดลง

 

จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติตุรกีระบุว่า มูลค่าการส่งออกของตุรกีในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ที่ผ่านมานั้น เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 64 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ในด้านการนำเข้า ตุรกีได้ลดการนำเข้าสินค้ารวมจากต่างประเทศลงเหลือแค่เพียง 84 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงถึงร้อยละ 13 ส่งผลให้การขาดดุลการค้าของตุรกีในไตรมาสแรกลดลงถึงร้อยละ 41 เหลือเพียง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ซึ่งการลดปริมาณการขาดดุลทางการค้าโดยการเพิ่มการส่งออกและลดการนำเข้าสินค้าขากต่างประเทศนั้น เป็นหนึ่งในแผนการสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาลตุรกีในการที่จะพยายามปรับสมดุลทางการค้าและเศรษฐกิจของประเทศ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สูงถูกนำมาใช้เพื่อลดความต้องการของผู้บริโภคสำหรับสินค้าที่จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศและหันมาใช้จ่ายภายในประเทศแทน ซึ่งนโยบายดังกล่าวเริ่มแสดงผลให้เห็นในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้

 

“ผลประกอบการในไตรมาสแรกของปีนี้ชี้ให้เห็นว่า การส่งออกของตุรกีนั้นมีแนวโน้มที่จะแข็งแกร่งขึ้นและจะสูงกว่าสถิติของปีที่แล้วที่มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 256 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ” นาย Mustafa Gultepe ประธานสภาผู้ส่งออกตุรกีกล่าว พร้อมทั้งยังได้กล่าวเสริมด้วยว่า “ผมเชื่อว่าแนวโน้มการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจะยังคงดำเนินต่อไป ควบคู่กับการฟื้นตัวของตลาดในยุโรปและสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้” นอกจากนี้ นาย Gultepe ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าที่เข้มแข็งขึ้นในตะวันออกกลางนั้นจะเป็นตัวช่วยในการรักษาตัวเลขการส่งออกนี้ไว้ โดยที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตและซาอุดิอาราเบียถือเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับตุรกี ซึ่งได้มีการเพิ่มการส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตถึงร้อยละ 63 หรือมากกว่า 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา ถือเป็นปริมาณการค้าที่สูงเป็นประวัติการณ์ของทั้งสองประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม พร้อมๆ กับความหวังว่าจะทำลายสถิติการส่งออกในปีนี้ แต่ประธานสภาผู้ส่งออกก็ได้ส่งเสียงเตือนและแสดงความกังวลต่อปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่อาจกระทบการส่งออกของตุรกีได้ โดยเขากล่าวว่า “ในช่วงสองปีที่ผ่านมาความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีการชะลอตัว รวมไปถึงความขัดแย้งในระดับภูมิภาค และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการผลิตในประเทศเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำลายความสามารถในการแข่งขันของเรา” ทั้งนี้ ดูเหมือนจะมีประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามาอีก อย่างการที่ตุรกีเพิ่งประกาศเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ว่าจะระงับการค้ากับอิสราเอลทั้งหมดโดยจะกลับมาทำการค้าใหม่หลังจากมีการหยุดยิงถาวรใรฉนวนกาซาเท่านั้น  ซึ่งการคว่ำบาตรนี้มีแนวโน้มที่จะลดตัวเลขการค้าลง 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากมูลค่าการส่งออกรวมที่คาดการณ์ไว้ที่ 267 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้หากไม่มีการยกเลิกมาตรการดังกล่าว โดยทางสภาผู้ส่งออกได้ประมาณการว่าการส่งออกไปยังอิสราเอลนั้นจะลดลงร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับของปีที่แล้ว ซึ่งตุรกีส่งออกสินค้าและบริการมูลค่า 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปยังอิสราเอล และด้วยการนำเข้าเพียง 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งทำให้อิสราเอลเป็นหนึ่งในคู่ค้ารายใหญ่ไม่กี่รายของตุรกีที่มีการเกินดุลอย่างมีนัยสำคัญ

 

ในขณะเดียวกัน ทางฝั่งผู้ผลิตภายในประเทศเองยังคงแสดงท่าทีที่ไม่มั่นใจของแนวโน้มทางเศรษฐกิจของประเทศว่าจะเป็นไปในทิศทางใด โดยจากผลสำรวจซึ่งจัดทำร่วมกันโดยหอการค้าเมืองอิสตันบูลและหน่วยงานจัดอันดับ Standard and Poor’s พบว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อหรือ PMI ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงสมดุลของการคาดการณ์เชิงบวกและลบของการขยายตัวในเดือนเมษายนที่ผ่านมากลับมาเข้ามาอยู่ในแดนลบ โดยลดลงจาก 50 จุดในเดือนมีนาคม เหลืออยู่ที่ 49.3 โดยมีปัจจัยหลักๆ มาจากการลดลงของคำสั่งซื้อทั้งจากภายในประเทศและจากต่างประเทศ ต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่สูงถึงร้อยละ 50 แล้วในขณะนี้

 

อย่างไรก็ตาม ในรายงานยังกล่าวถึงการเตรียมตัวของผู้ผลิตที่ได้สำรองวัตถุดิบไว้เพียงพอไปจนถึงเดือนเมษายนด้วยความหวังว่าตลาดจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และอัตราเงินเฟ้อจะถึงจุดสูงสุดในช่วงปลายไตรมาสที่สองของปีนี้และลดลงหลังจากนั้น ตามรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือ OECD ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม คาดการณ์ว่า ในปีนี้เศรษฐกิจตุรกีจะขยายตัวร้อยละ 3.4 ซึ่งน้อยกว่าอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.5 ในปี 2023 แต่สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปีที่ร้อยละ 2.9

 

ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ

 

อัตราเงินเฟ้อและนโยบายด้านภาษีของตุรกีกลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างมากในช่วงหลายปีมานี้ โดยนอกจากจะเป็นเรื่องที่กระทบต่อประชาชนโดยตรงแล้ว ในมิติของเศรษฐกิจเองทั้งผู้ผลิตและผู้ทำการค้าไม่ว่าจะผู้นำเข้าหรือส่งออกเองต่างก็ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงแม้รัฐบาลในขณะนี้จะเริ่มดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ดูจะ “เข้าท่า” กว่าที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจให้กลับมาได้ แม้จะมีการประกาศนโยบายหรือตัวเลขต่างๆ ที่ดูดีออกมาจากฝั่งรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง แต่ในอีกทางประชาชนและผู้ประกอบการต่างยังคงรู้สึกถึงปัญหาเศรษฐกิจที่สั่งสมและยังไม่ได้รับการแก้ไขอยู่มาก และเมื่อประกอบกับปัจจัยภายนอกอย่างสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาค ก็อาจส่งผลให้นโยบายของรัฐบาลไม่ประสบผลเท่าที่ควร

 

ที่มา: https://www.agbi.com/analysis/trade/2024/05/turkish-exporters-cautiously-optimistic-for-rest-of-year/

thThai