เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP23 เรื่อง สหรัฐฯ เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีนหลายรายการ
สหรัฐฯ และจีนเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกที่เป็นไม้เบื่อไม้เมา กันทางการค้าระหว่างประเทศมาโดยตลอดในช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมา โดยต่างฝ่ายต่างดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าไปมาระหว่างกันอยู่ตลอด
ล่าสุดประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนที่จะเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ได้แก่ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า แบตเตอรี เซลล์ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ เหล็กกล้า อะลูมิเนียม อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าอื่น ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้ทางการค้าจีนและรักษาความมั่นคงของประเทศ (National Security) นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังมองว่า นโยบายดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นการหวังผลทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการจะแสดงให้ชาวอเมริกันเห็นว่า พรรคเดโมเครตมีนโยบายทางการค้าระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญในการปกป้องผลประโยชน์ของชาวอเมริกัน ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้
ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันจะมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตในจีนจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ ไม่มากนักแต่ก็เริ่มมีความกังวลในตลาดว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากจีนที่มีความเป็นไปได้ว่าจะได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลจีนมีราคาจำหน่ายในตลาดต่ำเริ่มต้นเพียง 12,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคัน จะไหลทะลักเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ในอนาคต
ภายใต้รัฐบัญญัติการค้าสหรัฐฯ ปี 2517 มาตรา 301 ให้อำนาจรัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการตอบโต้การค้าที่ไม่เป็นธรรมหรือละเมิดมาตรฐานสากลได้ ดังนั้น สหรัฐฯ จึงพิจารณาเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนภายในปีนี้ ดังนี้
- เหล็กกล้าและอะลูมิเนียมจากระหว่าง 0 – ร้อยละ 7.5 เป็นร้อยละ 25
- รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากร้อยละ 27.5 เป็นร้อยละ 100
- แบตเตอรีพลังงานไอออนลิเธียมสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและชิ้นส่วนแบตเตอรีจากร้อยละ 7.5 เป็นร้อยละ 25 (ส่วนแบตเตอรีสำหรับรถยนต์ทั่วไปจะปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.5 เป็นร้อยละ 25 ภายในปี 2569)
- เซลล์พลังงานจากแสงอาทิตย์จากอัตราร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 50
- เครนยกตู้สินค้า (Ship-to-Shor Cranes) จากไม่เรียกเก็บภาษี เป็นร้อยละ 25
- วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์จากไม่เรียกเก็บภาษี เป็นร้อยละ 50
ส่วนชิ้นส่วนกึ่งตัวนำไฟฟ้าจะเพิ่มจากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 50 ภายในปี 2568
อย่างไรก็ตาม คาดว่านโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนเป็นมูลค่าทั้งสิ้นเพียงราว 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไม่น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาวะเงินเฟ้อที่สหรัฐฯ ยังกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้ ปัจจัยด้านภาวการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจจีนจากที่เคยขยายตัวสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกชะลอตัวลงไปมาก ผู้ผลิตในจีนมีกำลังการผลิต (Capacity) เหลือ จึงทำให้สามารถผลิตสินค้าราคาถูกออกสู่ตลาดโลกได้จำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในสหรัฐฯ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาด
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนกังวลว่า การดำเนินนโยบายดังกล่าวอาจจะเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคเศรษฐกิจพลังงานสะอาดที่รัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งเป้าไว้ในอนาคตได้
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
การดำเนินนโยบายเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนหลายรายการของสหรัฐฯ ในครั้งนี้จะส่งผลทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้านำเข้าจากจีนในตลาดสหรัฐฯ ลดลง และน่าจะส่งผลทำให้ผู้ประกอบการในตลาดเริ่มหันไปแสวงหาสินค้านำเข้าจากแหล่งผลิตประเทศอื่น โดยเฉพาะในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งต้นทุนแรงงานต่ำกว่าในสหรัฐฯ มาก ดังนั้น จึงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยังตลาดสหรัฐด้วย
โดยกลุ่มสินค้าไทยที่น่าจะมีศักยภาพในตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ ชิ้นส่วนกึ่งตัวนำไฟฟ้า เซลล์ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ เหล็กกล้า และอะลูมิเนียม ซึ่งในปี 2566 ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยังตลาดสหรัฐฯ เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.13 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 56.56 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายดังกล่าวของสหรัฐฯ ยังน่าจะเป็นโอกาสในการดึงดูดการลงทุนในกลุ่มผู้ประกอบการต่างชาติให้ขยายฐานการผลิตสินค้าไปตั้งกิจการในประเทศไทยอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนกึ่งตัวนำไฟฟ้า แบตเตอรีรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมถึงสินค้าในกลุ่มพลังงานสะอาดที่กำลังได้รับความสนใจและเป็นกระแสในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะมีมูลค่าการส่งออกเซลล์ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ในตลาดสหรัฐฯ สูง แต่การที่สหรัฐฯ พิจารณาว่า ผู้ประกอบการไทยหลีกเลี่ยงภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทยเพิ่ม โดยจะเริ่มเรียกเก็บอีกครั้งในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ภายหลังจากที่คำสั่งระงับชั่วคราวสิ้นสุดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้สินค้าไทยที่มีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ ถึงกว่าร้อยละ 22.23 สูญเสียความสามารถในการแข่งขันและสูญเสียส่วนแบ่งตลาดได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะเร่งหาแนวทางในการปรับตัวและแก้ไขปัญหาเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยในระยะยาวต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถรับชมได้ทางช่องทางพอดแคส “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก https://youtu.be/4395I8xUk5U
******************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก