ราคาของพลอยสียอดนิยมทั้ง 3 ชนิด (ทับทิม ไพลินและมรกต) พุ่งสูงขึ้น ปริมาณในตลาดลดลงบวกกับความใส่ใจในเรื่องความยั่งยืนที่เพิ่มสูงขึ้น รุ่งอรุณแห่งยุคใจเปิดกว้างจึงมาถึง

เนื้อหาสาระข่าว: บทความนี้ เป็นการรวบรวมแนวคิดจากการพูดคุยกับบรรดาผู้ที่นำสินค้ามาแสดงในงาน AGTA Gemfair Tucson 2024 รวมไปถึงการสัมมนาภายในงานดังกล่าว โดยอาจสรุปเป็นประเด็นๆ ได้ดังนี้

ในการเสวนานำโดย Stuart Robertson ประธานบริษัท Gemworld Inernational Inc. ซึ่งเป็นผ้อำนวยการฝ่ายงานวิจัย ของ GemGuide โดยมี Brecken Branstrator บรรณาธิการบริหาร ร่วมเสวนาบนเวทีด้วยกัน เขากระตุ้นให้ผู้มาร่วมงานว่าหากพบว่ามีอัญมณีน้ำงามๆ ให้ซื้อของในงานเลย ผู้ที่เข้าร่วมฟังการเสวนาแม้จะหวังว่าจะได้ภาพในวงกว้างของธุรกิจอัญมณี แต่ก็มีคำถามในใจว่าทำไมราคาสินค้าอัญมณีถึงได้มีราคาสูงจนผิดปกติ คำตอบก็คือในขณะนี้ สินค้าอัญมณีในหมวดชั้นดีและดีมากนั้น กำลังขาดวัตถุดิบอย่างมาก ข้อกังวลสำคัญคือยังหาที่ใดที่สามารถฟื้นกำลังการผลิตกลับมาได้ใกล้เคียงกับระดับในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดไม่ได้เลย จึงหวังว่าจะมีวัตถุดิบหลั่งไหลเข้ามาสู่ตลาดจนทำให้ราคาลดลงนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ราคามีแต่จะทรงตัวหรือเพิ่มสูงขึ้นไปอีกเท่านั้น หมวดสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดเช่นนี้อย่างมากก็คือ ไข่มุก

ไข่มุก ดูเหมือนจะเป็นดูเหมือนจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก กำลังการผลิตทั้งช่วงฤดูการผลิต (ในช่วงเกิดโรคระบาด) หายไปทั้งจากตาฮิติ ทะเลใต้และอาโกยา เป็นเหตุให้ราคาของไข่มุกพุ่งสูงขึ้นมากและยังคงสูงต่อไปอีกถึง 3-4 ปีก่อนที่ราคาจะเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ Ray Mastoloni เจ้าของบริษัท Mastoloni ยืนยันการขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อป้อนตลาดยุโรปและอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่นิยมไข่มุกอย่างมาก แล้วยิ่งแย่หนัก เมื่อตลาดจีนเกิดคลั่งสินค้าไขมุกขึ้นมาอย่างมาก ถึงขั้นซื้อไข่มุกคุณภาพระดับใดก็ได้หมด ทำให้ราคาพุ่งปรี๊ด เพราะคนจีนยอมจ่ายไม่ว่าราคาจะสูงเท่าไร

ระดับความต้องการไข่มุกจากตลาดจีน เป็นเหตุให้ราคาไข่มุกพุ่งสูงขึ้นในขณะที่สินค้าระดับคุณภาพยิ่งหายากขึ้น ระดับอุปสงค์ที่พุ่งสูงขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัวนี้นำไปสู่สภาวะตลาดที่ท้าทายกว่าที่เคยเป็นมามากสำหรับบรรดาผู้ขาย โดยมีปัจจัยเร่งกระแสโดยความล่าช้าในกระบวนการผลิตและแรงผลักดันจากดาราจีน Ni Ni ที่มากระตุ้นความสนใจไข่มุก จนทำให้ การหาไข่มุกคุณภาพที่ดีจริงๆ เป็นไปได้ยากมากและมีต้นทุนสูงเกินจำเป็น

เช่นเดียวกับไข่มุกคูณภาพสูง พลอยสีที่มีคุณภาพสูงๆ ก็หายากยิ่งขึ้น John W. Ford Sr. ผู้บริหารของงาน AGTA และ Martin Rapaport ประธานของกลุ่ม Rapaport พูดคุยเรื่องราคาที่พุ่งสูงขึ้นของราคาอัญมณีชั้นดีหลากหลายชนิด โดยมีทับทิม มรกตและไพลินที่มักถูกเรียกรวมๆ ในวงการว่า “The Big Three” ราคาพุ่งสูงขึ้นมาก ไพลินโดยเฉพาะที่มีสีฟ้านั้น ผู้ซื้อถึงขั้นแย่งกันซื้อ โดยราคาก็น่าจะพุ่งขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีทับทิมพม่าทีกำลังขาดแคลนหนักมาก ถึงขั้นที่หาไม่ได้จากแหล่งทั่วๆ ไปเลย ต้องเป็นตลาดเฉพาะที่ผู้ซื้อทั่วๆ ไปไม่อาจเข้าถึงได้ มีเพียงบางรายที่เชี่ยวชาญจริงๆ ถึงเข้าถึงได้ สถานะที่ราคมพุ่งสูงขึ้นมากของอัญมณียอดนิยม 3 ชนิดนี้ ทำให้พลอยสีชนิดอื่นๆ ที่มีสีเดียวกันได้รับความสนใจมากขึ้นและจะยังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอีกพักใหญ่ เพราะถูกมองว่าเป็นอัญมณีทางเลือกที่ราคาพอรับได้

ในวงการผู้ค้าเพชรคงจะคุ้นๆ กันดีกับสภาวการณ์ซึ่งราคาที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ผู้ซื้อหันไปหาสินค้าทางเลือกอื่นอย่างเช่น เพชรเลี้ยง กันมากขึ้น แต่สำหรับพลอยสีแล้ว พลอยเลี้ยง ไม่ใช่ปัญหา ทั้งนี้เพราะผู้บริโภคที่มองหาสินค้าทางเลือกที่ราคาย่อมเยาลงมานิยมเลือกพลอยสีของแท้จากธรรมชาติมากกว่าเพชรเลี้ยง มีความต้องการอัญมณีที่มีสีในตลาดเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในหมวดแหวนสมรส พลอยสีอย่าง ไพลิน กำลังได้รับความนิยมใช้เป็นทางเลือกสำหรับแหวนหมั้นมากขึ้น แนวโน้มความนิยมที่ผู้บริโภคปรารถนาที่จะแสดงตัวตนของตนเองด้วยการเลือกพลอยสีสันต่างๆ กำลังขยายตัว ผิดจากในอดีตที่เคยเน้นว่าจะต้องเป็นเพชรเท่านั้น

ในวงการพลอยสีกำลังมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่เมื่อผู้บริโภคเริ่มต่อต้านอัญมณีที่เคยนิยมกันแต่มีราคาแพงเกินควร แล้วหันไปหาสินค้าทางเลือกชนิดใหม่ๆ และไม่เหมือนใคร พลอยที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่พลอยที่เรียกว่า Spinel เพราะมีหลากหลายสีสัน เป็นสัญญาณว่าผู้บริโภคเริ่มเปิดใจยอมรับพลอยสีกันมากขึ้น Robertson เน้นถึงความสำคัญของการมีพลอยสีเป็นทางเลือกใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผุ้บริโภค พลอยสีอย่างเช่น Zircon (เพทาย), Tourmaline, Tsavorite Garnet (โกเมนสีเขียว), Beryl และ Topaz (บุษราคัม) กำลังเป็นที่สนใจมากขึ้นทุกขณะ ไพลิน โดบยเฉพาะ ไพลินจากรัฐมอนทานากำลังได้รับความนิยมมากในตลาดสหรัฐฯ เพราะมีสีสันหลากหลายและมีคุณลักษณะที่โดดเด่นด้วย

บรรดานักออกแบบเครื่องประดับและผู้บริโภคเริ่มหันมานิยมอัญมณีที่โดดเด่นและมีตำหนิ ต่างตอบรับรอยตำหนิในอัญมณี และลายในเนื้อพลอยตามธรรมชาติมากกว่าอัญมณีไร้ตำหนิแบบเดิมๆ กันมากขึ้นแล้ว โดย Columbia Gem House ได้เอ่ยถึงแนวโน้มของพลอยสี หินสี ที่เจียระไนแบบหลังเบี้ย (Cabochon cut – เป็นการเจียระไนแบบผิวเรียบไม่เป็นเหลี่ยมๆ) เพราะมีผู้ซื้อต้องการให้เจียระไนแบบหลังเบี้ยในรูปแบบที่แปลกใหม่ในงานที่ Tucson ครั้งนี้กันมากมาย ซึ่งทางบริษัทฯ ก็ได้นำเสนออัญมณีคอลเลคชั่นใหม่ๆ สะท้อนถึงความนิยมอัญมณีที่ได้รับการออกแบบเป็นเชิงงานศิลป์ที่มีแรงบันดาลใจมาจากแบบโบราณๆ ที่หลากหลายแนวขึ้น มีทั้งที่ให้เจียระไนเป็นรูปกระสุนปืน เป็นทรงกรวย เป็นทรงโค้ง และ mini-cabs (แบบหลังเบี้ยขนาดเล็กๆ 1.5-2 หรือ 3มม. เท่าๆ กัน) โดยทางร้านได้ทำ 2 คอลเลคชั่นใหม่มาแนะนำในงาน ได้แก่ “Occult (แนวความเชื่อโชคลาง)” “Zodiac (จักรราศี)” นอกจากนั้นแล้ว Branstrator ยังเล่าว่าได้เห็นว่าการเจียระไนแบบแปลกๆ ใหม่ๆ ไม่เหมือนใคร เรียกว่าเป็น “การเจียระไนแบบสนุกสนาน” เพิ่มขึ้นมาก อาทิ เจียระไนเป็นรูปว่าว และรูป 6 เหลี่ยม รวมถึงการเจียระไนแบบเก่าๆ ที่เอากลับมานำเสนอใหม่ และการเจียระไนแบบเรียบบาง (portrait cut) เชื่อว่าในปีหน้าการเจียระไนแบบแปลกๆ ใหม่ๆ จะได้รับความสนใจกันมากขึ้นแน่ๆ

กลยุทธทางการตลาดแบบสร้างสรรค์มีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวโน้มในการเลือกซื้ออัญมณีของผู้บริโภค แทนที่จะซ่อนตำหนิ ผู้ขายต่างพากันนำเอาความแตกต่างของอัญมณีแต่ละชิ้นมาเน้นเป็นจุดขาย เพื่อดึงดูดผู้ซื้แทน นอกจากนี้แล้ว การจัดหาอัญมณี พลอยสีหรือหินสีอย่างมีความรับผิดชอบ โดยดูจากแหล่งที่มาและการได้มาซึ่งอัญมณี รวมถึงประเด็นเรื่องจริยธรรม กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากตลาดมากขึ้น คณะกรรมาธิการว่าด้วยการค้าแห่งสหพันธรัฐ (Federal Trade Commission – FTC) กำลังพิจารณาคำจำกัดความที่เหมาะสมของคำว่า “การจัดซื้อจัดหาอย่างมีความรับผิดชอบ” ในคู่มือเพื่อสิ่งแวดล้อมที่จะนำมาใช้กำกับดูแลคำโฆษณาที่อ้างถึงประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งก็ไม่มีใครทราบว่าคู่มือฉบับดังกล่าวจะคลอดออกมาได้เมื่อไรแน่ แต่เรื่องพฤติกรรมเพื่อความยั่งยืน ได้รับความสนใจอย่างมาก รวมไปถึงการซื้อ-ขายเครื่องประดับและอัญมณีใช้แล้ว ที่กำลังขยายตัวขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภครุ่นเยาว์ที่เน้ามองหาทางเลือกที่ไม่เหมือนใครและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

บทวิเคราะห์/ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: บทความนี้พูดถึงแนวโน้มความต้องการและวิกฤติราคาอัญมณีที่พุ่งสูงขึ้นนับจากช่วงที่เกิดโรคระบาดในตลาดสหรัฐฯ และตลาดโลกที่ผลกระทบยังคงส่งผลอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ที่สะดุดตาเป็นพิเศษ ก็คือแทบทุกประเด็นของแนวโน้มความนิยม ดูเหมือนจะลงตัวเหมาะเจาะกับแหล่งผลิตอัญมณีในประเทศไทยเป็นพิเศษ ทั้งในเรื่องการหันหน้าออกจากเพชร มาให้ความสนใจในพลอยสีซึ่งประเทศไทยเราเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ รวมถึงการเจียระไนแบบแปลกๆ ใหม่ที่ช่างไทยของเราก็มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องฝีไม้ลายมือเป็นที่ประจักษ์ในตลาดโลกกันอยู่แล้ว อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้นักออกแบบใหม่ๆ ที่เข้าใจตลาดคนรุ่นใหม่ ก็น่าจะได้เฉิดฉายบนเวทีออกแบบอัญมณีโลกกันได้มากขึ้น ด้วยแนวโน้มที่ให้ความสนใจในแนวการออกแบบที่ไม่เหมือนใคร โดดเด่นและโดยเฉพาะการหยิบเอาจุดด้อยหรือตำหนิตามธรรมชาติของพลอยสี มาเล่น ตลอดไปจนถึงกระแสความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมและจริยธรรมของผู้ที่จัดซื้อจัดหาอัญมณีซึ่งบ้านเราไม่มีซื่อเสียงด่างพร้อยในประเด็นเหล่านี้เลย

สิ่งสำคัญที่จะทำให้ได้รับโอกาสจากวิกฤติราคาอัญมณีนี้ก็คือ จะต้องให้ตลาดรับรู้ถึงจุดเด่นต่างๆ นานาของไทยที่สอดคล้องตรงกับความต้องการของบรรดาผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ เหล่านี้ผ่านการประชาสัมพันธ์ในหลากหลายรูปแบบเท่าที่จะทำได้ แต่สื่อที่เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายได้ ก็ไม่ต้องทุ่มทุนมหาศาลแบบในอดีต สื่อสังคมออนไลน์ยุคนี้ หากบริหารจัดการอย่างดี ก็สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ที่แต่ละกลุ่มเป้าหมายแยกย้ายกันไปกระจุกตัวอยู่เฉพาะบางแพลตฟอร์มแบ่งไปตามช่วงอายุแบบที่สามารถเจาะจงตัวกันได้ ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะต้องใช้ความเข้าใจในกลุ่มเป้าหมายอย่างดี และความคิดสร้างสรรค์กันมากหน่อยในการนำเสนอให้ไวรัล แต่เรื่องความคิดสร้างสรรค์นั้น โฆษณาทางทีวีในอดีตของไทยหลายๆ ชิ้น ก็มีคนต่างชาติฮือฮากันมากมายเมื่อได้มีโอกาสชม โอกาสมาแล้วอย่ามัวรอช้า ศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายแล้วใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ตรงกลุ่มเป้าหมายแล้วลงมือกันเลย

*********************************************************

ที่มา: National Jeweler
เรื่อง: “State of Colored Stones: Why the Market Is More Colorful Than Ever”
โดย: Lauren McLemore
สคต. ไมอามี /วันที่ 22 พฤษภาคม 2567
thThai