บริษัท Brand Finance จัดลำดับแบรนด์ทรงพลังของฝรั่งเศสประจำปี 2024 จำนวนทั้งสิ้น 150 แบรนด์ อัตราการเติบโตของแบรนด์ทั้งหมดรวมกันในปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ต่ำกว่าปี 2023 (ร้อยละ 13) และ ปี 2022 (ร้อยละ 17) แต่ยังคงสูงกว่าประเทศอื่นๆในทวีปยุโรป ดังเช่น แบรนด์ของเยอรมนีมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 5 และแบรนด์ของสหราชอาณาจักรการขยายตัวลดลงร้อยละ 1 อย่างไรก็ตามเมื่อดูรายละเอียดของแต่ละแบรนด์กลับพบว่าการเติบโตของแบรนด์เดียวกันในฝรั่งเศสต่ำกว่าระดับการเติบโตในประเทศอื่นๆในทวีปยุโรป
นาย Bertrand Chovet ผู้อำนวยการ Brand Finance ประจำฝรั่งเศส ให้ความเห็นว่าแบรนด์ฝรั่งเศสควรปรับกลยุทธ์การตลาดในประเทศ โดยควรให้ความสำคัญต่อการลงทุนในสื่อ, การสร้างประสบการณ์ในการให้บริการลูกค้า, การจัดโปรโมชั่นและพัฒนาช่องทางการขายในประเทศเพิ่มมากขึ้น
จากตารางด้านบนจะเห็นว่า แบรนด์ฝรั่งเศสที่ติด 10 อันดับแรกเป็นแบรนด์สินค้าลักชัวรี่ถึง 5 แบรนด์ ได้แก่ Louis Vuitton อันดับที่1 (มูลค่า 30,100 ล้านยูโรเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากปี 2023) , Chanel อันดับที่ 2 (มูลค่า 24,300 ล้านยูโรเพิ่มขึ้นร้อยละ 30), Hermès อันดับที่ 5, Dior อันดับที่ 8 และ Cartier อันดับที่ 10
มูลค่าของแบรนด์ใน 10 อันดับแรกขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกแบรนด์จากปี 2023 ยกเว้นบริษัทผู้ผลิตพลังงาน TotalEnergies เพียงบริษัทเดียวเท่านั้นที่มูลค่าของแบรนด์ลดลงถึงร้อยละ 21 ส่งผลให้อันดับลดลงจากอันดับ 2 ในปี 2023 เป็นอันดับที่ 4 ในปีนี้ ในขณะที่บริษัทด้านพลังงานไฟฟ้า EDF เลื่อนอันดับขึ้นจากอันดับที่ 12 เป็นอันดับ 9
นอกเหนือจากการจัดอันดับแบรนด์ทรงพลังแล้ว Brand Finance ได้ทำการจัดอันดับแบรนด์ฝรั่งเศสที่มีการเติบโตสูงที่สุด ซึ่งให้ผลลัพท์แตกต่างจากลำดับแบรนด์ทรงพลังในข้างต้น แบรนด์ที่ติดอันดับนี้มีความหลากหลายมากกว่าในด้านประเภทของสินค้าและอาจไม่ได้เป็นที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก โดยมีทั้งแบรนด์ขายสินค้าและแบรนด์บริษัทงานด้านการบริการ เรียงตามลำดับ ได้แก่
- Edenred บริษัทให้บริการระบบบัตรกำนัลสำหรับใช้จ่ายในร้านอาหาร, ร้านค้าปลีก ฯลฯ ครบวงจรสำหรับบริษัทและผู้ประกอบการไว้ให้บริการกับลูกจ้าง อัตราการเติบโตร้อยละ 45 มูลค่า 1.2 พันล้านยูโร อยู่ในอันดับแบรนด์ทรงพลังของฝรั่งเศสอันดับที่ 82 จาก 150 แบรนด์
- Darty ห้างค้าปลีกอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 38)
- Kenzo แบรนด์แฟชั่น (ร้อยละ 36)
- Varilux แบรนด์ผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ให้แสงเลียนแบบธรรมชาติ (ร้อยละ 31)
- Trigano แบรนด์ผลิตภัณฑ์เครื่องเล่นและอุปกรณ์สำหรับใช้ภายนอกอาคาร เช่น สนามเด็กเล่น ที่จอดรถสำเร็จรูป ฯลฯ (ร้อยละ 30)
- Chanel (ร้อยละ30)
- Eliorgroup บริษัทผู้ให้บริการจัดเตรียมอาหารนอกสถานที่ให้กับหน่วยงาน, บริษัท และสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน (ร้อยละ 28),
- Givenchy (ร้อยละ27)
- Alpine แบรนด์รถสปอร์ตในเครือบริษัท Renaut (ร้อยละ27)
- Bic แบรนด์ผู้ผลิตปากกาและอุปกรณ์เครื่องเขียน (ร้อยละ 27)
ความคิดเห็น สคต.
นอกเหนือจากการจัดลำดับแบรนด์ทรงพลังของประเทศต่างๆแล้ว Brand Finance ได้จัดลำดับประเทศที่มีอิทธิพลด้าน Soft Power จากจำนวน 193 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ซึ่งฝรั่งเศสได้ลำดับที่ 6 รองจาก สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, จีน, ญี่ปุ่น, เยอรมนีตามลำดับ โดยได้คะแนนสูงสุดของ Soft Power ด้านมรดกทางวัฒนธรรม ประเทศอื่นๆที่ติด 10 อันดับแรกรองจากฝรั่งเศสได้แก่ แคนาดา, สวิตเซอร์แลนด์, อิตาลี และสหรัฐเอมิเรตส์
ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 40 และเป็นอันดับที่ 7 ในประเทศในภูมิภาคเอเชีย รองจาก จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, อินเดีย, มาเลเซีย ตามลำดับ
ที่มาของข่าว
Clotilde Briard
ข่าวจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ Les Echos
https://www.lesechos.fr/industrie-services/conso-distribution/vuitton-et-chanel-au-sommet-des-marques-francaises-orange-et-totalenergies-en-embuscade-2096409
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปารีส