กรุงโบโกตา เมืองหลวงของโคลอมเบียกำลังต่อสู้กับวิกฤตขาดแคลนน้ำที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์  ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 จนถึงขณะนี้ (เดือนพฤษภาคม 2567) หน่วยงานท้องถิ่นรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่ยาวนานและคลื่นความร้อนในโคลอมเบียเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำ Chuza และ San Rafael ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบ Chingaza ที่ใช้ในการผลิตน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคกว่าร้อยละ 70 ของเมืองกำลังเผชิญภาวะวิกฤตโดยปริมาณน้ำมีระดับต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ โดยเหลือน้ำเพียงร้อยละ 16.9[1] ของความจุทั้งหมด ภาครัฐที่เกี่ยวข้องประกาศใช้มาตรการปันส่วนน้ำโดยให้มีผลบังคับใช้ในทันทีจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ทั้งนี้ พื้นที่ที่มีการบังคับใช้มาตรการปันส่วนน้ำดังกล่าว มีจำนวน 9 โซน ประกอบด้วย กรุงโบโกตาและเมืองรอบๆ หลายสิบแห่ง ซึ่งน้ำประปาจะถูกตัดเป็นเวลา 24 ชั่วโมงในแต่ละโซน[2] หมุนเวียนกันไป มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประชาชนประมาณ 9 ล้านคน นับเป็นครั้งแรกที่มีการบังคับใช้มาตรการจำกัดน้ำซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนฉุกเฉินในกรุงโบโกตา

จากวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำครั้งนี้ ทำให้หลายหน่วยงาน อาทิ นายกเทศมนตรีกรุงโบโกตา (นาย คาร์ลอส เฟอร์นันโด กาลัน) กระทรวงสิ่งแวดล้อม และประธานาธิบดีของโคลอมเบีย นาย กุสตาโว เพทโทร กระตุ้นเตือนให้ชาวโคลอมเบียอย่าประมาทกับวิกฤตนี้ และเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้น้ำและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อรับประกันว่าจะมีน้ำเพียงพอสำหรับทุกคนในอนาคต พร้อมกับเปิดตัวแคมเปญด้วยแฮชแท็ก #ElNinoNoEsUnJuego (เอลนีโญไม่ใช่เกม)

สภาพทางภูมิศาสตร์ของกรุงโบโกตาตั้งอยู่บนที่ราบสูงบนภูเขา ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองหลวงที่มีที่ตั้งอยู่สูงที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก[3] มีความสูงมากกว่า 2,601 เมตร (8,533 ฟุต) จากระดับน้ำทะเล นาย Armando Sarmiento ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัย Javeriana กรุงโบโกตา เผยว่าเมืองหลวงส่วนใหญ่ทั่วโลกอาศัยแหล่งน้ำจากแม่น้ำเป็นหลัก แต่กรุงโบโกตาพึ่งพาแหล่งน้ำเกือบทั้งหมดจากน้ำผิวดินและอ่างเก็บน้ำ   ซึ่งการพึ่งพาฝนเพียงอย่างเดียวทำให้โบโกตาเสี่ยงต่อภัยแล้งเป็นพิเศษ

 

จากข้อมูลของธนาคารโลก[1] โดยสถาบันอุทกวิทยา อุตุนิยมวิทยา และสิ่งแวดล้อมศึกษา พบว่าพื้นที่เขตเทศบาลจำนวน 391 แห่ง มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ และมีแนวโน้มเกิดขึ้นในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อื่น ๆ อีกจำนวนมากที่จะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ รวมถึงความเสี่ยงต่อการขาดแคลนอาหารที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนราว 4.5 ล้านคน[2] ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น จำเป็นต้องมีมาตรการลดการใช้น้ำของประชาชน และการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมในกรุงโบโกตา ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของโคลอมเบีย นอกจากนี้ภาครัฐต้องสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการใช้น้ำ เช่น การรณรงค์อนุรักษ์น้ำ ข้อจำกัดในการใช้น้ำ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกักเก็บและจำหน่ายน้ำ โดยรัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อมสำหรับวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตในระดับความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น

 

บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก

เอลนีโญเป็นรูปแบบความแปรปรวนทางสภาพภูมิอากาศตามธรรมชาติที่มีต้นกำเนิดในมหาสมุทรแปซิฟิกตามแนวเส้นศูนย์สูตร ซึ่งมีอิทธิพลต่อสภาพอากาศทั่วโลกแตกต่างกันออกไปตามสภาพภูมิประเทศ โดยในโคลอมเบีย อุณหภูมิที่สูงขึ้นและปริมาณน้ำฝนที่ลดลงเนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น คลื่นความร้อนและความแห้งแล้ง ที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้การพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการปริมาณการใช้น้ำในเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อเกษตรกร ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และส่งผลกระทบต่อโอกาสในการพัฒนาทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน ได้แก่

ภาคเกษตรกรรม จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของโคลอมเบีย พบว่าภาคเกษตรกรรมมีการหดตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ -5.5[1] ในไตรมาสแรกของปี 2567 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ก่อนหน้า สถานการณ์ภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมทางการเกษตรและการลดลงของผลผลิตทางการเกษตร การจ้างงานในภาคการเกษตร (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 ของแรงงานทั้งหมดในประเทศโคลอมเบีย) รวมถึงเกษตรกรจำนวนกว่า 2.7 ล้านราย โดยภาคเกษตรกรรมมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของโคลอมเบีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8 ของ GDP[2] หากภาคการเกษตรกรรมชะลอตัวหรือหยุดชะงัก จะส่งผลต่อเนื่องไปยังธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช โรงสี เชื้อเพลิง การขนส่ง โรงงานแปรรูป เป็นต้น

ภาคอุตสาหกรรม น้ำเป็นทรัพยากรพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากใช้เป็นวัตถุดิบ หรือการเตรียม และสนับสนุนระบบการผลิต การขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรมสามารถจึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการบริหารจัดการน้ำ การลดกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำในปริมาณมาก อาทิ การผลิตกระดาษ การฟอกย้อม การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของโคลอมเบียพบว่าภาคอุตสาหกรรมมีการหดตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ -6.2[3]     ในไตรมาสแรกของปี 2567 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ภาคสาธารณสุข จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) UNICEF และPlanet water organization พบว่าประชากรประมาณ 14 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27[4] ของประชากรทั้งประเทศไม่สามารถเข้าไม่ถึงแหล่งน้ำสะอาดเพื่อบริโภค และในภาวะการขาดแคลนน้ำทำให้ประชาชนต้องหาทางเลือกจากแหล่งน้ำอื่น ซึ่งอาจไม่ผ่านการบำบัดอย่างเหมาะสม ซึ่งน้ำที่ปนเปื้อนสามารถทำให้เกิดโรคที่สามารถแพร่กระจายทางน้ำได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้สุขอนามัยพื้นฐาน เช่นการล้างมือ อาจถูกละเลย ทำให้ยิ่งแพร่กระจายเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น รัฐต้องสูญเสียงบประมาณด้านสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น

ภาคการท่องเที่ยว แหล่งน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งเสริมให้สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ สวยงามสมบูรณ์ ภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ รวมถึงนโยบายการจำกัดปริมาณการใช้น้ำส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว เช่น  โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และบริการทางการท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การขนส่ง การบิน กิจกรรมนันทนาการทางน้ำ เป็นต้น

ภาคผู้บริโภค ภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง  ราคาสินค้าทางการเกษตรและอาหารที่เพิ่มขึ้น จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารกลางและสำนักงานสถิติแห่งชาติของโคลอมเบีย ในเดือนเมษายน 2567 พบว่าอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 7.16[5] และดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นแตะที่ระดับ 142.32[6] นอกจากนี้ การขาดแคลนน้ำทำให้ค่าน้ำมีราคาแพงขึ้น

เพิ่มภาระต่อค่าครองชีพของประชาชน และอำนาจการซื้อของประชาชนที่ลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ประกอบกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในพื้นที่จากมาตรการตัดน้ำ ทำให้รายได้ลดลงตามไปด้วย ประชาชนใช้จ่ายน้อยลง ส่งผลกระทบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

แนวทางการแก้ปัญหาระยะยาวสำหรับปัญหาภัยแล้ง จำเป็นต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของภัยแล้ง การป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า การรณรงค์อนุรักษ์น้ำโดยให้ชุมชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วม การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน การจัดทำและบังคับใช้นโยบายการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างจริงจัง รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อความมั่นคงทางน้ำ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับชุมชนในพื้นที่ และการฟื้นฟูระบบนิเวศที่มีคุณค่าในภูมิภาค

ทั้งนี้ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันผลกระทบต่อหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาของไทย[1] เผยว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงปรากฏการณ์เอลนีโญเช่นเดียวกัน ทำให้ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่ามาตรฐาน เกิดภัยแล้งระดับปานกลางในหลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบทางลบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมของไทยโดยรวม ภาคการเกษตร โรงงานและผู้ประกอบการด้านการแปรรูปอาหารที่เกี่ยวข้อง     จึงควรเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

สคต. ณ กรุงซันติอาโก คาดว่าจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางสภาพอากาศ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้การสำรองอาหารเพื่อการบริโภคในอนาคตเป็นสิ่งจำเป็นต่อหลายประเทศ ประเทศโคลอมเบียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 5 ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริการองจาก บราซิล อาร์เจนตินา ชิลี และเปรู การได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยแล้งของโคลอมเบีย อาจทำให้โคลอมเบียเพิ่มการนำเข้าสินค้าจำเป็น อาทิ อาหารแปรรูปและอาหารกระป๋อง ซึ่งในไตรมาสแรกของปี 2567 ประเทศโคลอมเบียมีการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าในสินค้าประเภทธัญพืชและผลไม้ (พิกัดศุลกากรที่ 12) และผักและผลไม้แปรรูป (พิกัดศุลกากรที่ 20) โดยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63.9 และ 30.6 ตามลำดับ รวมเป็นมูลค่ากว่า 56 ล้านบาท นอกจากนี้ สินค้าอื่นที่โคลอมเบียนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ด้ายและด้วยเส้นใยประดิษฐ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เครื่องประอากาศและส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น หากผู้ประกอบการอาหารแปรรูปไทย มีความสนใจที่จะส่งออกสินค้ามายังภูมิภาคลาตินอเมริกา สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ thaitrade@ttcsantiago.cl

__________________________________

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

พฤษภาคม 2567

[1] https://tmd.go.th/

[1] https://www.dane.gov.co/files/operaciones/PIB/bol-PIB-Itrim2024-v2.pdf

[2] https://align-tool.com/source-map/colombia#footnote-pimcore_editable_context_1_content_textarea-4

[3] https://www.dane.gov.co/files/operaciones/PIB/bol-PIB-Itrim2024-v2.pdf

[4] https://planet-water.org/where-we-operate/colombia/

[5] https://www.banrep.gov.co/es

[6] https://www.dane.gov.co/index.php/estadisticas-por-tema/precios-y-costos/indice-de-precios-al-consumidor-ipc

[1] https://www.worldbank.org/en/news/feature/2020/09/02/colombia-water-security

[2] Some 4.5 million people in Colombia facing severe hunger: report (colombiareports.com)

[1] https://bogota.gov.co/

[2] https://docs.google.com/viewerng/viewer?url=https://bogota.gov.co/sites/default/files/inline-files/guia_de_medidas_para_el_cuidado_del_agua-segunda-rotacion.pdf

[3] https://www.worldatlas.com/cities/world-s-10-highest-cities.html

thThai