📰 ข่าวเด่นประจำเดือนพฤษภาคม 2567 โดย สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest
Cover Photo Credit: Pixabay
สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นประเด็นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเพิ่มมากขึ้น นอกจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 แล้ว ยังมีความขัดแย้งเกิดเป็นสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ส่งผลกระทบต่อทั้งราคาน้ำมัน การเคลื่อนย้ายแรงงาน ห่วงโซ่การผลิตสินค้าต่างๆ และอัตราเงินเฟ้อ อันส่งผลกระทบสําคัญต่อค่าครองชีพของประชากรในภูมิภาคยุโรป โดยส่วนใหญ่เป็นการขนส่งไฮโดรคาร์บอนและธัญพืชไปยังยุโรป
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 สํานักข่าว EU reporter รายงาน ว่า นาย Johan Gabriels ผู้อํานวยการระดับภูมิภาคยุโรปตะวันออกเฉียงใต้บริษัท iBanFirst (บริษัทบริการทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่งในยุโรป) ระบุว่าเส้นทางการขนส่งในทะเลแดงเชื่อมต่อกับคลองสุเอซ เป็นเส้นทางการค้าหลักระหว่างเอเชียกับยุโรป ครอบคลุมเส้นทางการค้าทางทะเลประมาณ 12% ของโลก กําลังประสบปัญหาอย่างมีนัยยะสําคัญ นอกจากนี้จากการประมาณการล่าสุดของสหประชาชาติระบุว่าปริมาณการจราจรเชิงพาณิชย์ที่ผ่านคลองสุเอซ ลดลงมากกว่า 40% โดยเฉพาะผลกระทบต่อการค้าไฮโดรคาร์บอน น้ํามันและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้ง สินค้าธัญพืชที่ประเทศในเอเชียมีศักยภาพที่ส่งไปยังประเทศในยุโรป อาทิประเทศในสหภาพยุโรป นําเข้าข้าวสาลีประมาณ 4.7% ที่ส่งสินค้าผ่านช่องแคบบับอัลมันดับ (Bab al-Mandab) ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างประเทศเยเมนในคาบสมุทรอาหรับ กับประเทศจิบูตีและประเทศเอริเทรียในแอฟริกาตะวันออก ซึ่งเป็นช่องแคบที่สําคัญต่อการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาด้วยการขนส่งทางทะเล ผ่านแหลม Good Hope จะมีความปลอดภัย แต่ก็เพิ่มระยะเวลาการขนส่งสินค้าเฉลี่ย 15 – 20 วัน อันเป็นปัจจัยสําคัญที่ทําให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รูปภาพที่ 1: เส้นทางการเดินเรือทางเลือก จากทวีปเอเชียไปทวีปยุโรป ผ่านช่องแคบบับอัลมันดับ (Bab al-Mandab)
ที่มาของภาพประกอบ: Headway Vietnam
อย่างไรก็ตาม นาย Johan Gabriels อธิบายเพิ่มเติมว่า ประเทศต่างๆ ได้มีการปรับตัวในการค้าระหว่างประเทศที่แตกต่างกัน ทําให้ต้นทุนการค้าเริ่มลดลงกว่าช่วงความขัดแย้งแรกๆ แต่ก็ไม่สามารถรักษาราคาสินค้าได้เท่าเดิมก่อนเกิดสถานการณ์ ทั้งนี้บริษัท Drewry Composite ซึ่งเป็นบริษัททําการด้านวิจัยและบริการให้คําปรึกษาแก่อุตสาหกรรมการเดินเรือและการขนส่ง ระบุว่า ได้ติดตามราคาค่าระวางคอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต ที่ผ่านเส้นทางหลัก 8 เส้นทาง รวมถึง อัตราสปอตและอัตราสัญญาระยะสั้นลดลง 3% มาอยู่ที่ 2,836 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการลดลงตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ความเสี่ยงจากการปิดล้อมช่องแคบ Bab al-Mandab คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อในยุโรปเพิ่มมากขึ้น แต่ความเสี่ยงหลัก คือความแออัดของท่าเรือ
💭 ข้อคิดเห็นของ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ 💭
ความขัดแย้งและภาวะสงครามในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าสําคัญจากทวีปเอเชียมายังยุโรปจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผู้ประกอบการไทยก็ยังจําเป็นต้องผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพ และอาจเจรจาต่อรองกับคู่ค้าถึงการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการขนส่ง ทั้งนี้ ผู้บริโภคในยุโรปแม้ว่าจะมีกลุ่มประชากรที่มีกําลังซื้อลดลงจากภาวะเงินเฟ้อ แต่ก็ยังมีกลุ่มประชากรที่ยังเน้นเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพมากกว่ามุ่งเน้นสินค้าราคาถูก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องติดตามแนวโน้มสินค้าในภูมิภาคยุโรปกลางที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร วัตถุดิบ เครื่องปรุง เป็นต้น
ที่มาของข้อมูล
-
- https://storeinsider.hu/cikk/a-voros-tengeri-valsag-hatasa-a-vilagkereskedelemre-es-a-magyar-kulkereskedelmi-cegekre
- https://www.aljazeera.com/news/2024/4/23/russia-ukraine-war-list-of-key-events-day-789
- https://www.eureporter.co/economy/2024/04/09/how-the-red-sea-crisis-is-impacting-central-and-eastern-europes-trade/
สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
พฤษภาคม 2567