สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับการเป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ใหญ่อันดับ 2 ของโลก

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออีผงาดเป็นผู้นำอีกครั้งในฐานะประเทศที่มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ใหญ่อันดับ 2 ของโลก ตามรายงาน Future of Trade 2024 โดย Dubai Multi Commodities Center (DMCC)

จากรายงานข่าวของสำนักข่าวรัฐบาลยูเออี WAM ระบุว่ารายงานดัชนีการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ของ DMCC ปี 2567 ได้ประเมินศูนย์ซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญทั่วโลก 10 แห่ง โดยการวิเคราะห์ประเด็นสำคัญ 3 ประการของการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ จากตัวบ่งชี้ย่อยเฉพาะ 10 ตัว

ตัวชี้วัดสำหรับใช้ประเมินความเป็นผู้นำศูนย์กลางการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ในมิติต่างๆ ได้แก่ จุดแข็งของทำเลที่ตั้ง ความมั่งคั่งของสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น กาแฟ ธัญพืช ทองคำ บริการทางการเงิน โครงสร้างพื้นฐานด้านลอจิสติกส์ และความแข็งแกร่งของสถาบัน ซึ่งนำเสนอมุมมองแบบองค์รวม เกี่ยวกับบทบาทของศูนย์ซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์แต่ละแห่งในการค้าโลก และข้อมูลสำหรับตัวชี้วัดเหล่านี้อ้างอิงมาจากสถาบันระดับโลก อาทิ ธนาคารโลก และองค์การสหประชาชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้ศูนย์ซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ที่สามารถใช้ประโยชน์ จากการที่มีความเป็นกลางทางการเมือง มีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์เหมาะสม ความสามารถในการจัดหาสินค้าเชิงกลยุทธ์ และโครงสร้างพื้นฐานทางการค้ากำลังที่ได้เปรียบในการแข่งขัน ภายใต้สถานการณ์โลกที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อิทธิพลทางเศรษฐกิจมหภาค และการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน

จึงส่งผลให้ยูเออีสามารถครองตําแหน่งที่โดดเด่น โดยเฉพาะความได้เปรียบปัจจัยด้านสินค้าโภคภัณฑ์การผลิตที่มีอยู่ (Factor Endowment)  ด้วยคะแนน (77%) ที่ได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันธรรมชาติ โดดเด่นนําหน้าศูนย์ซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ

ยูเออีเป็นประเทศที่ได้คะแนนสูงจากด้านปัจจัยเชิงสถาบัน (66%) โดยเฉพาะธรรมาภิบาลเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความจำเป็นต่อการหลุดพ้นจากกับดับประเทศรายได้ปานกลาง โดยขยับขึ้นมาหนึ่งอันดับ      จากครั้งก่อนมาเป็นอันดับ 4 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากอัตราภาษีที่น่าสนใจ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการค้าลอจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง

นาย Feryal Ahmadi ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ DMCC กล่าวว่าความโดดเด่นอย่างต่อเนื่องของยูเออีในการเป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่สําคัญของโลก ได้เน้นย้ําถึงความยืดหยุ่นของประเทศ    ต่ออุปสรรคและปัญหาด้านต่างๆ ประกอบกับวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศที่มีจุดหมายต้องการผลักดันแนวทางการเติบโตของประเทศ ที่ตั้งเชิงกลยุทธ์ของดูไบ โครงสร้างพื้นฐานระดับโลก และนโยบายที่เป็นมิตรกับธุรกิจช่วยให้ประเทศสามารถดึงดูดธุรกิจและนักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในรายงาน Future of Trade แสดงข้อมูลเชิงลึกที่รวบรวมจากดัชนีการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ ที่จะเป็นแนวทางในการกำหนดอนาคตทางธุรกิจ ผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืน และปลูกฝังความร่วมมือ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความพยายามของ DMCC ในการสร้างสภาพแวดล้อม ที่เหมาะสมสำหรับความสำเร็จขององค์กร

ในปี 2567 สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นําดัชนีด้วยคะแนน (59%) สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่แข็งแกร่ง ในทุกหมวด โดยที่คะแนนสูงสุดมาจากปัจจัยด้านสินค้าและความแข็งแกร่งของสถาบัน เป็นที่น่าสังเกตว่าสวิตเซอร์แลนด์ ติดอันดับหนึ่งในสามของศูนย์ซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์เป็นครั้งแรก  (46%) มาจากคะแนนของความได้เปรียบของตําแหน่งที่ตั้งประเทศและปัจจัยเชิงสถาบัน กลายเป็นผู้เล่นที่สําคัญในภูมิทัศน์การค้าสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก

ส่วนสิงคโปร์ขยับขึ้นสามอันดับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 4 ด้วยคะแนน (44%) ในขณะที่ฮ่องกงไต่ขึ้นหนึ่งอันดับมาอยู่อันดับที่ 5 ด้วยคะแนน (41%) เนเธอร์แลนด์ (40%) และอังกฤษ (38%) ตกต่ำที่สุดในการจัดอันดับ สาเหตุมาจากการย้ายสำนักงานใหญ่ของบริษัทน้ำมันเชลล์จากเนเธอร์แลนด์ไปที่ประเทศอังกฤษทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากในคะแนนตำแหน่งของเนเธอร์แลนด์ ส่วนประเทศอังกฤษมีผลกระทบจาก Brexit การเพิ่มอัตราภาษีที่จัดเก็บจาก     ประเทศคู่ค้า ภาษีนิติบุคคลที่ค่อนข้างสูงทำให้คะแนนของอังกฤษอ่อนตัวลงไปและส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับ

ประเทศที่ติดอันดับ 3 อันดับสุดท้ายยังคงเหมือนเดิม ได้แก่ จีน (34%) แอฟริกาใต้ (18%) และไนจีเรีย (10%) แม้ว่าประเทศเหล่านี้อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แต่ล้าหลังขาดการสนับสนุนของสถาบันที่มีประสิทธิผลซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเสียเปรียบของที่ตั้งประเทศ

โดยสรุปแล้ว คะแนนดัชนีของศูนย์กลางการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ทั้ง 8 แห่งลดลงและช่องว่างระหว่างศูนย์ที่มีผลงานดีที่สุดและแย่ที่สุดยังคงกว้างขึ้น เน้นย้ำถึงผลกระทบที่สําคัญของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และภาวะเศรษฐกิจมหภาคต่อการค้าโลก

—————————————————————————————-   

thThai