สถานการณ์การส่งออกและนำเข้าของเวียดนาม ปี 2567

ตามสถิติของกรมศุลกากรเวียดนาม มูลค่าการส่งออกของเวียดนามนับถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2567 (ม.ค. – 15 พ.ค.) อยู่ที่ 138,590 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปี 2566 ในขณะที่ มูลค่าการนําเข้าทั้งหมดเป็น 132,230 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 เมื่อเทียบกับปี 2566 คิดเป็นมูลค่าการค้ารวม 270,820 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นมูลค่า 6,360 ล้านเหรียญสหรัฐจากปีที่ผ่านมา

ตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามทั้ง 10 แห่งมีการเติบโตในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน อาเซียน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง อินเดีย แคนาดา และออสเตรเลีย ในบรรดาตลาดเหล่านั้น ตลาดที่ใหญ่ที่สุด 5 แห่งที่มีการเติบโตมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป อาเซียน และฮ่องกง

ดร. Le Quoc Phuong อดีตรองผู้อํานวยการศูนย์ข้อมูลอุตสาหกรรมและการค้า สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (MoIT) กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะถือว่ายังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ มีความผันผวนจากการแข่งขัน และปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์อื่น ๆ แต่ปีนี้คาดว่าการนำเข้าและส่งออกมีแนวโน้มเป็นบวกมากขึ้น ดังนั้นการนําเข้าและส่งออกจึงคาดว่าจะฟื้นตัวเล็กน้อย จากอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในประเทศเศรษฐกิจหลักทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เริ่มปรับตัวลดลง

ธนาคารกลางของหลายประเทศได้หยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว และเป็นไปได้ว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม 2567 ประเทศเศรษฐกิจหลักหลายแห่งจะลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งหมายความว่าในเวลานี้เศรษฐกิจโลกจะเริ่มค่อย ๆ เพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจเวียดนามขึ้นกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างมาก เนื่องจากเป็นประเทศส่งออก ดังนั้นอุปสงค์ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นจะช่วยกระตุ้นการส่งออกและนําเข้าของเวียดนามมากขึ้น

นอกจากนี้ ตลอดปี 2565 และ 2566 เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยากลําบาก ทำให้มีการลดการนำเข้าในหลายประเทศ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่พยายามใช้สต๊อกสินค้าเดิมที่มีอยู่ ส่งผลให้สินค้าคงคลังหมดลงจนต้องนำเข้าอีกครั้ง และผลักดันอุปสงค์ทั่วโลกให้เริ่มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้การส่งออกของเวียดนามในปัจจุบันเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค

การนําเข้าและส่งออกต้องเผชิญกับความยากลําบากมากมาย เนื่องจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก อัตราเงินเฟ้อสูงส่งผลให้คำสั่งซื้อส่งออกลดลง ความขัดแย้งระหว่างประเทศ การเกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลโดยประมาณการของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ในช่วง 5 เดือนสุดท้ายของปี 2567 (ส.ค.- ธ.ค.) มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 156,500 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปี 2566 การส่งออกไปยังตลาดข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ล้วนมีการฟื้นตัวที่ดี

(แหล่งที่มา https://english.vov.vn/ ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม 2567)

วิเคราะห์ผลกระทบ

คาดการณ์การเติบโตส่งออกเวียดนามปี 2567 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (MoIT) คาดว่าการส่งออก ปี 2567 จะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 15,000 ล้านเหรีญสหรัฐจากปี 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้คาดว่าจะมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มวัตถุดิบและส่วนประกอบ สำหรับนำมาผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่งจากสถิติการนำเข้า 5 เดือนแรกปี 2567 เวียดนามมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 จากปีที่ผ่านมา โดยไทยถือแหล่งนำเข้าวัตถุดิบและส่วนประกอบที่สำคัญของเวียดนาม

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

ในช่วงมกราคม – เมษายน 2567 การค้าระหว่างเวียดนามกับไทยมีมูลค่า 6.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเวียดนามส่งออกสินค้าไปไทยมูลค่า 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเวียดนามนำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่า 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ในปี 2567 คาดว่าเวียดนามจะความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและส่วนประกอบเพื่อใช้ผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น ตามคาดการณ์สถานการณ์การส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้  เนื่องจากการอุปสงค์ของตลาดโลกที่เริ่มฟื้นตัว และความต้องการนำเข้าสินค้าของตลาดสำคัญ ทำให้สินค้าในกลุ่มปัจจัยการผลิตของไทยมีโอกาสในการส่งออกมาเวียดนามเพิ่มขึ้น

thThai