อัตราเงินเฟ้อของไนจีเรียเพิ่มระดับสูงสุดในรอบ 28 ปีในเดือนเมษายน 2567

รายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า หมวดหมู่อาหารและเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อมากที่สุดในเดือนเมษายนฯ โดยอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคทั่วไปของไนจีเรียเร่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่ในรอบ 28 ปีในเดือนเมษายนฯ โดยแตะ 33.69% เมื่อเทียบเป็นรายปีซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 33.20% ในเดือนมีนาคมฯ ซึ่งอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในแอฟริกาได้รับแรงกระตุ้นจากการยกเลิกเงินอุดหนุนน้ำมันและไฟฟ้ารวมทั้ง เงินสกุลไนร่าอ่อนค่าลงไปถึงสองเท่า นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายน 2567 ยังสูงกว่าเดือนเมษายน 2566 (ร้อยละ 22.22) อยู่ที่ร้อยละ 11.47 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ยสองครั้งในปีนี้ รวมถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 17 ปี เนื่องจากต้องดิ้นรนเพื่อควบคุมแรงกดดันด้านราคาซึ่งผู้ว่าการธนาคารกลางระบุว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับสูงตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อด้านอาหารคิดเป็นส่วนใหญ่ของตะกร้าเงินเฟ้อ โดยแตะระดับ 40.53% ต่อปีเทียบกับ 40.01% ในเดือนมีนาคมฯ ทั้งนี้ แรงกดดันด้านราคาทำให้ชาวไนจีเรียหลายล้านคนต้องต่อสู้กับวิกฤตค่าครองชีพที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และเพื่อลดแรงกดดันต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประธานาธิบดีได้ประกาศขึ้นเงินเดือนสูงถึง 35% สำหรับข้าราชการ  รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนที่เปราะบาง รัฐบาลได้เริ่มโครงการโอนเงินช่วยเหลือโดยตรงอีกครั้ง และได้แจกจ่ายธัญพืชอย่างน้อย 42,000 ตัน เช่น ข้าวโพด และลูกเดือย เป็นต้น

สำหรับความยากลำบากทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่เพียงแต่ทำให้ชีวิตไม่สบายสำหรับคนรวยเท่านั้นแต่รวมทั้งคนยากจนที่กำลังค่อยๆ ถูกปลดออกจากหลักประกันทางสังคมและเศรษฐกิจเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำอยู่ นอกจากนี้ เมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่ม  สูงขึ้น ผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าแรงงานเด็กจะเพิ่มขึ้นด้วย ตรงกันข้ามกับคำสัญญาว่าจะปล่อยให้คนจนหายใจได้แต่คนจนกำลังหายใจไม่ออกด้วยภาระที่หนักเกินกว่าจะแบกได้ ทั้งนี้ประชากรในสังคมไนจีเรียจำนวนมากประกอบด้วยเยาวชนในกลุ่มอายุตั้งแต่ 0 ถึง 18 ปี ซึ่งในสถานการณ์ปกติจะต้องพึ่งพาพ่อแม่ หรือผู้ปกครองคอยดูแล และจากดัชนีความยากจนหลายมิติปี 2022 ของสำนักงานสถิติแห่งไนจีเรียพบว่า 63 เปอร์เซ็นต์ของชาวไนจีเรีย  (133 ล้านคน) มีฐานะยากจนหลายมิติโดยมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้บุคคลถูกกีดกันซึ่งอัตราเงินเฟ้อทำให้ช่องว่างทางสังคมระหว่างคนรวยกับคนจนกว้างขึ้นอีกโดยทำให้คนจน จนลงและเข้าถึงความสะดวกสบายเล็กๆ น้อยๆ น้อยลง

อนึ่ง ความท้าทายทางเศรษฐกิจของไนจีเรียซึ่งรุนแรงขึ้นจากนโยบายเศรษฐกิจ ความไม่มั่นคงทั่วประเทศและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นได้ผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศอยู่ใน อัตราที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในแอฟริกา โดยที่ตัวเลขปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าไนจีเรียกำลังเผชิญกับความท้าทายที่เลวร้ายยิ่งกว่าประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา โดยอยู่อันดับต้นๆ ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่เลวร้ายที่สุดในแอฟริกา ในรายงานของธนาคารโลกล่าสุดเรื่อง “การจัดการความไม่เท่าเทียมกันเพื่อฟื้นฟูการเติบโตและบรรเทาความยากจน   ในแอฟริกา” ไนจีเรียอยู่ในอันดับที่ 4 ในประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดตามหลังซิมบับเว เซียร์ราลีโอน และมาลาวี ทั้งนี้ แรงกดดันด้านเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องในเศรษฐกิจไนจีเรียยังคงเป็นสาเหตุสำคัญที่น่ากังวลเนื่องจากผลกระทบต่อกำลังซื้อและต้นทุนการดำเนินธุรกิจ

thThai