ท่าทีผ่อนปรนของสหรัฐฯ และโอกาสการริเริ่มธุรกิจ E-Commerce ในคิวบา

เนื้อหาสาระข่าว: ประเด็นที่ถือว่าเป็นที่พูดถึงและจับตาเกี่ยวกับประเทศในทะเลแคริบเบียนในสัปดาห์นี้คงไม่พ้นการประกาศผ่อนปรนท่าทีของสหรัฐฯที่มีต่อประเทศคิวบาด้านการทำธุรกรรมทางการเงิน สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมารัฐบาลไบเดนโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้ประกาศการยกเลิกการขึ้นบัญชีประเทศคิวบาในรายชื่อประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือการต่อต้านการก่อการร้าย (List of Countries Not Cooperating Fully Against Terrorism) ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯจะจัดทำขึ้นทุกปี โดยปีนี้เป็นปีแรกที่สหรัฐฯนำชื่อประเทศคิวบาออกจากบัญชีดังกล่าว ซึ่งได้ให้เหตุผลว่าบริบทในการกล่าวหาคิวบาว่ามีท่าทีไม่ให้ความร่วมมือการต่อต้านการก่อการร้ายนั้นเปลี่ยนไปจากช่วงปี 2022-2023  โดยสหรัฐฯและคิวบาได้สานต่อความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายในปี 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงกฎหมายการต่อต้านการก่อการร้ายด้วย เป็นที่มาของการพิจารณาเพิกถอนคิวบาออกจากบัญชีรายชื่อดังกล่าว และได้นำมาสู่การผ่อนปรนมาตรการทางการเงินต่อคิวบา โดยทางการสหรัฐฯได้อนุญาตให้ภาคธุรกิจเอกชนสัญชาติคิวบาสามารถเปิดบัญชีธนาคารในสหรัฐฯได้ภายใต้เงื่อนไขที่รัดกุมในระดับหนึ่ง

แม้ว่าในข้างต้นจะได้กล่าวถึงไปว่าทางการสหรัฐฯได้เพิกถอนคิวบาออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือการต่อต้านการก่อการร้ายแล้ว แต่ทว่าคิวบายังคงอยู่ในรายชื่อบัญชีอีกบัญชีหนึ่งที่อาจกล่าวได้ว่าร้ายแรงกว่าก็คือบัญชีรายชื่อประเทศที่สนับสนุนการก่อการร้าย (List of State Sponsors of Terrorism) ซึ่งคิวบาได้ถูกขึ้นบัญชีไว้ตั้งแต่ปี 2021 ในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ จึงทำให้แม้ว่าการที่ทางการสหรัฐฯผ่อนปรนให้ภาคธุรกิจสัญชาติคิวบาสามารถเปิดบัญชีธนาคารในสหรัฐฯได้แล้วนั้น ก็ยังคงตามมาพร้อมเงื่อนไขที่พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์คิวบาเลย ได้แก่ ภาคธุรกิจใดที่ครอบครองโดย หรือมีความเป็นเจ้าของเกี่ยวข้องกับบุคคลในบัญชีรายชื่อของกระทรวงการคลังสหรัฐฯว่าด้วยบุคคลต้องห้ามของรัฐบาลคิวบา ซึ่งประกอบไปด้วยคณะบุคคลในส่วนต่าง ๆ ของรัฐบาลคิวบา จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการผ่อนปรนมาตรการครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ที่อยู่เบื้องหลังการผ่อนปรนครั้งนี้รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดน ได้รับการเปิดเผยจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงว่าทางการสหรัฐฯนั้นต้องการทำให้แน่ใจว่าภาคธุรกิจเอกชนของคิวบานั้นเติบโตแพร่ขยายเป็นวงกว้าง เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถพึ่งพาหาเลี้ยงตัวเองได้มากขึ้น และเพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับชาวคิวบา ซึ่งจะช่วยลดการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวคิวบามายังสหรัฐฯในอีกทางหนึ่งด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจเป็นพิเศษที่มาจากการผ่อนปรนมาตรการทางการเงินครั้งนี้ของสหรัฐฯต่อคิวบา นอกจากจะเป็นเรื่องการอนุญาตให้เปิดบัญชีธนาคารในสหรัฐฯแล้ว ยังได้อนุญาตให้มีการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบออนไลน์ (Online Payment Platform) อีกด้วย โดยสิ่งที่มาพร้อมกับการผ่อนปรนมาตรการทางการเงินครั้งนี้ ที่ดูเหมือนว่าจะตั้งใจทำให้เป็นแพคเกจมาพร้อมกัน คือทางการสหรัฐฯได้อนุญาตให้บริษัทผู้ให้บริการระบบอินเตอร์เน็ต ระบบสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ระบบการประชุมทางไกล ระบบการศึกษาออนไลน์ ระบบการแปลภาษาอัตโนมัติ การให้บริการทางระบบไอที และระบบให้บริการ Cloud แก่ภาคธุรกิจเอกชน นอกจากนี้กระทรวงการคลังสหรัฐฯทำการยกเลิกข้อห้ามในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างธนาคารในสหรัฐฯกับคิวบา และธนาคารในประเทศที่สาม หรือที่เรียกว่า U-Turn Transactions เพื่อเปิดทางการทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศของคิวบา แต่ยังคงหลีกเลี่ยงธุรกรรมทางการเงินทางตรงระหว่างสหรัฐฯ-คิวบา

โดยในประเด็นดังกล่าวคุณ John Kavulich ประธานสภาการค้าและเศรษฐกิจสหรัฐฯ (U.S. – Trade and Economic Council) ได้ให้ข้อสังเกตว่า จากการผ่อนปรนมาตรการในการอนุญาตให้ภาคธุรกิจเอกชนคิวบาสามารถเปิดบัญชีในธนาคารสหรัฐฯได้ ก็จะส่งผลให้นักธุรกิจคิวบาสามารถเข้าถึงบัญชีธนาคารได้ผ่านระบบออนไลน์จากประเทศคิวบา และสามารถทำธุรกรรมทางการเงินกับคู่ค้าได้ หรือแม้แต่จะทำธุรกรรมทางการเงินไปยังธนาคารในประเทศที่สามกับคู่ค้าผ่านธนาคารในสหรัฐฯก็สามารถทำได้ ซึ่งบริบทนี้ถือว่าเป็นคุณูปการที่รัฐบาลไบเดนได้เสริมโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจให้กับภาคเอกชนคิวบา ซึ่งในอนาคตหากบริษัทในสหรัฐฯเล็งเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจและการค้าจากตรงนี้ ก็จะสามารถเอื้อให้เกิดธุรกิจร้านค้าออนไลน์จากคิวบา ที่สามารถซื้อขายกันผ่านระบบออนไลน์ได้ผ่านธนาคารในสหรัฐฯ ซึ่งการที่ภาคธุรกิจของคิวบาสามารถเปิดบัญชีธนาคารในสหรัฐฯได้นั้น เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือทางธุรกิจได้อย่างดีเลยทีเดียว ซึ่งทั้งหมดอาจกล่าวได้ว่าเป็นการปูทางไปสู่ธุรกิจ E-Commerce ในคิวบา

ท่าทีที่ผ่อนปรนของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายมองว่าอาจเป็นการปูทางไปสู่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Embargo) คิวบาที่ดำเนินมาต่อเนื่องยาวนานอย่างเต็มรูปแบบหรือในระดับที่มากขึ้นในอนาคต เฉกเช่นเดียวกับที่เคยดำเนินการมาแล้วในสมัยประธานาธิบดีโอบามา เนื่องจากมีนักวิเคราะห์บางส่วนได้ตั้งข้อสังเกตถึงท่าทีในภาพรวมของรัฐบาลไบเดนต่อคิวบาที่ผ่อนปรนและเป็นมิตรมากขึ้นทีละเล็กละน้อยซึ่งมาหลายปัจจัยและเหตุการณ์ทางบ่งชี้มาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การจะอ่านท่าทีของสหรัฐฯที่มีต่อคิวบาในระยะยาวคงจะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

บทวิเคราะห์ และ ข้อเสนอแนะ: ประเทศคิวบานับว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่อยู่ในเขตอาณาของสคต. ณ เมืองไมอามี ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่ใช่ประเทศที่มีกำลังซื้อสินค้าหรือศักยภาพทางเศรษฐกิจเป็นที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับบางประเทศในหมู่เกาะแคริบเบียน แต่ก็นับได้ว่าเป็นประเทศและเชื้อชาติที่มีอิทธิพลทางสังคมมากพอสมควรเลยทีเดียว เนื่องจากคิวบามีประชากรมากกว่า 11 ล้านคน มากเป็นอันดับที่สามในหมู่เกาะแครริบเบียนทั้งหมด โดยห่างจากสองอันดับแรกเพียงหลักแสนเท่านั้น และที่สำคัญมากไปกว่านั้นในรัฐฟลอริดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางตอนใต้ของรัฐในเขตเมืองไมอามีนั้น ผู้มีเชื้อสายคิวบาถือว่าเป็นกลุ่มประชากรที่มากที่สุดในบรรดากลุ่มลาติโน่หรือฮิสแปนิกด้วยกัน (ประมาณร้อยละ 46) ดังนั้น หากในอนาคตการดำเนินธุรกิจ E-Commerce ของชาวคิวบาสามารถกระทำได้สะดวกขึ้นจากการผ่อนปรนมาตรการครั้งนี้ และอื่น ๆ ในอนาคต นั้นหมายถึงโอกาสทางธุรกิจ E-Commerce ในประเทศใหญ่ประเทศหนึ่งในแคริบเบียนได้ถูกริเริ่มขึ้น ที่แม้ว่ายังคงมีข้อจำกัดทางเทคนิคอยู่บ้างในปัจจุบัน แต่ก็ถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
ที่มา: Miami Herald
เรื่อง: “Cuba’s Entrepreneurs could open U.S. bank accounts soon. Here’s how it would work.”
โดย: Nora Gamez Torres
สคต. ณ เมืองไมอามี/วันที่ 29 พฤษภาคม 2567

thThai