“ผู้ผลิตขนมสแน็ก เพิ่มกำลังการผลิต” เพื่อตอบสนองมูลค่าตลาด 6 แสนล้านเยน

        บริษัทผู้ผลิตขนมสแน็กกำลังเร่งเพิ่มความสามารถในการผลิต เนื่องจากขนมสแน็กได้รับความนิยม จากรายงานของสมาคมขนมแห่งประเทศญี่ปุ่น (ALL NIPPON KASHI ASSOCIATION) พบว่า มูลค่าจำหน่ายปลีกขนมสแน็กปี 2566 เท่ากับ 530,400 ล้านเยน (ประมาณ 125,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 จากปีก่อนและเป็นครั้งแรกที่มูลค่าสูงกว่า 500,000 ล้านเยน และช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2567 มูลค่าการจำหน่ายปลีกเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 10 หากปี 2567 มีมูลค่ายอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นทั้งปีเท่ากับร้อยละ 10 ก็จะทำให้ตลาดขนมสแน็กมีมูลค่าทะลุ 600,000 ล้านเยน (ประมาณ 140,000 ล้านบาท) จากรายงานของสมาคม JAPAN SNACK CEREAL FOODS ASSOCIATION พบว่า จำนวนการผลิตขนมสแน็กเมื่อเทียบปี 2547 และ ปี 2566 จำนวนการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.7 ทำให้ผู้ผลิตขนมสแน็กมีความกังวลในการจัดส่งสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงเพิ่มการลงทุนด้านการผลิตเพื่อเสริมสร้างระบบการผลิตให้สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้
                   ระหว่างปี 2547 ถึงปี 2566 มีบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่เพียง 2 บริษัท (KOIKE-YA Inc. และ Tohato, Inc.) ที่ก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่และก่อสร้างอาคารผลิตหลังใหม่ โดยในปี 2548 บริษัท KOIKE-YA Inc. ได้สร้างโรงงานผลิตขนมมันฝรั่งทอดกรอบโดยเฉพาะที่จังหวัดไซทามะ นอกจากนี้ โรงงานในจังหวัดฮอกไกโดก็ได้เริ่มผลิตสินค้าในปี 2552  และโรงงานทางภาคใต้ก็ได้เริ่มผลิตสินค้าในปี 2564 เช่นกัน ส่งผลให้ผลประกอบการไตรมาสนี้ของบริษัท ทั้งยอดจำหน่ายและผลกำไรมีแนวโน้มสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างมาก และเพื่อการเติบโตยิ่งขึ้นบริษัทจึงเร่งเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้าอย่างเต็มกำลัง บริษัทยังได้สร้างโรงงานแห่งใหม่ในภาคกลางซึ่งเป็นโรงงานแรกในภูมิภาคนี้ และประกาศว่าจะเริ่มผลิตสินค้าได้ในปี 2568
                       สำหรับบริษัท Tohato, Inc. ปี 2564 บริษัทได้สร้างอาคารผลิตหลังใหม่ภายในโรงงานที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคคันโต และผลประกอบการกลุ่มสินค้าสแน็กของบริษัทมีแนวโน้มเติบโตเนื่องจากบริษัทสามารถสร้างความแตกต่างของสินค้าและการตลาดที่ตรงกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค และสำหรับอาคารผลิตหลังใหม่ บริษัทตั้งใจผลิตขนมที่กำลังได้รับความนิยมและมียอดจำหน่ายขยายตัว นอกจาก 2 บริษัทข้างต้นแล้ว บริษัท Calbee ผู้ผลิตขนมรายใหญ่ ได้สร้างโรงงานแห่งใหม่ในจังหวัดฮิโรชิมะและมีแผนเริ่มผลิตในปีนี้ และในปี 2572 โรงงานแห่งใหม่ซึ่งเป็นโรงงานที่จะมีพื้นที่กว้างที่สุดก็จะแล้วเสร็จและเริ่มผลิตในเดือนมีนาคม
                              ในต่างประเทศ ก็มีการเพิ่มปริมาณการผลิตเช่นกัน บริษัท Kellanova ผู้ผลิตสินค้าอาหารรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้สร้างโรงงานแห่งใหม่ในจังหวัดชลบุรี ประเทศไทย เพื่อผลิตขนมยี่ห้อ Pringles และประกาศเริ่มผลิตภายใน 2 ปี บริษัทได้สร้างโรงงานในประเทศมาเลเซียในปี 2558 เพื่อเป็นฐานผลิตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นการย้ายการผลิตจากโรงงานในสหรัฐอเมริกาเพื่อจัดส่งสินค้าในภูมิภาคนี้ บริษัทตั้งโรงงานผลิตในประเทศมาเลเซียมาเป็นเวลา 10 ปีแล้วและตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็เติบโตขึ้น บริษัทให้ความเห็นว่า Pringles ได้รับความนิยมจากประเทศอื่นๆด้วยไม่จำกัดเฉพาะประเทศญี่ปุ่น แต่ประสบปัญหาเรื่องระบบการจัดส่งสินค้า บริษัทจึงได้สร้างโรงงานแห่งใหม่ในประเทศไทยเพื่อเสริมสร้างความแข่งแกร่งของระบบห่วงโซอุปทาน (Supply Chain) เพื่อเร่งการเติบโตของแบรนด์ Pringles
บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
          ตลาดขนมสแน็กที่เติบโตทำให้ผู้ผลิตต้องเร่งเพิ่มกำลังการผลิต การขยายตัวของการบริโภคสินค้าทำให้ผู้ผลิตต้องเพิ่มการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด การเพิ่มปริมาณการผลิตนั่นหมายถึง การเพิ่มปริมาณวัตถุดิบที่ต้องใช้ในการผลิตซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศด้วยเช่นกัน เช่น บริษัท Calbee ผู้ผลิตมันฝรั่งทอด ใช้วัตถุดิบมันฝรั่งในประเทศเป็นหลักและหากผลผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอก็จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น หากตลาดขนมสแน็กเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้ผลิตย่อมต้องหาวัตถุดิบเพิ่มเพื่อใช้ในการผลิต ซึ่งอาจจำเป็นต้องมีการมองหาวัตถุดิบจากแหล่งใหม่ๆ จึงเป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทยที่มีการส่งออกวัตถุดิบเพื่อผลิตขนมสแน็ก
ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.    
         ตลาดขนมสแน็กของประเทศญี่ปุ่นที่เติบโต นอกจากจะเป็นโอกาสของผู้ส่งออกวัตถุดิบแล้ว ยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตขนมสแน็กของไทย ซึ่งจากการเข้าร่วมงาน FOODEX 2024 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สังเกตเห็นได้ว่า มีผู้ซื้อให้ความสนใจสั่งซื้อและสั่งผลิตขนมสแน็กในรูปแบบ OEM ขนมสแน็กที่มีผู้ซื้อสอบถามกันมาก ได้แก่ หัวกุ้งทอด และยังมีขนมสแน็กอื่นๆ เช่น ขาไก่ ที่กำลังจะวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
อ้างอิงจาก
หนังสือพิมพ์ The Japan Food Journal
ฉบับวันที่  8 พฤษภาคม 2567
ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์
https://news.nissyoku.co.jp/news/aoyagi20240430121814449
thThai