ตอบรับไลฟ์สไตล์การรับประทานอาหารที่เปลี่ยนแปลง
ผู้ค้าปลีกอาหารในญี่ปุ่นกำลังมองหาสินค้าที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในการรับประทานขนมขบเคี้ยวและของว่าง เพราะปัจจุบันถูกมองว่าไม่ได้เป็นเพียงอาหารเสริมระหว่างมื้อ แต่ยังถูกมองว่าเป็นอาหารทดแทนมื้อใดมื้อหนึ่งในสามมื้อได้ ทำให้โอกาสทางการค้าของขนมขบเคี้ยวและของว่างขยายตัวมากขึ้น
แม้ว่าอาหารสามมื้อหลักและของว่างนั้นยากที่จะแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน แต่จากผลการสำรวจของสมาคมขนมหวานแห่งประเทศญี่ปุ่นโดยดูจากสถิติขนมขบเคี้ยวพบว่า ภายหลังจากปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ตลาดมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มียอดจำหน่ายปลีกเป็นมูลค่าประมาณ 3.6 ล้านล้านเยน (ประมาณ 8.4 แสนล้านบาท) ซึ่งสูงกว่าปี 2562 หรือยุคก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ประมาณร้อยละ 7
และในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นั้น ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างพัฒนาสินค้าขนมหวานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นขนมโดนัท ทาร์ต พุดดิ้ง ฯลฯ โดยชูจุดขายความเป็น Home made และขยายประเภทสินค้าเพื่อสนองความต้องการการรับประทานของว่างของผู้บริโภค
สำหรับร้านสะดวกซื้อ “ของว่าง” เป็นโอกาสการรับประทานที่สำคัญ ภายหลังการยกเลิกมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในปี 2566 ยอดจำหน่ายสินค้าประเภทไอศกรีมและขนมของบริษัท SEVEN-ELEVEN JAPAN CO., LTD. ขยายตัวแบบ 2 หลัก (มากกว่าร้อยละ 10) ตลอดทั้งปี ซึ่งหนึ่งในจุดประสงค์ของผู้บริโภคที่มาร้านสะดวกซื้อคือเพื่อหาซื้อขนมรับประทาน ร้านสะดวกซื้อแต่ละบริษัทจึงพยายามนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ เพื่อค้นหาสินค้ายอดฮิต
บริษัท Aeon Group ได้ปักหมุดให้การขยายตลาดสินค้าประเภทของว่างเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของสินค้า Private Brand ในปีนี้ ซึ่งจะเน้นการดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่ก็ยังมีขนมขบเคี้ยวและของว่างอื่นๆ เช่น ผักอัดแท่ง ช็อกโกแล็ตลดน้ำตาล ถั่ว ฯลฯ เพื่อสามารถครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคได้หลายกลุ่ม
เช่นเดียวกับซีรีส์ขนมข้าวใหม่ของบริษัท Ryohin Keikaku (MUJI) ที่มีการรวมมุมมองของ SDGs ไว้ในการรับประทานของว่าง โดยมีเจตนาที่จะใช้ทรัพยากรอาหารภายในประเทศอย่างคุ้มค่า โดยผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ถูกนำเสนอเพื่อแสดงแนวคิดและเอกลักษณ์ของบริษัท Ryohin Keikaku (MUJI) อย่างแท้จริง
ความต้องการบริโภคขนมขบเคี้ยวและของว่าง ไม่ได้เป็นเพียงเพื่อการรับประทานให้อิ่มท้องเท่านั้น แต่ยังเพื่อเสริมโปรตีน เส้นใยอาหาร ฯลฯ ที่อาจไม่สามารถรับประทานได้อย่างเพียงพอจากอาหารสามมื้อหลัก หรืออาจเป็นการรับประทานเพื่อทดแทนอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง และหากมองด้านการบริโภคแคลอรี่ การรับประทานของว่างก็ถือว่าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า ท่ามกลางสภาวะเงินเฟ้อ สไตล์การประหยัดโดยการรับประทานขนมเพื่อชดเชยส่วนที่ไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหารนั้นดูเหมือนเกิดขึ้นทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ
นอกจากนั้น สไตล์การทำงานที่มีความหลากหลายมากขึ้นยังส่งผลต่อสไตล์การรับประทานอาหารของแต่ละบุคคลด้วย ซึ่งที่ผ่านมาการไม่รับประทานอาหารเช้าหรือเลือกรับประทานแบบง่ายๆ ถือเป็นเรื่องปกติ ปัจจุบัน มีผู้บริโภคที่เลือกรับประทานของว่างแทนอาหารมื้อหลัก โดยเห็นว่าเป็นการใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากคำนึงถึงสมดุลของสารอาหารแล้ว การรับประทานของว่างก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีก็เป็นได้ และหากเป็นเช่นนั้น “ของว่าง” คงไม่ได้จำกัดเฉพาะขนมขบเคี้ยวหรือของหวาน แต่อาจรวมถึง ผักผลไม้ หรือสิ่งที่ใกล้เคียงกับการรับประทานอาหารมื้อเบาๆ
แม้ผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่มองว่า การรับประทานของว่างหรือรับประทานแบบง่ายๆ นั้น เป็นการใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การคิดทบทวนการรับประทานอาหารเพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์โดยไม่ยึดติดกับการรับประทานอาหารสามมื้อหลักเกิดขึ้นในผู้บริโภคหลายกลุ่ม เพราะเป็นการเพิ่มอิสระในการเลือกรับประทานอาหาร ทำให้ “ของว่าง” ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกที่แฝงอยู่กำลังเป็นที่จับตามองของบริษัทต่างๆ ในตลาดญี่ปุ่น
บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ในขณะที่ไลฟ์สไตล์ของชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไป แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงใส่ใจต่อสุขภาพและให้ความสำคัญกับการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ปัจจัยสำคัญในการเลือกรับประทานอาหารจึงประกอบด้วย เป็นอาหารที่รับประทานได้รวดเร็วไม่ใช้เวลามาก รสชาติอร่อย คุณภาพดี มีสารอาหารเพียงพอต่อร่างกาย และราคาไม่แพงเกินไป
สินค้าอีกประเภทหนึ่งที่กำลังมาแรงในตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเรียกได้ว่าอาจเป็นจุดเปลี่ยนของตลาดอาหารในญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ คือ “Kanzenshoku” หรือแปลตรงตัวว่า “อาหารสมบูรณ์แบบ (perfect meal)” เป็นอาหารที่มีสารอาหารที่ร่างกายต้องการต่อวันเกือบครบถ้วน ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในวัยทำงานและวัยรุ่น จากผลการสำรวจโดย Fuji Economics คาดว่าในปี 2567 ขนาดของตลาดสินค้าอาหารสำหรับผู้ควบคุมน้ำหนัก รวมถึงอาหารสมบูรณ์แบบดังกล่าว จะขยายตัวเป็นกว่า 29,100 ล้านเยน (ประมาณ 5,040 ล้านบาท) หรือขยายตัวราว 20 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีมูลค่า 1,400 ล้านเยน (ประมาณ 336 ล้านบาท) ประเภทของอาหารก็มีความหลากหลาย เช่น ขนมปัง ข้าว อาหารเส้น สมูทตี้ ซุป และเยลลี่ เป็นต้น การเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะทำได้ต้องมีการศึกษาข้อมูลทางโภชนาการอาหารอย่างถูกต้อง ผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการ และรักษาคุณภาพของสินค้าให้ดีอย่างต่อเนื่อง
ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.
แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศกว่าร้อยละ 30 ของความต้องการบริโภคทั้งหมด แต่ปัญหาที่พบในปัจจุบันคือค่าเงินเยนที่อ่อนลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 35 ปี ทำให้ต้องพยายามลดต้นทุนที่เกิดจากการนำเข้าอาหาร เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อรายจ่ายของผู้บริโภคมากจนเกินไป แม้กระนั้นก็ตามค่าครองชีพยังค่อยๆ สูงขึ้นจากนโยบายด้านการเงินการคลังของรัฐบาล ผู้บริโภคจึงต้องคิดหาวิธีประหยัดค่าใช้จ่ายในหลายๆ ด้าน ซึ่งวิธีหนึ่งคือการหันมาสนใจขนมขบเคี้ยว ของว่าง หรืออาหารที่มีสารอาหารเกือบครบถ้วนที่มีราคาประมาณ 1 ใน 3 ของอาหารมื้อหลัก ผู้บริโภคในญี่ปุ่นเชื่อว่าการรับประทานอาหารดังกล่าวนอกจากจะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยรักษาสุขภาพอีกด้วย อย่างไรก็ดี การผลิตสินค้าใหม่ที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคอาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ประกอบการไทย ดังนั้น จึงอาจพิจารณาสินค้าของตนว่ามีคุณค่าทางโภชนาการอย่างไรบ้าง และติดฉลากแสดงให้ถูกต้อง เพื่อสร้างทางเลือกให้ผู้นำเข้าในญี่ปุ่นได้ใช้ประโยชน์จากกระแสความนิยมดังกล่าว
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
อ้างอิงจาก
หนังสือพิมพ์ The Japan Food Journal ฉบับวันที่ 20 พฤษภาคม 2567
หนังสือพิมพ์ The Japan Food Journal ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2567
ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์
https://news.nissyoku.co.jp/news/miyagawa20240510040813935
https://shop.basefood.co.jp/products/basebread/chocolate