หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) กับการขนส่งสินค้าจากไทยมาจีน

(แหล่งที่มา https://www.rfa.org/english/news/special/one-belt-one-road/)

 

ภาพรวมโครงการ Belt and Road Initiative (BRI)

โครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน ที่ริเริ่มตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งมีเป้าหมายใน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเร่งพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ ทำให้เกิดการเชิื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่ง สร้างโอกาสทางการค้า กระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มช่องทางและโอกาสในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ

เส้นทางรถไฟลาวจีน (ทางราง)

เส้นทางรถไฟลาว – จีน เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เป็นโครงการสำคัญของนโยบายข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ที่เชื่อมจากนครคุนหมิง มาที่เมืองบ่อเต็น สปป.ลาว และมีจุดหมายปลายทางที่นครหลวงเวียงจันทร์ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อประเทศไทยได้ที่สถานีรถไฟหนองคาย (ห่างจากเวียงจันทน์ 24 กิโลเมตร) โดยเส้นทางรถไฟสายลาว – จีน สามารถลำเลียงสินค้าจากทั่วประเทศของไทย โดยลำเลียงสินค้าจากกรุงเทพฯ แหลมฉบัง หรือสถานีต้นทางอื่นๆ ไปยังจังหวัดหนองคาย แล้วผ่านสปป. ลาว เพื่อที่จะเปลี่ยนถ่ายรางรถไฟ (จากรางความกว้าง 1 เมตร เป็นรางมาตรฐานที่มีความกว้าง 1.435 เมตร) แล้วจึงใช้เส้นทางรถไฟสายลาว – จีน จากนครหลวงเวียงจันทร์ ไปยังจุดหมายปลายทางที่   นครคุนหมิง และกระจายสินค้าที่ลำเลียงมาไปยังเมืองต่างๆ ของจีน ไม่ว่าจะเป็นนครเฉิงตู นครอู่ฮั่น นครซีอาน เป็นต้น อีกทั้ง เส้นทางรถไฟสายนี้ยังสามารถเชื่อมโยงกับการขนส่งสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ โดยผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปได้อีกด้วย

การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation)

               การขนส่งจากไทยไปจีน นอกจากสามารถดำเนินการผ่านทางบก ทางทะเล และทางอากาศแล้ว ยังสามารถใช้รูปแบบ “การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นการนำรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกัน 2 รูปแบบขึ้นไปมารวมกัน เช่น การขนส่งทางเรือ + รถไฟ / ทางรถไฟ + รถยนต์  ปัจจุบันรัฐบาลจีนได้พัฒนาโครงการ “ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” หรือ ILSTC (New International Land and Sea Trade Corridor) ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ระดับชาติในการพัฒนาความเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งของจีน โดยได้รับการบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ค.ศ. 2021-2025) เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อกับโครงการ BRI (ข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมทางภาคเหนือ และเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 ทางตอนใต้) รวมถึงเส้นทางเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี และสามารถเชื่อมต่อกับไทยและอาเซียนทางเรือผ่านท่าเรือชินโจว

โครงการ ILSTC เน้นให้บริการขนส่งสินค้าที่มีโมเดลการขนส่งรูปแบบ “ทางเรือ + ทางราง” เป็นหลัก กล่าวคือ เมื่อสินค้าถูกจัดส่งถึงกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (ชินโจว ฝ่างเฉิงก่าง เป๋ยไห่) เขตปกครอตนเองกว่างซีจ้วงแล้ว จากนั้นจะเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งเป็นทางราง เพื่อกระจายสินค้าไปยังหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศจีน โดยเฉพาะหัวเมืองเศรษฐกิจในจีนตะวันตก เช่น นครฉงชิ่ง นครเฉิงตู และสามารถเชื่อมโยงโครงข่าย China-Europe Railway เพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป

หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) กับการขนส่งสินค้าจากไทยมาจีน

ทั้งนี้ ท่าเรือชินโจว (Qinzhou Port) ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง รอบอ่าวเป่ยปู้ มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นศูนย์กลาง (Hub) ที่เชื่อมระบบการขนส่งทางเรือและรถไฟ การขนส่งสินค้าที่ท่าเรือชินโจวสามารถดำเนินการ “แบบไร้รอยต่อ” ระหว่าง “เรือกับรถไฟ” ทำให้สามารถขนย้ายตู้สินค้าจากเรือขึ้นรถไฟเพื่อส่งไปยังพื้นที่ตอนในของจีน พร้อมขนย้ายตู้สินค้าจากพื้นที่ตอนในของจีนจากทางรถไฟเพื่อขึ้นเรือที่ท่าเรือชินโจวได้โดยตรง นอกจากนี้ เมืองชินโจวมีระยะทางที่ใกล้กับไทย มีความสะดวกรวดเร็ว การขนส่งจึงใช้เวลาขนส่งสั้นลง ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขนส่งสินค้าเข้าสู่จีน

การพัฒนาโครงการ ILSTC ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งจากไทยมายังจีน โดยผู้ประกอบการไทยสามารถส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบัง หรือ ท่าเรือกรุงเทพฯ ไปยังท่าเรือชินโจว แล้วส่งต่อทางรถไฟจากท่าเรือชินโจวเข้าสู่นครฉงชิ่ง ใช้ระยะเวลาการขนส่งราว 7 – 8 วัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

รูปแบบทางเรือ รูปแบบทางราง
ต้นทาง ปลายทาง ระยะเวลา ต้นทาง ปลายทาง ระยะเวลา
ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือชินโจว 6 วัน สถานี
ท่าเรือชินโจว
นครฉงชิ่ง 2 วัน
ท่าเรือกรุงเทพฯ ท่าเรือชินโจว 5 วัน

เมื่อสินค้าถูกจัดส่งถึงกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (ชินโจว ฝ่างเฉิงก่าง เป๋ยไห่) เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงแล้ว จะแยกกระจายสู่เส้นทาง 3 สายหลักไปยังตลาดจีนตะวันตก ดังนี้

  • จากกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ผ่านนครหนานหนิง เขตปกครองตนเอง กว่างซีจ้วง และนคร กุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว ไปจนถึงนครฉงชิ่ง
  • จากกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ผ่านเมืองหลิวโจว เขตปกครองตนเอง กว่างซีจ้วง และเมืองหวยหัว มณฑลหูหนาน ไปจนถึงนครฉงชิ่ง
  • จากกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ผ่านเมืองไป่เซ่อ เขตปกครองตนเอง กว่างซีจ้วง และเมืองหลูโจว มณฑลเสฉวน ไปจนถึงนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน

การขนส่งสินค้า “เรือ+ราง” มีเส้นทางการขนส่งครอบคลุมมณฑลในภาคกลางและภาคตะวันตกของจีน โดยมี Hub สำคัญ 4 แห่ง ในเมืองหลัก ได้แก่

(1) นครฉงชิ่ง (ศูนย์กลางดำเนินโครงการ ILSTC) โดยสถานีขาเข้าและขาออกของนครฉงชิ่งที่รองรับสินค้าจากท่าเรือชินโจว ได้แก่ Tuanjiecun (ถวนเจี๋ยชุน), Xiaonanya (เสี่ยวหนานหย้า), Yuzui (หยูจุ่ย), Fuling (ฟูหลิง), Changshou (ฉางโช่ว)

(2) เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้)

(3) นครเฉิงตู (ศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์สำคัญของจีน)

(4) มณฑลไหหลำ (ท่าเรือศูนย์กลางตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างประเทศ) โดยสามารถกระจายสินค้าต่อไปยังพื้นที่ตอนในอื่นๆของจีน ครอบคลุมมณฑลกานซู่ มณฑลชิงไห่ มณฑลส่านซี เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน และเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

รัฐบาลนครฉงชิ่งตั้งเป้าหมายการดำเนินงานของโครงการ ILSTC ภายในปี 2570 ภายใต้ “แผนปฏิบัติการเร่งการก่อสร้างโครงการ New International Land and Sea Trade Corridor ระยะเวลา 5 ปีของนครฉงชิ่ง (พ.ศ. 2566-2570)” โดยมีสาระสำคัญ คือ ภายในปี 2570 จะมีการขยายความสามารถในการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทาง ILSTC เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ร้อยละ 20 และลดระยะเวลาดำเนินการด้านโลจิสติกส์ร้อยละ 30 รวมทั้งตั้งเป้าให้เกิดสัดส่วนของมูลค่าการค้าระหว่างนครฉงชิ่งกับกลุ่มประเทศอาเซียน โดยผ่านเส้นทาง ILSTC มีเสถียรภาพมากกว่าร้อยละ 70 ในอีกภายใน 3 ปีข้างหน้า

 

 ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู

เส้นทางรถไฟลาว-จีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) มีความสำคัญต่อการขนส่งผลไม้ไทยเข้าสู่จีน โดยก่อนหน้านี้ การขนส่งผลไม้ไทยจะใช้ 2 ช่องทางหลัก คือ ทางเรือ และทางบก ซึ่งหากเลือกใช้วิธีการขนส่งผลไม้ทางเรือไปยังท่าเรือของจีนก่อน แล้วค่อยจัดส่งผลไม้ไปยังนครเฉิงตู/นครฉงชิ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนในของจีน จะใช้เวลาประมาณ 10 วัน ซึ่งมีผลต่อความสดใหม่และอายุของสินค้า เพราะผลไม้สามารถเน่าเสียง่าย ขณะเดียวกัน หากเลือกใช้วิธีการขนส่งผลไม้ทางบก แม้ว่าจะใช้ระยะเวลาที่เร็วกว่า แต่ต้นทุนการขนส่งจะเพิ่มสูงขึ้น และผลไม้อาจเกิดความเสียหายได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ระบบการขนส่งผลไม้ไทยไปยังนครเฉิงตู – นครฉงชิ่งได้พัฒนาและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมาก โดยสามารถขนส่งผ่านระบบห่วงโซ่ความเย็น (Cold Chain Logistics) ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาคุณภาพสินค้าตลอดเส้นทางการขนส่งของรถไฟลาว-จีน โดยใช้เวลาขนส่งเพียง 4 วัน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถติดตามสถานะการขนส่งผลไม้ได้แบบเรียลไทม์

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า เส้นทางรถไฟ ลาว-จีน ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเส้นทางภายใต้โครงการ BRI ในการมีช่องทางการขนส่งเป็นตัวเลือกเพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มความสะดวกและลดต้นทุนสำหรับผู้ประกอบการไทยให้สามารถส่งออกสินค้าไปยังหลายมณฑลของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันตกและภาคกลางตอนล่างที่มีศักยภาพในการขยายตลาดสินค้าไทย

 

————————————————–

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

 มิถุนายน 2567

 

thThai