“ขณะนี้เรากำลังอยู่ในช่วงขาลงของอุตสาหกรรมเยอรมันจริงหรือไม่” นับว่าเป็นประเด็นที่ชวนขบคิด แต่นาย Frank Heinricht เจ้าของบริษัท Schott ผู้ผลิตกระจกชนิดพิเศษ กลับออกมาแสดงความมั่นใจว่า ความต้องการสินค้าของบริษัทฯ ยังคงเพิ่มขึ้นและไม่มีแนวโน้มที่จะชะงักงัน ความต้องการกลาสเซรามิก (Glass-Ceramics) สำหรับทำเตาไฟฟ้ามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามมาด้วยแก้วชนิดพิเศษสำหรับใช้เป็นหลอดฉีดยาในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และเมื่อตลาดได้อิ่มตัวลง แนวโน้มความต้องการใหม่ก็เริ่มปรากฏ ด้านนาย Heinricht คาดว่า บริษัทฯ จะกลายเป็นเจ้าแรก ๆ ที่ผลิตแว่นตาพิเศษสำหรับเซมิ-คอนดักเตอร์ (ชิป) และแว่นตาที่ใช้เทคโนโลยี AR (AR – Augmented Reality ในอนาคต “ซึ่งนี่คือนวัตกรรมที่ตอนนี้เรายังมองไม่เห็นในเชิงมูลค่าอย่างชัดเจน” Schott นับเป็นตัวอย่างที่ทำให้เรารู้ว่าทุกวันนี้ อุตสาหกรรมของเยอรมนียังคงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ดีที่สุดในโลกอยู่

 

ซึ่งจากข้อมูลผลการวิจัยพิเศษโดยสถาบันวิจัย Prognos ให้กับหนังสือพิมพ์ Handelsblatt พบว่า อุตสาหกรรมใดบ้างของเยอรมันที่ยังคงเข้มแข็ง และอุตสาหกรรมใดบ้าง (หรือภาคส่วนใดบ้าง) ที่ถูกคุกคาม ซี่งผลการวิจัยสรุปได้อย่างน่าประหลาดใจว่า :

 

  1. หากวัดจากส่วนแบ่งการส่งออกไปทั่วโลก เยอรมนียังคงครองอันดับที่หนึ่ง สอง หรือสามจากสิบเอ็ดภาคธุรกิจ นอกเหนือจากจุดแข็งแบบดั้งเดิมของเยอรมันแล้ว อย่างเช่น วิศวกรรมเครื่องกล ก็ยังมีบริษัทต่าง ๆ ที่เรียกว่าเป็น Hidden Champions อาทิ บริษัท Schott ผู้นำด้านอุตสาหกรรมแก้วและเซรามิก โดยปัจจุบันเยอรมนียังที่มีบริษัทที่เป็น Hidden Champions จำนวนมาก ทำให้เรียกได้ว่าเยอรมนีเป็นรองแชมป์ของโลกด้าน Hidden Champions ก็ว่าได้
  2. เยอรมนียังเป็นแชมป์โลกในสองภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมยานยนต์ และ (2) อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ยา โดยเมื่อวัดจากมูลค่าของผลิตภัณฑ์แล้วไม่มีประเทศใดในโลกส่งออกยาและผลิตภัณฑ์ยาอื่น ๆ มากกว่าเยอรมนี
  3. หากเทียบกับปี 2012 จะพบว่า Real Net Output Ratio (ในภาษาเยอรมันคือ Fertigungstiefe หมายถึง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อต้นทุนของบริษัทสะท้อนถึงสัดส่วนการผลิตภายในในกระบวนการผลิตสินค้า) ของอุตสาหกรรมหลัก (Key Industry) เยอรมนีคงมีความเสถียรภาพอยู่และยังไม่มีสัญญาณว่า เยอรมนีกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ ​​“เศรษฐกิจแบบตลาดสด (Basarökonomie)” ที่นำเข้าและส่งออกเพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องผลิตอะไรเลย นาย Michael Böhmer หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัย Prognos กล่าวว่า “เยอรมนีไม่เคยมีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดสด และไม่มีทางที่จะกลายเป็นระบบดังกล่าว เพียงเพราะคำกล่าวนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดทุก ๆ สองถึงสามปี”
  4. สิ่งที่น่ากังวลก็คือ เมื่อเทียบกับปี 2012 ความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรมของอุตสาหกรรมในเยอรมนี เมื่อวัดจากสัดส่วนการจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง นาย Böhmer กล่าวว่า “ในบางอุตสาหกรรมเริ่มเกิดปัญหาด้านนวัตกรรม และคงเป็นเรื่องยากที่จะสามารถหยุดปัญหานี้ได้ หากเราไม่เร่งดำเนินการตอบโต้ให้ทันท่วงที”
  5. สิ่งที่จะต้องเร่งปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสามารถดูได้ในรายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนา KfW ที่ทำการวิจัยควบคู่ไปกับสถาบันวิจัย Prognos แสดงให้เห็นถึง 22 ภาคส่วนที่เยอรมนีมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการดำเนินการเป็นพิเศษ

 

สำหรับงานวิจัยของสถาบัน Prognos ที่มีนาย Böhmer เป็นผู้นำทีมวิจัย และเพื่อนร่วมงานของเขา นาย Johann Weiss ได้ประเมินฐานข้อมูลการค้าและสิทธิบัตรระหว่างประเทศ หลักจากนั้นก็ได้นำข้อมูลเหล่านี้มาจัดอันดับ เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปรียบเทียบค่าความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของเยอรมนีเมื่อเทียบกับภาคเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ จึงใช้เวลาก่อนที่จะมีข้อมูลของทุกประเทศในโลก ดังนั้นผู้ทำการวิจัยจึงใช้ข้อมูลสัดส่วนการส่งออกโดยอ้างอิงปี 2022 สำหรับข้อมูลเชิงลึกด้าน Real Net Output Ratio และค่าความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรม จึงอ้างอิงข้อมูลปี 2020 อย่างไรก็ตามนาย Weiss นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบัน Prognos มั่นใจว่า แม้ว่าจะใช้ข้อมูลจากปีดังกล่าว ผลลัพธ์ก็ยังมีความหมายสำหรับหารือวางแผนด้านนโยบายเศรษฐกิจในปัจจุบันของประเทศเยอรมนีอยู่ โดยกล่าวว่า “สัดส่วนการส่งออก, Real Net Output Ratio และการยื่นจดสิทธิบัตร เป็นตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงช้ามาก อีกทั้งเมื่อมีการกำหนดที่จะเดินตามเส้นทางนโยบายเหล่านี้แล้วเป็นการยากที่จะย้อนกลับ

 

นาย Claus Michelsen นักเศรษฐศาสตร์ผู้ทำการวิจัยที่คล้ายคลึงกันให้ความเห็นเกี่ยวกับงานวิจัยของสถาบัน Prognos ว่า “ผลลัพธ์ในแต่ละภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่สอดคล้องกับการงานวิจัยที่เราทำ” โดยทั่วไปแล้วสัดส่วนการส่งออกทั่วโลกเหมาะสมในการตัดสินความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศ ไม่ว่าสัดส่วนการส่งออกนี้จะเกิดขึ้นเพราะราคาหรือเพราะผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงจำนวนการจดสิทธิบัตรและ Real Net Output Ratio ก็คุ้มค่าที่จะพิจารณาสาเหตุของการพัฒนาให้รอบคอบยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ในด้าน Real Net Output Ratio มุ่งเน้นไปที่การเชื่อมต่อระหว่างกันในภาคการผลิตเท่านั้น กิจกรรมรองอย่างการวิจัยซึ่งจริง ๆ แล้วมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ถูกละเลยไป พูดง่ายๆ  ก็คือ กิจกรรมของบริษัทอื่น ๆ ที่อยู่นอกภาคอุตสาหกรรมของตนเองถูกละเลยไปนั่นเอง ตัวอย่างเช่นผู้ผลิตรถยนต์ที่นอกจากผลิตรถยนต์แล้ว ก็ยังค้นคว้าเรื่องอื่นอยู่ หรือสร้าง และซ่อมแซมเครื่องจักรบางส่วนด้วยตนเอง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาคำนวณร่วมเป็นต้น

 

ผลจากงานวิจัยดังกล่าวยังสามารถตีความได้อีกว่า เยอรมนีมีแรงจูงใจให้สามารถคงสถานะความเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมได้อยู่ อุตสาหกรรมซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของความเจริญรุ่งเรืองของประเทศยังคงแข็งแกร่งสมฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกอยู่ โดยอุตสาหกรรมของเยอรมนีมีความเข้มแข็งกระจายตัวไปในหลาย ๆ ส่วน มากกว่าที่ถูกอภิปรายและถูกรับรู้ในพื้นที่สาธารณะ โดยสินค้าอุตสาหกรรมของเยอรมันยังเป็นที่ต้องการอย่างมากในทั่วโลก แม้แต่ในภาคอุตสาหกรรมส่วนย่อยที่ใช้พลังงานสูง เช่น การผลิตสารเคมีพื้นฐาน จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณของการย้ายถิ่นฐานออกจากเยอรมนี นอกจากนี้ ไม่ต้องพูดถึงการถดถอยตัวลงของภาคอุตสาหกรรม (Deindustrialization) ในวงกว้าง ซึ่งยังไม่แสดงแนวโน้มดังกล่าวให้เห็นเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด นาย Stefan Kooths หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจสถาบันเศรษฐกิจโลก (Ifw – Institut für Weltwirtschaft) แห่งเมือง Kiel ชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าสัดส่วนการส่งออกจะลดลง แต่เยอรมนีก็ยังไม่จำเป็นที่จะต้องตื่นตระหนกมากเกินไป โดยกล่าวว่า “ปัจจุบันโลกที่อุตสาหกรรมรุ่นใหม่กำลังไล่ตามประเทศอุตสาหกรรมเก่าอย่างเยอรมนี เป็นเรื่องที่สามารถคาดการณ์ได้ว่า แน่นอนที่พวกเขาจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการค้าโลกจากประเทศอุตสาหกรรมเก่าไป ดังนั้นเป็นเรื่องปกติที่ ‘ประเทศตัวท็อป’ จะต้องลดน้ำหนัก (ทางเศรษฐกิจ) ลง” ซึ่งเป็นสถานภาพที่น่าพอใจและควรที่จะรักษาสถานภาพดังกล่าวไว้ และในเวลาเดียวกันควรที่จะรักษาจุดแข็งที่มีไว้ด้วย ซึ่งเหล่านี้จะลุล่วงได้ด้วยความพยายามทางสังคมที่เข้มแข็งร่วมกันเท่านั้น เพราะสิ่งที่งานวิจัยของสถาบัน Prognos ยังแสดงให้เห็นเช่นกันก็คือ ไม่มีในภาคส่วนใดเลยจาก 11 ภาคอุตสาหกรรมส่วนที่เยอรมนีเป็นอันดับหนึ่งในระดับโลก และระหว่างปี 2012 ถึง 2022 ไม่มีอุตสาหกรรมของประเทศใดเลยที่สามารถเพิ่มสัดส่วนการส่งออกทั่วโลกได้ นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตได้จากการจดสิทธิบัตรโลกของอุตสาหกรรมชั้นนำเกือบทั้งหมดว่า มีแนวโน้มที่จะลดลง และมีเพียงภาคอุตสาหกรรม/ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “(1) ไม้ กระดาษ สิ่งพิมพ์ และ (2) สินค้าบริโภค เครื่องดื่ม ยาสูบ” เท่านั้น ที่ยังสามารถเพิ่ม Real Net Output Ratio ได้เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นอกจากนี้รายงานดังกล่าวยังมีเรื่องที่น่าประหลาดใจอีกว่า แทบไม่มีใครรู้ว่าเยอรมนีเป็นรองแชมป์ทั้ง 2 อุตสาหกรรม จากตัวเลขของกระทรวงเศรษฐกิจฯ ในเชิงปริมาณอุตสาหกรรมกระดาษของเยอรมนีอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก โดยในปี 2020 มีปริมาณการผลิตสูงถึง 21.4 ล้านตัน โดยประมาณครึ่งหนึ่งของการผลิตกระดาษและกระดาษแข็งนี้เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก เฉพาะบริษัท Wepa Group จากภูมิภาค Sauerland ที่นาย Friedrich Merz หัวหน้าพรรค CDU – Christlich Demokratische Union Deutschlands (พรรคสหภาพคริสต์เตียนเพื่อประชาธิปไตยประเทศเยอรมนี) คนปัจจุบันเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับดูแลจนถึงปี 2021 ก็มีส่วนแบ่งการตลาดกระดาษชำระและกระดาษอนามัย ในยุโรปสูงถึง 8% เลยทีเดียว ในส่วนอุตสาหกรรม “อาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ” เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีอุปสรรคทางการค้าสูง ผลิตภัณฑ์ในภาคธุรกิจนี้ส่วนใหญ่จึงมีการซื้อขายในตลาดภายในยุโรป (EU Single Market เป็นตลาดภายในที่มีกำลังซื้อสูงที่สุดในโลก) สูงเป็นพิเศษ นาย Weiss นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบัน Prognos กล่าวว่า “ในฐานะประเทศที่มีประชากรมากที่สุดของสหภาพยุโรป เยอรมนีมีอุตสาหกรรมอาหารที่แข็งแกร่ง และด้วยทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางในตลาดภายในของยุโรปทำให้สัดส่วนการส่งออกสินค้าหมวดดังกล่าวค่อนข้างสูง”

 

หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมา กระดาษชำระหรือพิซซ่าแช่แข็ง เพียงอย่างเดียวก็ไม่น่าที่จะเพียงพอกับการรักษาความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในทศวรรษต่อ ๆ ไปได้ ซึ่งทำให้เราต้องหันกลับไปดู “เด็กที่มีปัญหามากที่สุด” ในเวลานี้ จากมุมมองของชาวเยอรมันเด็กคนนั่นก็คือ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ ทั่วโลกไม่มีผลิตภัณฑ์ใดที่ใช้ประโยชน์จากคำว่า “Made in Germany” ได้มากเท่ากับรถยนต์ของค่าบริษัท BMW, Mercedes-Benz และ Volkswagen โดยทั้ง 3 บริษัท เป็นบริษัทหลักในการระบุค่าดัชนีหุ้นของประเทศเยอรมนี (DAX) ในเวลาเดียวกันผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ยักษ์ใหญ่ 3 แห่ง อย่าง Bosch, Schaeffler-Continental และ ZF ก็ทำให้แน่ใจได้ว่า รถยนต์แทบทุกคันที่ผลิตในต่างประเทศจะต้องมีชิ้นส่วนจากเยอรมนีเข้าไปร่วมด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีอนาคตของอุตสาหกรรมใดที่มีความเสี่ยงเท่ากับอุตสาหกรรมยานยนต์ การปฏิวัติ 2 ครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างแรกก็คือ การขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ และการปรับเปลี่ยนการขับขี่เข้าสู่ระบบดิจิทัล ทั้ง 2 การปฏิวัตินี้สร้างแรงกดดันอย่างหนักให้กับผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ บางครั้งก็อาจจะเกินขีดจำกัดของพวกเขาเลยทีเดียว ผู้ผลิตรถยนต์ชาวเยอรมันใช้เวลานานเกินไปกับการทำความเข้าใจถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางยุคสมัยของเทคโนโลยีนี้ หลังจากนั้นพวกเขาก็เริ่มเปิดตัวรถ EV ของตัวเองออกสู่ตลาดอย่างหนัก แต่ยอดจำหน่ายรถ EV กลับไม่ได้เป็นไปตามที่พวกเขาหวังไว้ อย่างการตัดสินใจการพิจารณาล่าสุดของบริษัท Mercedes ที่ตัดสินใจยกเลิกการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับผลิตรถ EV รุ่นใหม่สำหรับรถรุ่น S-Class และ E-Class ในอนาคต สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการตัดสินใจของผู้ผลิตรถยนต์กับการเลือกการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสม จังหวะ และเส้นทางที่ถูกต้อง นาย Böhmer ผู้นำทีมวิจัย และเศรษฐศาสตร์ของสถาบัน Prognos กล่าวว่า “ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่ส่ามารถสรุปได้ในเวลานี้ว่า ท้ายสุดในการแข่งขันระดับนานาชาติอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมนีจะสามารถจัดการกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ขนาดไหน หากผมต้องเดิมพันเงิน 5 ยูโรในด้านใดด้านหนึ่ง ผมเองก็ไม่รู้ว่าฉันอยากจะเดิมพันด้านไหนดี”

 

สำหรับ วิศวกรรมเครื่องกลซึ่งเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมของเยอรมนี ซึ่งมีความสำคัญเป็นอันดับ 2 ปัจจุบันจีนกลายมาเป็นแชมป์การส่งออกของโลกแทนเยอรมนีมาช่วงหนึ่งแล้ว จากการสำรวจของสถาบัน Prognos อุตสาหกรรมวิศวกรรมเครื่องกลของเยอรมนียังคงมีส่วนแบ่งการส่งออกของโลกสูงถึง 13% อย่างไรก็ตามสัดส่วนดังกล่าวก็มีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อย ๆ ผู้เขียนงานวิจัยระบุว่า เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ตอนนี้เยอรมนีกำลังสูญเสียพื้นที่ในฐานะผู้นำด้านการค้นคว้าและวิจัยลงเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามวิศวกรรมเครื่องกลในฐานะศูนย์กลางด้านวิศวกรรมฯ ในประเทศก็ยังมีค่า Real Net Output Ratio ที่ค่อนข้างสูงอยู่ที่ 68% ในส่วนอุตสาหกรรมแก้ว และเซรามิกของเยอรมนีมีการกล่าวถึงในพื้นที่สาธารณะน้อยกว่าวิศวกรรมเครื่องกลอย่างมาก แต่ในอุตสาหกรรมแก้ว และเซรามิกเยอรมนีก็เป็นอันดับ 2 รองจากจีนเท่านั้น อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมแก้วฯ ต้องใช้อุณหภูมิสูงในระหว่างการผลิต และถือว่าเป็นอุตสาหกรรมต้องใช้พลังงานปริมาณสูงมาก ทั้งนี้การจะก้าวไปเป็นผู้นำในด้านดังกล่าวได้นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเยอรมนีจะมีไฟฟ้าสีเขียวราคาถูกเพื่อให้มีการสร้างค่าความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้มากน้อยขนาดไหน นอกจากนี้เยอรมนีก็มีความเข้มแข็งในด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์โลหะ ตลอดจนการส่งออกยาง และพลาสติก อุปกรณ์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์เคมี แต่อะไรละที่อยู่เบื้องหลังของภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานพาหนะอื่น ๆ จนทำให้เยอรมนีเป็นผู้ส่งออกอันดับ 3 ของโลกได้ นาย Weiss ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน Prognos อธิบายว่า “ความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานพาหนะอื่น ๆ ของเยอรมนีส่วนหนึ่งมากจากเครือบริษัท Airbus Group ที่ต้องส่งสินค้าเบื้องต้นจำนวนมากระหว่างโรงงานต่าง ๆ ในยุโรปเป็นประจำ” ทุกครั้งที่เครื่องบิน Beluga เครื่องบินสำหรับขนส่งสินค้าลำหนึ่งเข้าใกล้การลงจอดไกล้ ๆ ณ ลานจอดเหนือแม่น้ำ Elbe เครื่องบิน Airbus ก็จะขนลำตัวเครื่องบินจากโรงงานในเมืองตูลูสไปยังโรงงานในเมือง Hamburg-Finkenwerder สำหรับการประกอบขั้นสุดท้าย ซึ่งในทางเทคนิคแล้วการโยกย้ายนี้ถือเป็นธุรกรรมการส่งออกประเภทหนึ่งนั้นเอง

 

จาก Handelsblatt 10 มิถุนายน 2567

thThai