ชิลีปรับเพิ่มอัตราภาษีเครื่องดื่มเกลือแร่และน้ำหวาน

ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นไป รัฐบาลชิลีจะเพิ่มการจัดเก็บภาษีกับสินค้าเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ชิลีบังคับใช้กฎหมายการจัดเก็บภาษีการขายและการนำเข้าเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มอื่น ๆ เช่น เครื่องดื่มเกลือแร่ เครื่องดื่มที่ให้ความหวาน เป็นต้น โดยมีการเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 10 – 18 ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำตาลที่กำหนดไว้ในส่วนผสมของเครื่องดื่มนั้น ตัวอย่างเช่น หากเครื่องดื่มนั้นมีปริมาณน้ำตาลมากกว่า 15 กรัมต่อ 240 มิลลิลิตร จะถูกเรียกเก็บภาษนีในอัตราที่สูงขึ้น ในปีนี้ กรมสรรพากรของชิลี (Chilean Internal Revenue Service: SII) ได้ทบทวนหลักเกณฑ์การเก็บภาษีสินค้าดังกล่าว โดยให้มีการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมกับสินค้าเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มเกลือแร่และเครื่องดื่มที่ให้ความหวานที่มีการนำเข้าและจัดจำหน่ายในประเทศ มีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจะต้องชำระภาษีในเดือนกรกฎาคม 2567[1]

การทบทวนหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับสินค้าดังกล่าว เนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มเกลือแร่และเครื่องดื่มที่ให้ความหวานในชิลีมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระหว่างปี 2555 – 2565 โดยการดื่มเครื่องดื่มดังกล่าวในกลุ่มน้ำผลไม้และน้ำหวานเพิ่มขึ้นจาก 16 ลิตรต่อคน เป็น 25 ลิตรต่อคน ในส่วนของเครื่องดื่มเกลือแร่ในชิลียังคงมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากความนิยมในการออกกำลังกายของชาวชิลี  ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมในกลุ่มสินค้าดังกล่าว ส่งผลให้ราคาจัดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของผู้บริโภคทั้งประเทศ[2]

รัฐบาลชิลีได้ผ่านกฎหมายฉบับที่ 825 กำหนดให้มีการเก็บภาษีเพิ่มเติมกับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลที่จะบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน ศกนี้ โดยเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล 6.25 กรัม หรือมากกว่า ต่อ 100 มิลลิลิตร มีอัตราภาษีร้อยละ 13 – 18 ในขณะที่เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเป็นส่วนประกอบน้อยกว่า 6.25 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จะถูกเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 10 โดยการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะจัดเก็บกับสินค้าที่นำเข้าและที่ผลิตในประเทศ ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของการจัดเก็บภาษีสินค้าเครื่องดื่มที่ให้ความหวาน เพื่อป้องกันการบริโภคน้ำตาลเกินมาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อการเกิดโรคอ้วนของผู้บริโภค

 

หลังจากที่รัฐบาลได้ยบังคับใช้กฎหมายการเก็บภาษีเพิ่มเติมในสินค้าดังกล่าวในปี 2557 ส่งผลให้ยอดการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีความหวานลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22 ต่อเดือน ปริมาณการซื้อสินค้าฯ ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยลดลงร้อยละ 12 กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางลดลงร้อยละ 16 และกลุ่มผู้มีรายได้สูงลดลงร้อยละ 31 นอกจากนี้ การลดลงของการซื้อสินค้าเครื่องดื่มที่ให้ความหวาน ยังได้รับผลกระทบจากสินค้าทางเลือก เช่น เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลน้อย หรือเครื่องดื่มที่ใช้สารทดแทนความหวาน[1] ทั้งนี้การเก็บภาษีเพิ่มเติมดังกล่าวยังครอบคลุมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วย ได้แก่ สุราและสุรากลั่น เหล้า Pisco  วิสกี้  ไวน์ปรุงแต่ง โดยเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 31.5 ในขณะที่ ไวน์ ไวน์มีฟอง (sparkling wines) หรือแชมเปญ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หมักจากผลไม้ เบียร์ และอื่น ๆ จะถูกเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 20.5

บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก

          สคต. ณ กรุงซันติอาโก เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมกับสินค้าเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ (ภาษีความหวาน) มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคภายในประเทศของชิลี เนื่องจากการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบและเครื่องดื่มอื่น ๆ มีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็วต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มจำนวนขึ้นเช่นกัน

หลายประเทศพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริโภคน้ำตาล จากข้อมูลในทางสถิติของหลายประเทศทำให้เห็นได้ว่าการจัดเก็บภาษีความหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมน้ำหวาน ทำให้การบริโภคน้ำอัดลมลดลง เหตุผลสำคัญที่ทำให้การเก็บภาษีความหวานส่งผลต่อการลดการบริโภคน้ำตาล เนื่องจากการที่ผู้ผลิตเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลพยายามปรับตัวโดยปรับลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มลง รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ ที่ลดการพึ่งพาน้ำตาล เพื่อให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มไม่ต้องแบกรับภาระทางด้านภาษี ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Obesity Evidence Hub พบว่า กว่า 50 ประเทศทั่วโลก ได้เริ่มดำเนินการจัดเก็บภาษีความหวานตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567[2]

ภาษีความหวานที่เก็บจากเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของน้ำตาล เพิ่มต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มค่อนข้างมาก ทำให้ส่งผลต่อการขายสินค้าที่อาจจะต้องเพิ่มราคาสินค้าและทำให้ยอดจำหน่ายสินค้าลดลง ดังนั้น แนวทางที่ผู้ผลิตสินค้าจะทำได้ดีที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาของภาษีความหวานดังกล่าวได้ คือ การปรับปรุงสินค้าให้ลดปริมาณน้ำตาล ซึ่งส่งผลดีต่อผู้บริโภคโดยตรง ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมกับสินค้าเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบของชิลี อาจส่งผลอย่างมีนัยสำคัญให้เครื่องดื่มแบรนด์ต่าง ๆ มีการปรับลดปริมาณน้ำตาลจนเหลือเพียงไม่เกิน 6.25 กรัม ส่งผลให้เกิดการลดปริมาณการบริโภคน้ำตาลที่ใช้ผสมลงไปในเครื่องดื่มของทั้งประเทศ และมีผลเพียงพอในการปรับโครงสร้างการบริโภคน้ำตาลในประเทศ

 

เมื่อพิจารณาภาษีความหวานของไทย กรมสรรพสามิตได้เริ่มจัดเก็บภาษีความหวานในเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลตั้งแต่ปี 2559 ในอัตราที่เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดทุก ๆ 2 ปี โดยช่วงที่ 2 บังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2564 จะเพิ่มอัตราการเก็บภาษีต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร โดยเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่เกิน 10 กรัม ยังใช้อัตราเดิม แต่เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 4 เท่า และปัจจุบัน อยู่ในช่วงที่ 3 บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 ที่กำหนดให้เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล

  • ความหวาน ที่ 6 กรัม/100 มล. ไม่เสียภาษี
  • ความหวานเกิน 6-8 กรัม/100 มล. เสียภาษี 0.30 บาท/ลิตร
  • ความหวานเกิน 10-14 กรัม/100 มล. เสียภาษี 1 บาท/ลิตร
  • ความหวานเกิน 14-18 กรัม/100 มล. เสียภาษี 3 บาท
  • ความหวานเกิน 18 กรัม/100 มล. เสียภาษี 5 บาท

สคต. ณ กรุงซันติอาโก เห็นว่ากระแสการรักษาสุขภาพและเสริมสร้างสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาประเทศ และช่วยลดภาระการรักษาพยาบาลของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป ดังนั้น ผู้ผลิตสินค้าเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนสูตรเครื่องดื่มเพื่อลดปริมาณน้ำตาล รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพให้ตรงต่อความต้องการของตลาด และราคาที่แข่งขันได้ซึ่งผู้บริโภคในชิลีที่มีระดับรายได้ปานกลาง – รายได้สูงให้ความสำคัญต่อการเลือกรับประทานเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ

________________________________

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

มิถุนายน 2567

[1] An observational study in urban areas. – https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29969456/

A joint project resulting from a partnership between the Cancer Council Victoria, the Bupa Health Foundation and the Food for Health Alliance – https://www.obesityevidencehub.org.au/collections/prevention/countries-that-have-implemented-taxes-on-sugar-sweetened-beverages-ssbs

An online website funded by a grant from the Scottish Government and hosted by the Royal College of Physicians and Surgeons of Glasgow on behalf of the Academy of Medical Royal Colleges and Faculties –https://www.obesityactionscotland.org/campaigns-and-policy/international-learning/chile/chiles-sugar-tax/

[2] Reference No. 3 – https://www.obesityevidencehub.org.au/collections/prevention/countries-that-have-implemented-taxes-on-sugar-sweetened-beverages-ssbs

[1] Tax and legal advisory – https://assets.kpmg.com/content/dam/kpmg/cl/pdf/2024/tax-and-legal/2024-04-taxlegal-highlights.pdf

[2] Online local news – https://www.ex-ante.cl/que-se-sabe-del-impuesto-a-nectares-y-bebidas-isotonicas-e-hipotonicas/

https://www.df.cl/economia-y-politica/df-tax/sii-oficializa-que-bebidas-deportivas-y-nectares-pagaran-impuestos-pero#:~:text=Un%20nuevo%20grupo%20de%20bebidas,isot%C3%B3nicas%2C%20hipot%C3%B3nicas%20y%20los%20n%C3%A9ctares.

thThai