สินค้า Private Label ในห้างแคนาดามีแนวโน้มขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์   ระหว่างวันที่ 10-14 มิถุนายน 2567

สินค้า Private Label ในห้างแคนาดามีแนวโน้มขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ

ภาพรวมการค้าปลีกในแคนาดามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญไปสู่การใช้สินค้าแบรนด์ของห้าง (Private-Label Brands) มากขึ้น โดยสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคนั้นมาจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว (ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่สูง) จากผลการศึกษาของบริษัทวิจัย Kantar พบว่าผู้บริโภคชาวแคนาดาหันมาเลือกซื้อสินค้า Private Label มากขึ้นเพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายของพวกเขาในช่วงที่ราคาสินค้าและเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแค่เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในนิสัยและพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคในระยะยาว โดยผู้บริโภคคำนึงถึงคุณค่า คุณภาพ นวัตกรรม และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

สินค้า Private Label ในห้างแคนาดามีแนวโน้มขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ

ตามนิยามของสินค้า “Private Label” หมายถึงสินค้าที่ผลิตภายใต้ยี่ห้อของห้างค้าปลีก ซึ่งอาจผลิตเองหรือจ้างผ่านผู้ผลิตรายอื่น จากนั้นจะติดแบรนด์ของห้างนั้นๆ หรือใช้ชื่อใหม่ สินค้า Private Label เป็นตลาดที่เกิดจากผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าราคาคุ้มค่า สินค้า Private label มักมีลักษณะคุณสมบัติคล้ายสินค้าแบรนด์ดัง มีศักยภาพโอกาสเติบโตสูง และกำลังกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญของสินค้าแบรนด์ในอนาคต สินค้าประเภทนี้กลายเป็นกลยุทธ์หลักของซุปเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้า ที่ปรับให้เข้าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความต้องการของผู้บริโภค

ปัจจุบัน สินค้า Private Label ในแคนาดาถูกวางจำหน่ายทั้งในห้างค้าปลีก ซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือแม้แต่ตามร้านสะดวกซื้อชื่อดังที่หาซื้อได้ง่าย ทำให้สินค้ากลุ่มนี้มีภาพลักษณ์ที่ดีและปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริโภคไปในทางที่ดีขึ้น ทุกวันนี้ การใช้แบรนด์ของห้างที่เป็นสินค้า Private Label อาจมีความสำคัญมากกว่าการติดแบรนด์ที่ไม่เป็นที่รู้จัก (แบรนด์ใหม่ๆ) เนื่องจากความน่าเชื่อถือของห้างนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคในแคนาดา

สินค้า Private Label ในห้างแคนาดามีแนวโน้มขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ

ในอดีต ภาพลักษณ์สินค้า Private Label จะถูกพูดถึงเมื่อผู้บริโภคต้องการสินค้าที่มีราคาประหยัด ที่จับต้องได้และไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพมากนัก ซึ่งเป็นปัจจัยแรกในการเลือกซื้อ แต่ปัจจุบันห้างหรือร้านค้าต่างๆ เริ่มที่จะเร่งพัฒนาสินค้า Private Label เพื่อเป็นทางเลือกของสินค้าแบรนด์ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ถึงแม้ว่าแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจคือปัจจัยแรกที่มีความสำคัญกับสินค้า Private Label ในเรื่องราคาที่ต่ำกว่า เข้าถึงได้ง่ายกว่า แต่การที่ปัจจุบันสินค้า Private Label มีการคำนึงถึงคุณภาพความโปร่งใสของข้อมูลวัตถุดิบส่วนประกอบ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการลดผลกระทบต่อกับสิ่งแวดล้อมด้วย เป็นปัจจัยที่จะส่งผลระยะยาวได้ ที่ทำให้เกิดการซื้อซ้ำหรือการเปลี่ยนแบรนด์ (Brand Switching) จากแบรนด์หลักๆ ไปเป็นสินค้า Private Label อย่างถาวร

ผลิตภัณฑ์จำพวก Private Label ในปัจจุบันถูกมองว่ามีการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมและคุณภาพที่สูงขึ้น เพื่อดึงดูดใจผู้ซื้อชาวแคนาดาที่อายุน้อย (กลุ่ม Gen Z) เพื่อเป็นทางเลือกให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมี่ยมในราคาที่เข้าถึงได้ สินค้า Private Brand ในกลุ่มขนมขบเคี้ยว อาหารแห้ง และอาหารแช่แข็ง มีศักยภาพในการเติบโตสูง

อีกปัจจัยที่สำคัญ คือความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แม้ว่าสินค้า Private Label จะตระหนักถึงประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมช้ากว่าสินค้าประเภทอื่น แต่ยังมีช่องว่างและโอกาส ให้มีความได้เปรียบโดยการเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และการธรรมาภิบาล) ผู้ค้าปลีกที่ปรับผลิตภัณฑ์ของตนให้เข้ากับค่านิยมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มที่จะสร้างความไว้วางใจและสร้างความภักดีที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในหมู่ผู้บริโภค

ความเห็นของ สคต.

            สินค้า Private Label ในแคนาดากำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังคำนึงถึงคุณภาพ และความยั่งยืนมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมของตลาดและทิศทางของอุตสาหกรรมในอนาคตที่จะส่งผลดีต่อการพัฒนาสินค้า Private Label เพื่อตอบสนองผู้บริโภค โดยในปี 2566 สินค้าอาหาร Private Label มีสัดส่วนยอดจำหน่ายภายในห้างค้าปลีกสูงถึงร้อยละ 18 (เมื่อเทียบกับสินค้าแบรนด์ดัง มีสัดส่วนร้อยละ 82) และสินค้า Private Label มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 8 ต่อปี ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายสินค้า Private Label มากขึ้น

กระแสความนิยมของสินค้า Private Label ในแคนาดาสามารถเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทยได้อย่างมาก ในการเป็นผู้รับผลิตให้กับสินค้า Private Label ซึ่งเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในห้างค้าปลีก การทำงานร่วมกับห้างค้าปลีกที่มีแบรนด์และฐานลูกค้าอยู่แล้วช่วยลดต้นทุนและความเสี่ยงในการสร้างแบรนด์ใหม่ด้วยตนเอง และยังเพิ่มปริมาณการผลิตและยอดขายได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงยังเป็นการเจาะตลาดสินค้าใหม่ที่ไม่ต้องสร้างแบรนด์ หรือต้องมีการวางแผนการตลาด การตั้งงบประมาณการตลาด ถึงแม้ว่าความเสี่ยงของการรับเป็นผู้ผลิตสินค้า Private Label อาจมาจากกรณี ห้างค้าปลีกสามารถเปลี่ยนซับพลายเออร์ไปยังเจ้าอื่นๆ หรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า แต่หากผู้ผลิตสินค้า Private Label สามารถรักษาคุณภาพสินค้า ควบคุมต้นทุน ประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG กับสินค้ามากขึ้น ก็จะทำให้ผู้ผลิตนั้นมีความโดดเด่นและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง สามารถรักษาสถานะการเป็นผู้ผลิตสินค้า Private Label ได้อย่างยั่งยืน เพราะทุกวันนี้ถึงแม้ว่าผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับเรื่อง ราคา และคุณภาพสินค้าเป็นหลัก แต่ก็เริ่มตระหนักให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG มากขึ้นอีกด้วย

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)

——————————————————————-

 

thThai