อาหารฟาสต์ฟู้ดและอาหารจานด่วนได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในฝรั่งเศส

ผู้บริโภคฝรั่งเศสส่วนหนึ่งยังคงมีภาพลักษณ์ของอาหารฟาสต์ฟูดว่าเป็นอาหารขยะ อย่างไรก็ตามในปี 2023 ผลประกอบการของร้านอาหารประเภทเชน (Chain restaurant) ซึ่งรวมถึงร้านอาหารฟาสต์ฟูดในฝรั่งเศสกลับมีมูลค่าสูงเกิน 20,000 ล้านยูโรเป็นครั้งแรก  บริษัทการตลาด Food Service Vision  ระบุว่าการขยายตัวของตลาดนี้เพิ่มขึ้น 2 เท่าภายหลังจากสถานการณ์โควิดและยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  โดยระหว่างปี 2022 – 2023  อัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 8

ในบรรดาร้านอาหารประเภทเชนทั้งหมด (ร้านอาหารฟาสต์ฟูด, ร้านอาหารแบบนั่งรับประทาน เช่น ร้าน Hippotamus, Courtepaille , BuffaloGrill ฯลฯ และร้านอาหารแบบบริการตัวเอง – Self-Service ) ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดมีอัตราการขยายตัวสูงที่สุด   ผลประกอบการระหว่างปี 2019 – 2023 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30  โดยเฉพาะในปี 2023 ภาวะเงินเฟ้อส่งผลด้านบวกต่อการเติบโตของร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเนื่องมาจากราคาอาหารต่ำกว่ากร้านอาหารในรูปแบบอื่น

อาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดเข้าสู่ฝรั่งเศสเป็นครั้งแรกในช่วงปี 1970  และขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เห็นได้จากจำนวนร้าน Mcdonald’s ในปัจจุบันมีมากกว่า 1,500 สาขาทั่วประเทศเพื่อรองรับปริมาณลูกค้าถึง 2 ล้านคนต่อวัน   โดยตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก 30 แห่งในแต่ละปี    นอกเหนือจากนั้น McDonald’s ฝรั่งเศสมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกเป็นรองเพียงแค่ตลาดสหรัฐอเมริกาประเทศต้นตำรับเท่านั้น  ในปี 2023 ผู้บริโภคฝรั่งเศสจ่ายค่าอาหารเฉลี่ยในร้าน McDonald’s ต่อหนึ่งมื้อแพงที่สุดในโลก (12-13 ยูโร)    McDonald’s จึงให้ความสำคัญต่อตลาดผู้บริโภคฝรั่งเศสเป็นอย่างมากโดยพัฒนาสินค้าและการบริการอย่างต่อเนื่อง   ตัวอย่างเช่น  การใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นส่วนประกอบมากกว่าร้อยละ 75, การใช้ขนมปังสดใหม่, การปรับเมนูใหม่ทุกเดือน, การให้บริการเสิร์ฟที่โต๊ะอาหาร ฯลฯ    นอกเหนือจากนั้น McDonald’s ใช้ฝรั่งเศสเป็นตลาดทดลองเพื่อสร้างสรรค์เมนูใหม่ด้วยเช่นเดียวกัน  ดังเช่น เมนู M, เมนู McBaguette ที่ใช้ขนมปังฝรั่งเศสเป็นส่วนประกอบ , เมนู 280 ใช้ชีส Cantal ในประเทศ และเมนู Deluxe ใช้ทั้งเนื้อสัตว์และส่วนประกอบในประเทศ เป็นต้น

การตลาดด้านอื่นๆของ McDonald’s ได้แก่ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและอาหารนานาชาติ (SIAL) ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การแสดงสินค้าเมือง Villepinte ชานกรุงปารีสอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา,  การปรับปรุงภาพลักษณ์ของแบรนด์ โดยในปี 2010  McDonald’s ปรับโลโก้ตัวอักษร M ที่ใช้ในฝรั่งเศสให้มีพื้นรองหลังเป็นสีเขียวซึ่งต่างจากประเทศอื่นที่มีพื้นหลังเป็นสีแดง  และในปีนี้ McDonald’s เป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันทีมฟุตบอลในประเทศ (Ligue 1)

การทำตลาดอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ McDonald’s ได้รับความนิยมในฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก จนติดอันดับ 1 ใน 10 แบรนด์ที่ได้รับความนิยมของผู้บริโภคฝรั่งเศสจากการจัดลำดับของบริษัทการตลาด EY Parthenon  ถึงแม้ว่าในปี 2024 นี้อันดับจะลดลงจากที่ 4 ไปเป็นอันดับที่ 9 และยอดขายในช่วงต้นปีที่ผ่านมาจะลดลง

เมนูแฮมเบอร์เกอร์จากอาหารฟาสต์ฟู้ดได้กลายเป็นอาหารยอดนิยมในฝรั่งเศส   มียอดขายสูงถึง 9,000 ล้านยูโรในปี 2023  ส่งผลให้แบรนด์ฟาสต์ฟู้ดอื่นๆเติบโตเพิ่มขึ้น ดังเช่น แบรนด์ Burger King กลับเข้าสู่ตลาดฝรั่งเศสอีกครั้งเมื่อปี 2012 หลังจากที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเปิดตัวครั้งแรกในปี 1980  จนถึงปัจจุบันมีสาขาทั้งสิ้นมากกว่า 500 แห่งภายในระยะเวลาสิบปี  โดย Burger King เน้นการทำตลาดผ่านสื่อโซเชียลมีเดียทุกด้าน

เมนูอาหารจานด่วนอื่นๆที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ได้แก่ แซนวิชแบบดั้งเดิม, อาหารประเภทปิ้งย่าง, ไก่ทอดเกาหลีและพิซซ่า รวมถึงเมนูเครื่องดื่มและของหวานเช่น Bubble tea และ คุกกี้   โดยเมนูเหล่านี้เติบโตขึ้นมาพร้อมกับผู้บริโภคยุคดิจิทัล (Digital Natives) ซึ่งทำการตลาดผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเป็นหลัก  ส่งผลให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์ เช่น ไก่ทอด KFC และYoutuber Mister V. เป็นต้น   ตลาดฝรั่งเศสยังคงได้รับความสนใจดึงดูดให้แบรนด์ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น เช่น โดนัท Krispy Kreme และ ไก่ทอด Popeye จากสหรัฐอเมริกา

นาย Diego Ferri ที่ปรึกษาด้านการตลาดบริษัท EY Fabernovel กล่าวว่าตลาดผู้บริโภคฝรั่งเศสมีความพิเศษและแตกต่างจากตลาดประเทศอื่นๆโดยสิ้นเชิง   ผู้บริโภคฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียด  เมนูแฮมเบอร์เกอร์ที่วางขายในประเทศนอกจากจะต้องรักษาคอนเซ็ปต์ของเมนูที่เป็นอาหารจานด่วนแล้วยังต้องเพิ่มรายละเอียดต่างๆเข้าไปในเมนูให้มีความหลากหลายและสร้างความแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ

ปัจจัยด้านอื่นที่ช่วยส่งเสริมให้เมนูอาหารจานด่วนขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของชั่วโมงการทำงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นซึ่งเกิดจากระบบการทำงานจากที่บ้าน   อย่างไรก็ตามพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปนี้ส่งผลกระทบต่อร้านอาหารแบบดั้งเดิม  ประเมินว่าในปี 2023 ร้านอาหารแบบนั่งรับประทานปิดตัวลงถึง 217 ร้าน (ร้านอาหารเชน Courtpaille ปิดสาขาจาก 240 สาขาในปี 2021 เหลือเพียง 87 สาขาปัจจุบัน)  ในขณะที่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเปิดเพิ่มขึ้นถึง 3,000 แห่ง

ความคิดเห็น สคต.

นอกเหนือจากเมนูแฮมเบอร์เกอร์จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว  อาหารนานาชาติอื่นๆได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในฝรั่งเศสด้วยเช่นเดียวกัน  อาหารเอเชียได้รับความนิยมเป็นอันดับที่ 3 รองจากอาหารฝรั่งเศสและอาหารอิตาเลียน    ตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมาตลาดอาหารเอเชียในฝรั่งเศสขยายตัวในระดับร้อยละ 5.8 ต่อปี

จากข้อมูลของ Statista ผู้บริโภคฝรั่งเศสร้อยละ 22 รับประทานอาหารเอเชียหลายครั้งในหนึ่งเดือน โดยอาหารญี่ปุ่นได้รับความนิยมมากที่สุดซึ่งคนฝรั่งเศสบริโภคซูชิเป็นอันดับหนึ่งในทวีปยุโรป   เมนูอาหารเอเชียอื่นๆที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ เมนูอาหารที่ทำจากเส้น เช่น ราเมน, ผัดไทย และ Bo Bun เมนูเส้นของเวียดนาม

จะเห็นได้ว่าอาหารไทยยังมีโอกาสพัฒนาและเติบโตได้อีกมากในฝรั่งเศส   การทำตลาดผ่านสื่อโซเชียลมีเดียดังเช่นรูปแบบการตลาดของร้านอาหารฟาสต์ฟูดจะช่วยขยายตลาดผู้บริโภคและกระตุ้นยอดขายให้กับผู้ประกอบการอาหารไทยในฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี

 ที่มาของข่าว

Joséphine Boone

ข่าวจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ Les Echos

https://www.lesechos.fr/industrie-services/conso-distribution/pourquoi-les-francais-aiment-ils-tant-les-fast-foods-2097923

thThai