ปัจจุบันมีภาพยนตร์ต่างประเทศ รวมถึงจากผู้ผลิตภาพยนตร์ในหลายประเทศในเอเซีย ออกฉายในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก หลายเรื่องสามารถเข้าร่วมและชนะในการประกวดภาพยนตร์ Oscars ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ในปี 2020 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การประกวดภาพยนตร์ Oscars ที่ภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง Parasite ได้รับการเสนอชื่อเข้าประกวดในงานประกวดภาพยนตร์ Oscars และชนะได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ในปี 2021 และ 2022 ภาพยนตร์เกาหลีและญี่ปุ่นได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเช่นกัน และในปี 2024 มีภาพยนตร์ต่างประเทศส่งเข้าประกวดประมาณ 93 เรื่อง ทำลายสถิติประวัติศาสตร์ 96 ปีของการประกวดภาพยนตร์ Oscars ในจำนวนนี้ 3 เรื่องคือ Anatomy of A Fall จากฝรั่งเศส The Zone of Interest จากเยอรมันและ Past Lives จากเกาหลีใต้ ถูกนำเสนอเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี

ผู้เชี่ยวชาญในวงการภาพยนตร์สหรัฐฯให้ความเห็นว่า เงื่อนไขที่สนับสนุนโอกาสของภาพยนตร์ต่างประเทศในตลาดสหรัฐฯ คือ

 

1. การรณรงค์ the#OscarsSoWhite ที่เริ่มต้นในปี 2015 และดำเนินมาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เป็นการรณรงค์ต่อต้านการทำงานของ Oscars Academy โดยกล่าวหาว่าละเลยไม่ให้การยอมรับการทำงานด้านบันเทิงที่ประสบความสำเร็จของคนสีผิว การรณรงค์ดังกล่าวส่งผลให้ Oscars Academy เปลี่ยนแปลงการทำงาน ดังนี้

 

(1) เพิ่มจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงในการประกวดที่เป็นเพศหญิง คนสีผิว และคนหนุ่มสาว

 

(2) เปิดรับสมาชิกจากประเทศอื่นๆนอกสหรัฐฯเพิ่มขึ้น เพื่อให้สมาชิกมีความหลากหลายด้านเชื้อชาติมากขึ้น ที่จะทำให้ Oscars Academy มีความเป็นสากลมากขึ้นกว่าเดิม และเปิดโอกาสให้มีการส่งภาพยนตร์ต่างชาติเข้าประกวด Oscars มากยิ่งขึ้น

 

(3) ในปี 2019 Oscar Academy ได้เปลี่ยนชื่อรางวัลภาพยนตร์ต่างชาติจากเดิมที่ชื่อรางวัล “The Best Foreign Language Film” ซึ่งเป็นคำที่ถูกกล่าวหาว่ามีความไม่ชัดเจนในสังคมสหรัฐฯที่ประกอบไปด้วยผู้อพยพจาก “foreign countries” จำนวนมากว่า เป็นภาพยนตร์ของ “foreign-คนต่างชาติ” กลุ่มใด ซื่อดังกล่าวจึงได้ถูกเปลี่ยนเป็น “The Best International Feature Film” ซึ่งให้ความรู้สึกชัดเจน เป็นคำกลางๆที่ครอบคลุมทุกเชื้อชาติในสหรัฐฯมากกว่า

 

2. การเติบโตอย่างมากของธุรกิจให้บริการ streaming เช่น Netflix, Amazon Prime และ Hulu เป็นต้น มีบทบาทสำคัญอย่างมากในฐานะช่องทางกระจายภาพยนตร์ต่างชาติจำนวนมากเข้าสู่ผู้บริโภคสหรัฐฯ และ streaming service เป็นอีกช่องทางที่จะนำภาพยนตร์ต่างประเทศที่ออกฉายและได้รับความนิยมสูงในระบบ streaming เข้าสู่การประกวด Oscar

 

3. โดยทั่วไปแล้วคนอเมริกันที่ยอมรับภาพยนตร์ต่างชาติที่ต้องมี subtitle ภาษาอังกฤษ มีจำนวนเพิ่ม มากกว่าเดิม และช่องทางการกระจายภาพยนต์หลายช่องทางนำเสนอ subtitle เพื่อความสะดวกของผู้ชม

 

ที่มา: BBC: “With this year’s Oscar nominations, foreign-language films have gone mainstream”, by Louisa Ballhaus, 27 January 2024

 

ข้อมูลเพิ่มเติมและความเห็นของสคต ลอสแอนเจลิส

สคต ลอสแอนเจลิสมีความเห็นว่า สภาวะการณ์ปัจจุบันในสหรัฐฯกำลังเปิดโอกาสมากยิ่งขึ้นให้แก่ภาพยนตร์จากต่างประเทศ รวมถึงภาพยนตร์ไทย สาเหตุหลักคือ

 

1. ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์สหรัฐฯทั้งที่เป็น feature films และ TV movies อยู่ในสภาวะถดถอยอย่างหนัก การพัฒนาผลิตภาพยนต์ใหม่ๆต้องใช้เวลานานกว่าเดิม งบประมาณในการผลิตลดลง จำนวนภาพยนตร์ที่ถูกผลิตออกมาลดลงอย่างมาก คาดว่าลดลงประมาณร้อยละ 14.3 จากปี 2023 คาดการณ์ว่าในปี 2024 จะมีภาพยนตร์ออกฉายเพียง 90 เรื่องลดลงจาก 100 เรื่องในปี 2023 ยอดขายในโรงภาพยนตร์คาดว่าจะเท่ากับ 8 พันล้านเหรียญฯ ลดลงจากปี 2023 ร้อยละ 10 ทั้งหมดเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากวิกฤตโควิด19 การเติบโตของสภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้พุ่งสูง และการสไตร์คครั้งใหญ่รวม 2 ครั้งในปี 2023 ของ (1) ผู้เขียนบท (writers) และ (2) ของนักแสดง (Screen Actors Guild-American

 

2. ประชากรสหรัฐฯประกอบไปด้วยผู้คนที่มีรากเง่ามาจากหลากหลายเชื้อชาติและชาติพันธุ์ ทำให้คนอเมริกันมีความรู้และคุ้นเคยกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรมในระดับหนึ่ง เป็นเงื่อนไขที่ทำให้คนอเมริกันจำนวนมากมีแนวโน้มที่จะยอมรับและรับชมภาพยนตร์จากต่างประเทศ ทั้งที่มาจากประเทศดั้งเดิมของตนและ/หรือที่มาจากประเทศอื่นในภาคพื้นเดียวกัน มีรายงานว่าผู้บริโภคสหรัฐฯกลุ่มเอเซียนอเมริกันมีอัตราการเติบโตของจำนวนประชากรสูงสุดในสหรัฐฯ คนเอเซียนอเมริกันมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีน อินเดีย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความคล้ายคลึงกันค่อนข้างมาก รวมถึงคล้ายคลึงกับคนไทย ในด้านวิถีการดำเนินชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรม คนกลุ่มนี้สามารถเป็นตลาดรองรับภาพยนตร์จากเอเซีย รวมถึงภาพยนตร์ไทยได้เป็นอย่างดี ภาพยนตร์จากเอเซียรุ่นแรกๆที่เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ หลายรายทำชื่อเสียงและสร้างรายได้จำนวนมาก และยังมีการฉายแพร่หลายในสหรัฐฯในปัจจุบัน คือ ภาพยนตร์จีนและอินเดีย ก่อนที่ภาพยนตร์จากเกาหลีจะเติบโตตามมาอย่างรวดเร็ว

 

3. พฤติกรรมผู้บริโภคสหรัฐฯปัจจุบันนิยมแสวงหาความบันเทิงในการชมภาพยนตร์ภายในสิ่งแวดล้อมที่ตนเองคุ้นเคย เช่น บ้าน มากกว่าการไปชมในโรงภาพยนตร์ ที่มีการวิเคราะห์ว่า ภาพยนตร์ที่ผู้ดูจะนิยมไปดูที่โรงภาพยนตร์ คือ ภาพยนตร์ที่มีระบบแสงสีและเสียงที่เป็นเทคโนโลยี่ใหม่ที่สามารถเร้าใจผู้ชมในโรงภาพยนตร์ได้ดีกว่าที่การชมที่บ้าน ปัจจุบันสหรัฐฯมีช่องทางหลายช่องทางที่นำเสนอภาพยนตร์ต่างๆถึงบ้าน เช่น streaming service และ app ปัจจุบัน Netflix เป็น streaming service ที่นำเสนอภาพยนตร์ต่างชาติเป็นจำนวนมากที่สุด streaming service อื่นๆเช่น Amazon Prime Video, Hulu และ HBO Max เป็นต้น สคต ลอสแอนเจลิสมีความเห็นว่าช่องทางเหล่านี้จะเป็นช่องทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้ประกอบการไทย เพราะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคสหรัฐฯได้โดยง่าย มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า และประกันความ สำเร็จของภาพยนตร์ได้มากกว่าช่องทางโรงภาพยนตร์

 

4. สำนักงานฯแนะนำให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ไทย ทุกระดับขนาด พิจารณาโอกาสกระจายภาพยนตร์ในตลาดสหรัฐฯ โดย

 

4.1 นำเสนอผลงานที่เป็นการแนะนำตัวและการหาตลาดในสหรัฐฯ ด้วยการแสดงผลงานใน
เทศกาลภาพยนตร์ต่างชาติที่จัดในสหรัฐฯ เช่น

(1) Seattle International Film Festival https://www.siff.net/, info@siff.net
(2) Utah International Film Festival https://theutahfilmfestival.com/ หรือ Info@UtahFilmFestival.com
(3) Sundance Film Festival https://festival.sundance.org/, sundancesupport@sundance.org
(4) Asian World Film Festival https://www.asianworldfilmfest.org/?gad_source=1 info@asiaworldfilmfest.org หรือ asel@asianworldfilmfest.org

 

4.2 เข้าสู่ช่องทางกระจายสินค้าผ่านทาง streaming services ต่างๆ ทั้งนี้ จะต้องศึกษานโยบายการรับภาพยนตร์ไปฉายของ บริษัท streaming services แต่ละรายจะมีรายละเอียดและค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน
เช่น
(1) Netflix จะไม่ติดต่อเจรจาโดยตรงกับเจ้าของภาพยนตร์ แต่กำหนดให้ผ่านบุคคลที่สาม (distributors, aggregators) ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับ Netflix ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนนำภาพยนต์ไปเสนอ (pitching) กับ Netflix ทั้งนี้ โอกาสเดียวที่ Netflix จะติดต่อเจ้าของภาพยนตร์โดยตรงก็คือเมื่อได้เห็นภาพยนตร์ที่มีการนำเสนอในงานเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆและเกิดความสนใจต้องการนำไปฉายในช่องของตน

 

บริษัทธุรกิจเป็นบุคคลที่สามในการเสนอขายภาพยนตร์ต่างชาติ ที่มีฐานอยู่ในนครลอสแอนเจลิส เช่น บริษัท Quiver Distribution (www.quiverdistribution.com) และ บริษัท Distribber (www.distribber.com) เป็นต้น

 

(2) Amazon Prime ให้โอกาสนำเสนอภาพยนตร์บนช่องโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนด Amazon Prime ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://videodirect.amazon.com/home/help?topicId=GG5QNX4NA2MEWRAA

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส | มิถุนายน 2567 

 

หมายเหตุ: ข่าวข้างบนนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งที่จัดทำและนำเสนอข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป และบางส่วนเป็นความเห็นส่วนบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส นำมารวบรวมเผยแพร่เพื่อแก่ผู้สนใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลและความเห็นจากบุคคลที่สาม การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเฉพาะบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ไม่ขอรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้

thThai