เทรนด์เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมสะอาดจากงานแสดงสินค้า IFAT Munich 2024 ประเทศเยอรมนี

งานแสดงสินค้าเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม IFAT 2024 ถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 17 พฤษภาคม 2567 ณ เมืองมิวนิค มีผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้ากว่า 3,200 ราย บนพื้นที่กว่า 300,000 ตารางเมตร มีผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 142,000 รายจาก 170 ประเทศทั่วโลก และ 50 บริษัทสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของยุโรปได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาจัดแสดงในงาน

IFAT Munich ครั้งนี้ทำลายสถิติใหม่ นาย Stefan Rummel กรรมการผู้จัดการงานแสดงสินค้า ได้กล่าวถึงความสำเร็จของงานแสดงสินค้าเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมชั้นนำของโลกนี้ว่า “ความท้าทายในยุคของเรา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศหรือการขาดแคลนวัตถุดิบ สามารถแก้ไขได้ด้วยเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการปรับชุมชนให้มีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศหรือการเปลี่ยนอุตสาหกรรมไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนให้มากขึ้น งาน IFAT Munich จึงถือเป็นงานแสดงเทคโนโลยีการแก้ปัญหาเพื่ออนาคต” โดยงานครั้งนี้ได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วน ทั้งภาคการเมือง ธุรกิจ สมาคมและบริษัท

นายกรัฐมนตรี Olaf Scholz กล่าวว่า “งาน IFAT เป็นหนึ่งในงานแสดงสินค้าที่ประสบผลสำเร็จ   อย่างมาก และมีความเชื่องโยงกับประเทศเยอรมนีอย่างลงตัว” เทรนด์เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมสะอาดภายในงาน IFAT 2024 มีดังนี้

การจัดการน้ำและการบำบัดน้ำเสียอย่างมีศักยภาพ

รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมเยอรมันให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องน้ำ และเป็นหัวข้อหลัก ๆ ของงาน IFAT Munich 2024 ด้วยยุทธศาสตร์การจัดการน้ำระดับชาติที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีปี 2566 ซึ่งรัฐบาลต้องจัดหาน้ำให้แก่ประชาชนและแน่ใจว่าน้ำดื่มต้องสะอาด ต้องมีการปกป้องน้ำบาดาลและระบบนิเวศ พร้อมทั้งการจัดหาน้ำให้เพียงพอแก่ภาคเกษตรและภาคเศรษฐกิจด้วย โดยกฎระเบียบข้อบังคับการจัดการน้ำเสียของสหภาพยุโรปฉบับใหม่ยังกำหนดให้โรงงานขนาดใหญ่มีการบำบัดน้ำขั้นสูง จุดมุ่งหมายคือเพื่อกำจัดสารตกค้างจากยาและเครื่องสำอางออกจากน้ำเสีย ทั้งนี้ เพื่อลดภาระทางการเงินของเทศบาลในการบำบัดน้ำ นอกจากนี้ กฎระเบียบใหม่ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่อย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น

การนำกลับมาใช้ใหม่

ภายในงาน IFAT แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบริษัทต่าง ๆ ในการบำบัดน้ำเสียและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เช่น บริษัท Xylem ซึ่งร่วมมือกับชุมชน พันธมิตรบริษัทด้านวิทยาศาสตร์ และโรงงานบำบัดน้ำเสียที่  เมือง Weißenburg รัฐบาวาเรีย คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีการนำน้ำเสียกลับมาใช้ในการผลิตเบียร์ หรือ “Reuse Brew” โดยการใช้เทคโนโลยีโอโซนขั้นสูงและกระบวนการกรองน้ำที่ซับซ้อน เช่น การกรองน้ำระดับนาโน ทำให้สารเคมีและจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนถูกกำจัดออกอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้น้ำดื่มที่ปลอดภัยนำมาผลิตเป็นเบียร์ต่อไป

น้ำเสียที่ได้รับการบำบัดแล้วถูกนำมาใช้ในพื้นที่การเกษตร

ในงาน IFAT 2024 มีการจัดแสดงตัวอย่างการแก้ปัญหาการบำบัดน้ำเสีย ที่ไม่เพียงส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแต่ยังส่งผลดีในเชิงเศรษฐกิจด้วย เช่น โครงการนำร่องในเมืองชไวน์เฟิร์ต โดยการนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้เพื่อการชลประทานและใช้ในพื้นที่การเกษตร อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจคือการบำบัด    น้ำของสระว่ายน้ำสาธารณะ ซึ่งทำให้ประหยัดทรัพยากรและเงินได้มากกว่าร้อยละ 80 ต่อปี

พลังงานทางเลือก

ด้วยพระราชบัญญัติการจัดซื้อยานพาหนะพลังงานสะอาด (SaubFahrzeugBeschG) ตามแนวทางนโยบายของสหภาพยุโรป ทำให้ส่วนท้องถิ่นของเมืองต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับตัวด้วยการเปลี่ยนยานพาหนะของเมืองเป็นประเภทพลังงานสะอาด ไม่ทำลายธรรมชาติ และประหยัดพลังงานมากขึ้น ซึ่งส่งผลอย่างยิ่งต่อรถจัดการขยะและทำความสะอาดเมือง ทั้งนี้ ในงาน IFAT มีการจัดสาธิตสดกลางแจ้ง ยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษต่ำสำหรับปฏิบัติการบนท้องถนนและการบำรุงรักษาถนนในฤดูหนาว โดยมุ่งเน้นไปที่แนวคิดการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและไฮโดรเจน

นาย Holger Thärichen กรรมการผู้จัดการแผนกการจัดการขยะและความสะอาดในเมืองของสมาคมบริษัทในเทศบาล (VKU) กล่าวว่า “หลาย ๆ เขตเทศบาลในประเทศเยอรมนีมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้มีสภาวะเป็นกลางภายในปี 2583 ซึ่งเราจะทำสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อยานพาหนะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา” อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ บริษัทกำจัดขยะของเมืองสตุ๊ตการ์ท (AWS) ที่แสดงความรับผิดชอบต่อเมือง โดยมีแผนว่า ภายในปี 2570 ยานพาหนะที่บริษัทนำมาใช้ต้องขับเคลื่อนด้วยพลังงานทางเลือก 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าในอนาคตอาจจะนำยานพาหนะพลังงานไฮโดรเจนเข้ามาใช้ก็เป็นได้

นำระบบดิจิตอลมาจัดการเรื่องความสะอาดและขยะ

ระบบดิจิตอลเข้ามามีบทบาทในสังคมปัจจุบันมากกว่าแต่ก่อน มีการนำระบบนี้มาใช้กับระบบบริการสาธารณะด้วย ในงาน IFAT ได้จัดแสดงนวัตกรรมต่างๆ เช่น ถังขยะอัจฉริยะที่พบเห็นได้ในงาน เครื่องมือดิจิตอลสำหรับวัดความสะอาดและบันทึกความเสียหายบนท้องถนน เครื่องสแกนถุงพลาสติกและถุงพลาสติกชีวภาพในถังขยะอินทรีย์ หรือเครื่องตรวจจับความสะอาดและกำจัดขยะบนท้องถนน เช่น บุหรี่ แก้ว กระดาษ และอลูมิเนียม เป็นต้น ทั้งนี้ การนำระบบดิจิตอลมาใช้จะช่วยลดภาระของพนักงาน เพิ่มประสิทธิภาพการทำความสะอาดและเพิ่มคุณภาพของขยะอินทรีย์สำหรับการผลิตปุ๋ยหมักและการผลิตก๊าซชีวภาพในลำดับต่อไป

 

ที่มา:

IFAT Munich 2024

klimaschutz-kommune.de

thThai