ปี 2566 ตลาดเบเกอรี่ในอเมริกาเหนือ (สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก และส่วนที่เหลือของทวีปอเมริกาเหนือ) มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 99,470 ล้านเหรียญสหรัฐใน และคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 110,250 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2571 โดยอัตราเติบโตต่อปีร้อยละ 2.08 ในช่วงระหว่างปี 2566-2571

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์เบเกอรี่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีทั้งคุณค่าทางโภชนาการสูงและง่ายต่อการรับประทาน ซึ่งปัจจัยทั้งสองอย่างนี้ส่งผลต่อการเติบโตของตลาดเบเกอรี่ในอเมริกาเหนือ อีกทั้ง ผู้บริโภคในอเมริกาเหนือตระหนักถึงสุขภาพและการสร้างภูมิคุ้มกันมากขึ้น ทำให้ความต้องการเบเกอรี่ที่ไม่มีกลูเตนเพิ่มมากขึ้น จากการสำรวจด้านอาหารและสุขภาพของสภาข้อมูลอาหารระหว่างประเทศ (IFIC) ในปี 2021 พบว่าคนส่วนใหญ่กำลังมองหาประโยชน์จากการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม การบริโภคเบเกอรี่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของธัญพืช ธัญพืชออร์แกนิก สารกันบูดน้อย มีโปรตีนสูง และเบเกอรี่ที่ผู้บริโภคสามารถระบุส่วนผสมได้เอง คาดว่าสินค้าเหล่านี้จะมียอดขายเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การขยายตัวของจำนวนประชากรในตัวเมือง และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการเติบโตของการบริโภคอาหารนอกบ้านเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์เบเกอรี่พร้อมรับประทานและมีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มมากขึ้นด้วย แนวโน้มเหล่านี้เป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ

ปัจจุบัน ร้านขายเบเกอรี่ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี แม้ว่าจะมีจำนวนน้อยกว่าร้านค้าปลีก แต่ก็สร้างผลกำไรเกือบร้อยละ 80 ในอุตสาหกรรมเบเกอรี่ทั้งหมดในภูมิภาคอเมริกาเหนือ เป็นผลมาจากมีวิถีชีวิตที่วุ่นวายของผู้คนในปัจจุบัน ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอาหารพร้อมปรุงและอาหารพร้อมรับประทาน เช่น คุกกี้ ขนมปัง เค้ก บิสกิต และพิซซ่าแบบแช่แข็ง เพิ่มมากขึ้น

ช่องทางจำหน่าย

ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ในอเมริกาเหนือมีจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ในร้านค้าปลีก ร้านขายเบเกอรี่ และมีตัวเลือกการสั่งแบบออนไลน์และจัดส่ง มอบความสะดวกสบายอย่างมากให้กับผู้บริโภค

แนวโน้มตลาดเบเกอรี่ในอเมริกาเหนือ

วิถีผู้บริโภคปัจจุบันมีความต้องการบริโภคอาหารว่าง หรือขนมขบเคี้ยวระหว่างเดินทางที่สะดวกสบาย ดีต่อสุขภาพ และมีแคลอรี่ต่ำ ปัจจัยเหล่านี้กำลังผลักดันให้แบรนด์ต่างๆ นำเสนอผลิตภัณฑ์เบเกอรี่สำหรับบริโภคเป็นแพ็คเล็กๆ พกพาไปได้ทุกที่ มีรสชาติดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ อีกทั้งผู้บริโภคนิยมเลือกซื้อขนมเบ
เกอรี่กลับบ้าน เพื่อทดแทนมื้ออาหารหลักในวันที่เร่งรีบ

ข้อมูลเผยแพร่โดย Mondelez International ในปี 2564 ผู้บริโภคในอเมริกาเหนือร้อยละ 64 นิยมรับประทานของว่าง หรือขนมขบเคี้ยวแทนอาหารมื้อหลัก ส่งผลให้ผู้ผลิตรายใหญ่ต่างคิดค้นและนำเสนอผลิตภัณฑ์อบกรอบแบบพกพามากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ที่มีส่วนผสมจากวัตถุดิบธรรมชาติและออร์แกนิก ไม่มีสารปรุงแต่ง ไม่มีสารกันบูด ไม่ใช่จีเอ็มโอ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ จะเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรับประทานอาหารและความนิยมในการบริโภคของว่างระหว่างเดินทางที่เพิ่มขึ้นในหมู่ผู้บริโภคในอเมริกาเหนืออันเนื่องมาจากวิถีการดำรงชีวิต กำลังผลักดันการเติบโตของผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ในภูมิภาคนี้

ตลาดสหรัฐอเมริกา

ความต้องการผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ที่สามารถเตรียมได้อย่างรวดเร็วที่บ้านหรือซื้อกลับบ้านได้ กำลังมีความต้องการเพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากวิถีของชาวอเมริกันมีความเร่งรีบมากขึ้น จึงต้องการรับประทานอาหารที่ง่ายและรวดเร็ว ส่งเสริมให้การบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน (Ready to eat: RTE) เพิ่มมากขึ้น

จากข้อมูลของ American Bakers Association ร้อยละ 90 ของผู้บริโภคชาวอเมริกันกลุ่ม Gen Z และ Millennial ชื่นชอบขนมประเภทอบ เช่น พิซซ่า (pizza) ขนมปังแบน (Flatbread) แซนวิชแร็พ (Wrap) และ แป้งตอร์ติยา (Tortilla) ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มีแนวโน้มในการขยายตัวมากขึ้นในตลาดสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เบเกอรี่เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะจำนวนผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ ที่มีจำนวนมาก ผู้ผลิตหลักที่ครองตลาดระดับภูมิภาคอเมริกาเหนือ ได้แก่ บริษัท Mondelez International บริษัท Flowers Foods, Inc บริษัท Mckee Foods Corp บริษัท Kellogg และ บริษัท Grupo Bimbo SAB De CV เป็นต้น

 

ความคิดเห็นของสคต. นิวยอร์ก

แนวโน้มความต้องการเบเกอรี่เพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยร้านเบเกอรี่หลายแห่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันต่ำ น้ำตาลต่ำ และใช้วัตถุดิบของธัญพืชไม่ขัดสี แนวโน้มนี้มาจากความตระหนักรู้ด้านสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่ผู้บริโภค ได้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญในการขยายธุรกิจเบเกอรี่เพื่อสุขภาพ เมื่อผู้คนตระหนักถึงความต้องการวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดีและการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยควรใช้โอกาสนี้ ในการขยายตลาดผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวหรือขนมขบกรอบเพื่อสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่มีศักยภาพ

แหล่งที่มา: https://www.mordorintelligence.com/industry-reports/north-america-bakery-products-market

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

เดือนกรกฎาคม 2567

thThai