การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตเพื่อลดการสร้างมลพิษให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) การลดการผลิตค่าคาร์บอน (Decarbonization) หรือเรียกสั้นๆ ว่า การปรับตัวเข้าสู่การ “ยุคสีเขียว” ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญอย่างหนึ่งของภาคเอกชน รัฐบาล และผู้บริโภค และเพื่อให้ถึงจุดนั้นก็ต้องมีการลงทุนมหาศาลในการพัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยีให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการปรับเปลี่ยนใช้พลังงานในกระบวนการอุตสาหกรรม การขับเคลื่อน และอาคารที่พักอาศัย ให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้อย่างยั่งยืน และการปรับเปลี่ยนนี้เป็นสิ่งจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมของเรา โดยการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สำหรับอนาคตไม่ใช่แนวคิดที่เรียกว่า “Nice to Have” เท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะเรามองเห็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ แต่แน่นอนเช่นเดียวกับความท้าทายอื่น ๆ ที่เราเคยประสบมา การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่ Carbon Neutrality ได้สร้างโอกาสมากมายเช่นกัน ปัจจุบันเรียกได้ว่า เราอยู่ในช่วงระหว่างกระบวนการดังกล่าว เรามีนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ จำนวนมากที่จะมาเป็นตัวช่วยนำไปสู่การผลิตที่สะอาด และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ในเวลาเดียวกันก็ทำให้ห่วงโซ่อุปทานมีความน่าเชื่อถือและประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากขึ้น ปัจจุบันเรามีความก้าวหน้าด้านดังกล่าวมากกว่าในอดีต บริษัทในยุโรปหลายแห่ง ทั้งใหญ่และเล็ก ต่างตระหนักดีว่า การลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะทำให้พวกเขามีความได้เปรียบด้านการแข่งขัน แนวโน้มของตลาดมีความชัดเจน และสามารถเห็นบริษัทต่าง ๆ ก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง โดยในช่วงระหว่างปี 2022 – 2023 การลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่สำคัญ 5 ประการทั่วโลก ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม แบตเตอรี่ อิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) และระบบปั๊มความร้อนไฟฟ้า (Heat Pump) ขยายตัวขึ้นมากกว่า 70%
เมื่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้รับการยอมรับมากขึ้น ต้นทุนก็จะค่อย ๆ ลดลง ซึ่งเมื่อถึงจุดดังกล่าวต้นทุนที่ลดลงจะช่วยขยายความสามารถในการผลิต และทำกำไรให้ธุรกิจนั้น ๆ ซึ่งปัจจุบันสหภาพยุโรป (EU) เป็นศูนย์กลางด้านการค้า ผู้เชี่ยวชาญ และเทคโนโลยี ดังนั้นการลงทุนที่เหมาะสมในขณะนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่จะสามารถต่อยอดสิ่งที่สร้างขึ้นนี้ไว้ และรักษาตำแหน่งผู้นำด้านเทคโนโลยีของ EU ต่อไปได้ จากมุมมองเชิงการเมืองภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีก็มีความสำคัญ โดยวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามยูเครนได้แสดงให้เห็นว่า EU ต้องการห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่มั่นคงและเชื่อถือได้ และ EU ต้องการความเป็นเอกราชเชิงกลยุทธ์ (Strategic Autonomy) อีกด้วย (นโยบาย Strategic Autonomy ของ EU สร้างเพื่อลดการพึ่งพิงสหรัฐฯ และไม่ต้องการเป็น Junior Partner ของสหรัฐฯ) ซึ่งปัจจุบัน EU ยังคงเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีสีเขียว ด้วยความสามารถทางอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง และรักษาการเข้าถึงปัจจัยการผลิต วัตถุดิบที่สำคัญที่จำเป็นอย่างยั่งยืน การลงทุนในด้านเทคโนโลยีสีเขียวจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการตัดสินใจของธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป (EIB – European Investment Bank) ในอนาคต ซึ่งรวมถึงการลงทุนในด้านการจราจรบนท้องถนนด้วย โดยการจราจรบนท้องถนนเป็นสาเหตุหลักของการสร้างแก๊สเรือนกระจกถึง 15% ทั่วโลก นอกจากนี้การก่อสร้างโรงงาน Gigafactory ระดับยุโรป ศูนย์กลางการผลิตการผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าขนาดใหญ่ และระบบการจัดเก็บพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นเอกราชเชิงกลยุทธ์ของ EU เช่นกัน
สถาบันสาธารณะที่มีความเข้มแข็ง อย่างกลุ่ม EIB ซึ่งมีสินทรัพย์รวมกัน 600 พันล้านยูโร สถาบันเหล่านี้มีความสำคัญต่อการลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยี Zero Emission (ผลิตค่าคาร์บอนเป็น 0) ช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินของภาคเอกชนลง เพราะจุดหมายของเราก็คือ ระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ โดยหัวใจของการปกป้องสภาพภูมิอากาศ คือ นวัตกรรม ที่จำเป็น 1 ใน 3 ของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยประมาณนั้น ต้องใช้เทคโนโลยีที่ในปัจจุบันยังไม่มีใช้เป็นรูปธรรม หรือเทคโนโลยีที่ยังไม่มีความสามารถในการแข่งขันในปัจจุบัน เช่น อิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) สำหรับผลิตไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถนำมาช่วยให้การผลิตเหล็กและการขนส่งทางเรือสามารถมี Carbon Neutrality ได้ ความสำเร็จของการปรับตัวเข้าสู่การ “ยุคสีเขียว” ขึ้นอยู่กับการลงทุนจำนวนมากในการจัดหาพลังงานที่สะอาด และราคาไม่แพงสำหรับ อุตสาหกรรม คมนาคม และอาคารที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ยังหมายความว่า เราจำเป็นต้องลงทุนใน ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง อาคารสาธารณะ และอาคารที่พักอาศัย ให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด นอกจากนี้ราคาที่อยู่อาศัยที่ไม่แพงถือเป็นเรื่องสำคัญทางการเมืองระดับสูงสำหรับรัฐบาลของทุกประเทศสมาชิก การทำงานร่วมกับระหว่าง หน่วยงานระดับชาติ กับ EIB สามารถขยายการลงทุนในด้านดังกล่าว เพื่อช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อย่างมาก ในเวลาเดียวกันนโยบายทางการเมืองเหล่านี้ยังสามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนได้เป็นอย่างดี ข้าพเจ้ามั่นใจว่า EU มีวิธีที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การ “ยุคสีเขียว” ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจได้ ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ร่วมกันค้นหาแนวทางแก้ไขที่สามารถปฏิบัติใช้งานได้จริง เพราะการปกป้องสภาพภูมิอากาศถือเป็นความท้าทายที่สำคัญของคนรุ่นเรา เราไม่มีเวลาที่จะเสียแล้ว และตอนนี้เราเดินบนเส้นทางที่ถูกต้องแล้ว
บทความโดยนาง Nadia Calviño ประธาน EIB