ที่มา : palmoilmagazine
สภาประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม (CPOPC) เป็นเจ้าภาพการประชุมที่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียในกรุงมาดริด ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เป็นการประชุมกับเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของสเปนเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าล่าสุดในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ความพร้อมในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR (EU Deforestation Regulation) ของสหภาพยุโรป (EU) รวมถึงหารือเกี่ยวกับความท้าทายอื่น ๆที่อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มต้องเผชิญ
โดย Datuk Nageeb Wahab รองเลขาธิการสภาผู้ผลิตน้ำมันปาล์มแห่งชาติ (CPOPC) ได้แสดงความกังวลถึงประเด็นต่าง ๆ ในที่ประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการ EUDR ซึ่งจะมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ที่ประชุมตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่กําหนดการภายใต้กฎระเบียบดังกล่าวใกล้เข้ามามากขึ้น แต่ระดับความพร้อมระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป อาทิ สเปน และประเทศผู้ผลิตอื่น ๆ ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบ EUDR เนื่องจากขาดความชัดเจนในแนวทางการปฏิบัติจากคณะกรรมาธิการยุโรป
แม้ว่า CPOPC แสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ไม่ชัดเจนของกฎระเบียบ แต่อย่างไรก็ดี ยังคงมองเห็นศักยภาพในการเตรียมพร้อมที่สมาชิกสหภาพยุโรปกำลังดำเนินการอยู่ เช่น การพัฒนา National Dashboard ในอินโดนีเซีย และระบบ e-MSPO (Malaysian Sustainable Palm Oil) ในมาเลเซีย
เพื่อให้สอดคล้องต่อกฎระเบียบ EUDR
ดร. Muhammad Najib เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำราชอาณาจักรสเปนเน้นย้ำว่า ปาล์มน้ำมันอยู่ในกลุ่มสินค้า ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย EUDR ประเทศผู้ผลิตหลักอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซียจะพยายามอย่างเต็มเพื่อรับประกันความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
Horacio González-Alemán ที่ปรึกษาฝ่ายบริหารของ Spanish Foundation for Sustainable Palm กล่าวว่า น้ำมันปาล์มจะเป็นน้ำมันพืชที่ไม่สามารถถูกทดแทนได้ในตลาดสหภาพยุโรป โดยการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบตามกฎระเบียบ EUDR ต้องอาศัยความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาและเติมเต็มช่องว่างระหว่างประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภค
นอกจากนี้ Rizal Affandi Lukman เลขาธิการสภาประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม (CPOPC) ยังได้นำคณะผู้แทนไปพบกับหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคของเนเธอร์แลนด์ (NVWA) ร่วมหารือในประเด็นเกี่ยวกับความคืบหน้าของการพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability tools) ที่จะเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานในประเทศผู้ผลิตกับผู้ประกอบการในประเทศผู้บริโภค ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของ NVWA ตกลงที่จะจัดการประชุมเชิงเทคนิค โดย CPOPC จะเป็นผู้อำนวยความสะดวก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอินโดนีเซียและมาเลเซียต่อการหารือเกี่ยวกับเครื่องมือตรวจสอบย้อนกลับที่มีอยู่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการ EUDR
บทวิเคราะห์ผลกระทบ
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม อาจได้รับผลกระทบจากกฎระเบียบใหม่
เนื่องจากอาจต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต แบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงธุรกิจอาจเสี่ยงต่อการขาดแคลนวัตถุดิบและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน หากกฎระเบียบของสหภาพยุโรป (EUDR) ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรรายย่อยอาจไม่ได้รับการสนับสนุนภายใต้กฎระเบียบใหม่นี้ ซึ่งมากกว่าร้อยละ 40ของพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียและมาเลเซีย เป็นของเกษตรกรรายย่อย จึงทำให้น้ำมันปาล์มที่ผลิตโดยเกษตรกรรายย่อย ไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า
ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาด้านอุปทานที่จะเกิดขึ้นหลังจากการปฏิบัติใช้มาตรการ EUDR จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการร่วมมือกันระหว่างประเทศผู้ผลิตและประเทศผู้บริโภคต่อการดําเนินการมาตรการ EUDR รวมทั้งการให้เกษตรกรรายย่อยเข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทาน
ความคิดเห็น สคต.
แม้ว่า มาตรการ EUDR ซึ่งจะมีผลในทางปฏิบัติปลายปี 2567 ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยในระดับที่น้อยกว่าประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ในฐานะผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลกและประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับหนึ่งและสองในตลาดสหภาพยุโรป (การส่งออกปาล์มน้ำมันภายใต้มาตรการ EUDR จากไทยไป EU เพียงแค่ 3.48 ล้านเหรียญสหรัฐ) อย่างไรก็ตาม ไทยก็ย่อมจะหลีกเลี่ยงผลกระทบทางอ้อมจากความผันผวนของราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั่วโลกได้ยาก ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยจึงควรเตรียมพร้อมรับมือกับกฎระเบียบใหม่ ๆ พัฒนาวิธีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการผลิตและแปรรูปปาล์มน้ำมัน มุ่งสู่การผลิตที่ยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขยายตลาดส่งออกน้ำมันปาล์มไปยังประเทศใหม่ ๆ พัฒนาสินค้าใหม่ ๆ จากน้ำมันปาล์ม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า อีกทั้ง ควรมีการหารือเพื่อร่วมมือกับผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายอื่น ๆ อย่างมาเลเซียในการผลักดันมาตรการค้าที่เป็นธรรมเพื่อรักษาตลาดและแสวงหาโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูล
แบ่งปันประสบการณ์ และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันร่วมกัน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์