ด่านตงซิง – ด่านนำเข้าส่งออกทางบกศักยภาพด่านตงซิง – ด่านนำเข้าส่งออกทางบกศักยภาพ

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 รถบรรทุกสินค้าเกษตรจากประเทศอาเซียนทยอยขนส่งสินค้าจากด่านหม่องก๋าย สู่สะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ของด่านตงซิง เมืองฝางเฉิงก่าง หลังจากผ่านการอนุมัติการใช้งานได้อย่างเป็นทางการของเขตตรวจสอบกักกันโรคจำนวน 5 แห่งในด่านตงซิง (ได้แก่ เขตตรวจสอบกักกันโรคสำหรับสินค้าผลไม้ ธัญญาหาร เมล็ดและต้นพืช สินค้าสัตว์น้ำแช่แข็ง และสินค้าสัตว์น้ำที่มีชีวิต) ทำให้การนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ปัจจุบันด่านตงซิงได้รับการอนุมัติเป็นด่านสากลระหว่างประเทศ ระดับ 1 จากส่วนกลางของจีน เป็นช่องทางเชื่อมโยงทางบกและทางทะเลที่สำคัญระหว่างจีนและประเทศอาเซียน และเป็นจุดเปลี่ยนผ่านด้านคมนาคมและการขนส่งยุทธศาสตร์ของจีน หลายปีที่ผ่านมา ด่านตงซิงใช้ความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ มุ่งมั่นการปฏิบัติงานเปิดกว้างสู่ภายนอก ตลอดจนการยกระดับการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลให้ประสบผลสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด จากข้อมูลสถิติสังเกตุได้ว่า 4 เดือนที่ผ่านมา (เดือน ม.ค. – เม.ย.67) การนำเข้าส่งออกสินค้า โดยผ่านด่านสะพานแห่งที่ 2 ด่านตงซิงทะลุเป้าหมาย 3.25 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 28,290 ล้านหยวน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 19.2 และ 18.5 ตามลำดับ โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญได้แก่ สัตว์น้ำ (กุ้ง ปู หอย) และผลไม้ (ทุเรียน มังคุด)

Mr.Yang Jing หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการด่านตงซิง ให้ข้อมูลว่า “การยกระดับประสิทธิภาพสินค้าผ่านด่าน เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของด่าน” ยกตัวอย่างในกรณีการนำเข้าสินค้าเกษตรของสด โดยทางด่านตงซิงได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์นโยบายและขั้นตอนการนำเข้าสินค้าเกษตรของสดให้กับผู้ประกอบการล่วงหน้า โดยมีการให้ข้อมูลรายชื่อสัตว์น้ำที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า (Catalogue of Entry for Aquatic Animals) และการให้คำปรีกษาวางแผนการนำเข้าให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งใช้มาตรการ “การนัดหมายผ่านด่านล่วงหน้า และถึงก่อนตรวจก่อน” เพื่ออำนวยความสะดวกการผ่านด่านของสินค้าเกษตรของสดอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ที่ผ่านมาด่านตงซิงได้มุ่งเน้นการพัฒนาเป็นด่านอิจฉริยะ (Smart Port) โดยนำระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้งาน โดยมีแพลตฟอร์มออนไลน์แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเจ้าหน้าที่ด่าน เจ้าหน้าที่ศุลกากร เจ้าหน้าที่บริษัทดำเนินพิธีการศุลกากร (Customs Broker) และผู้นำเข้า/ผู้ส่งออก ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถตรวจเช็คสถานกาณ์รถบรรทุกเข้าออก ผู้นำเข้า/เจ้าของสินค้า และสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้าได้โดยผ่านแอปพลิเคชั่นได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ด่านตงซิงพยายามปรับปรุงเพิ่มฟังชั่นการทำงานของด่านให้มากยิ่งขึ้น โดยอาศัยความได้เปรียบที่เมืองฉางเฉิงก่างเป็นเมืองชานแดนแห่งเดียวในจีน ที่มีด่านนำเข้าส่งออกสินค้าทั้งทางบกและทางทะเล (ท่าเรือฝางเฉิงก่าง) ทำให้ด่านตงซิงมีเขตตรวจสอบกักกันโรคจำนวน 5 แห่งผ่านการอนุมัติใช้งานจากส่วนกลาง (ได้แก่ เขตตรวจสอบกักกันโรคสำหรับสินค้าผลไม้ ธัญญาหาร เมล็ดและต้นพืช สินค้าสัตว์น้ำแช่แข็ง และสินค้าสัตว์น้ำที่มีชีวิต) ซึ่งนับเป็นด่านนำเข้าส่งออกที่มีเขตตรวจสอบกันกันโรคจำนวนมากที่สุดในเขตฯ กว่างซี ในขณะเดียวกันก็ทำให้สัดส่วนสินค้านำเข้าที่ผ่านด่านตงซิงมีการเปลี่ยนแปลงด้วย โดยสินค้าสัตว์น้ำได้กลายเป็นสินค้านำเข้าสำคัญของด่านตงซิง ในปี 2023 มูลค่านำเข้าสินค้าสัตว์น้ำคิดเป็น 15,760 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 149.68 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2022 ส่วน 5 เดือนแรกของปี 2024 (ม.ค. – พ.ค.67) มีการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจำนวน 4,597 ล้านหยวน ผลไม้ 579 ล้านหยวน

พร้อมกับบรรยากาศการนำเข้าส่งออกสินค้าอันคึกคักที่เมืองตงซิง อุตสาหกรรมแปรรูปในบริเวณชายแดนก็ได้รับการพัฒนาเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน มีนักลงทุนเลือกตงซิงเป็นพื้นที่ลงทุนและสร้างโรงงานแปรรูปมากขี้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองตงซิน ตลอดจนส่งเสริมธุรกิจนำเข้าส่งออกโดยผ่านด่านตงซิงด้วย เมื่อปี 2023 นิคมอุตสาหกรรมตงซิงนับเป็นหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมชายแดนเชิงยุธทศาสตร์ของรัฐบาลจีน และเป็นส่วนสำคัญของกรอบความร่วมมือนิคมอุตสาหกรรมจีน-อาเซียน ปัจจุบันรัฐบาลกลางของจีนได้มอบหมายให้นิคมอุตสาหกรรมตงซิงเป็นฐานรองรับการย้ายฐานอุตสาหกรรมภาคตะวันออกสู่ภาคตะวันตก ซึ่งเน้นอุตสาหกรรมการแปรรูปเป็นหลัก ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอแฟชั่น ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ของเล่น เภสัชกรรม เป็นต้น Mr.Jiang Wenlang ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารอุตสาหกรรมและสารสนเทศเมืองตงซิงให้ข้อมูลว่า การวางแผน นิคมอุตสาหกรรมตงซิง ซึ่งมีขนาดพื้นที่ 40 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ “4 เขต + เขตการค้าชายแดน 1 เขต” โดยพื้นที่บริเวณสะพานแห่งที่ 2 ของด่านตงซิงเป็น 1 ใน 4 เขตที่สำคัญ ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมตงซิงได้ดึงดูด นักลงทุน จำนวน 151 ราย มูลค่าการลงทุน 22,000 ล้านหยวน โดยครอบคลุมอุตสาหกรรมด้านต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมการแปรรูปสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมการแปรรูปผักและผลไม้ อุตสาหกรรมการแปรรูปเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมการแปรรูปสิ่งทอแฟชั่น อุตสาหกรรมการแปรรูปสมุนไพร อุตสาหกรรมการแปรรูปเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการแปรรูปวัสดุใหม่

 ข้อมูลทั่วไปของด่านตงซิง

ด่านตงซิงเป็นด่านสากลทางบกที่ตั้งอยู่ในอำเภอระดับเมืองตงซิง (ภายใต้การกำกับดูแลของเมืองฝางเฉิงก่าง)  ตรงข้ามกับด่านหม่องก๋าย (Mong Cai) จังหวัดกว่างนิงห์ (Quang Ninh)  โดยมีแม่น้ำเป่ยหลุนเป็นแนวพรมแดนธรรมชาติ (แม่น้ำสายนี้ไหลออกสู่ทะเลอ่าวเป่ยปู้ หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ อ่าวตังเกี๋ย) (ห่างจากด่านโหย่วอี้กวนประมาณ 130 กิโลเมตร) โดย GACC อนุมัติให้ด่านตงซิงเป็นด่านนำเข้าผลไม้ได้ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2561

จากความได้เปรียบจากทำเลที่ตั้งที่เป็นเมืองด่าน อ.เมืองตงซิง (จีน) และจังหวัดกว่างนิงห์ (เวียดนาม) ได้ร่วมสร้างเขตเศรษฐกิจการค้าชายแดนที่ภายใต้โครงการ “สองประเทศหนึ่งเมือง” เพื่อแบ่งบันผลประโยชน์ที่เกิดจากการร่วมพัฒนา เช่น การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เป็นต้น

ขณะนี้ ด่านนำเข้าส่งออกระหว่างจีน – เวียดนาม ตามแนวชายเมืองตงซิง มีด่านหลัก 3 แห่ง ได้แก่ ตลาดการค้าชายแดนตงซิง สะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 และสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2

ด่านตงซิง – ด่านนำเข้าส่งออกทางบกศักยภาพ

ด่านตงซิง – ด่านนำเข้าส่งออกทางบกศักยภาพ

 

 

 

สะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 เป็นด่านตรวจคนเข้าเมืองและการเข้า – ออกเฉพาะสำหรับบุคคล      สะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ห่างจากสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 ประมาณ 3 กิโลเมตร รัฐบาลเมืองตงซิงได้เตรียมพื้นที่บริเวณสะพานแห่งที่ 2 ที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อรองรับงานตรวจคนเข้าเมืองและงานขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นด่านฯ ที่กำหนดสำหรับการนำเข้าผลไม้จากไทย ตามการลงนามตามพิธีสารฯ และมีผลบังคับใช้ตั้งแตวันที่ 29 เมษายน 2563 ซึ่งสามารถรองรับรถบรรทุกขนาดใหญ่หมุนเวียนเข้า – ออกได้ถึงวันละ 3,000 คัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสินค้าผ่านด่าน ด่านดังกล่าวมีการตั้งศูนย์ให้บริการแบบ One-stop Service ซึ่งรวมบริการ ยื่นเอกสาร ขึ้นทะเบียน การตรวจสอบกักกันโรค ฯลฯ รวมทั้งได้นำอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้ในการตรวจกักกันโรคที่ทันสมัยมาใช้ อาทิ เครื่องเอ็กซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์ ลานสุ่มตรวจสินค้า ห้องตรวจตัวอย่าง ห้องตรวจวิเคราะห์ และห้องรมยา (เพื่อฆ่าแมลงที่ติดมากับผลไม้)

ขณะที่ช่องทางการผ่านรถบรรทุกทั้งหมดมี 6 ช่องทาง ตั้งแต่ช่วงเวลาทดลองใช้งานจากวันที่ 19 มีนาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน เฉลี่ยมีปริมาณรถบรรทุกที่ผ่านด่าน จำนวน 700 – 800 คัน/วัน

ระบบการบริหารด่าน

การผ่านด่านประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ 1) การยื่นขอเอกสาร การยื่นเอกสารการนำเข้าจะใช้รูปแบบการยื่นขอล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ศุลกากรจีน ซึ่งสามารถยื่นขอล่วงหน้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง หลังจากได้รับการยื่นขอ ศุลกากรจะดำเนินการตรวจสอบภายใน 20 นาทีในเวลาราชการและส่งข้อมูลมายังด่าน 2) การผ่านด่านของรถบรรทุกสินค้า จะมีการสุ่มตรวจรถบรรทุกขนส่งตามล๊อตของใบนำเข้าสินค้า ในกรณีที่ไม่พบเจอปัญหาใดๆ จากรถบรรทุกที่ออกจากด่านเวียดนามจนถึงการปล่อยรถเข้ามาในจีนใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

ประเด็นสำคัญและข้อมูลเพิ่มเติม

หากเทียบกับเส้นทางการขนส่งทางบก ณ ปัจจุบันที่ผ่านด่านโหย่วอี้กวน เมืองผิงเสียงแล้ว การขนส่งผลไม้ผ่านด่านตงซิงจะมีระยะทางไกลกว่า 80 กิโลเมตร ด้วยเหตุว่าเส้นทางการขนส่งผลไม้จากไทยมายังจีนทางบกส่วนใหญ่จะผ่านกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง ทางเมืองตงซิงกำลังศึกษาเส้นทางการขนส่งที่เชี่อมทางทะเลและทางบกที่ผ่านเมืองไฮฟอง เวียดนาม โดยผ่านเส้นทาง ดังนี้ 1) ขนส่งผลไม้จากท่าเรือแหลมฉบังมายังท่าเรือไฮฟองแล้วอาศัยการเดินเรือประจำที่มีกำลังการขนส่ง 5 หมื่นตัน จากท่าเรือไฮฟองมายังท่าเรือหม่องก๋ายแล้วเข้ามาด่านตงซิง 2) ขนส่งผลไม้จากท่าเรือแหลมฉบังมายังท่าเรือไฮฟองแล้วขนส่งมายังตงซิงโดยรถบรรทุกโดยตรง ซึ่งมีระยะทางประมาณ 180 กิโลเมตร ขณะนี้เส้นทางทางบกดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างทางด่วน คาดการณ์ว่าจะสร้างเสร็จภายในต้นปีหน้า

 

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ

เมืองตงซิงได้กำหนดช่องทางการนำเข้าผลไม้ไทยที่ “สะพานมิตรภาพแห่งที่ 2” ซึ่งเป็นด่านที่ทำการแห่งใหม่ที่มีความทันสมัยและครบวงจร ด้วยด่านตงซิงมีความพร้อมด้านการขนส่งเชิงภูมิศาสตร์สูง เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบและมี       สิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน หากเทียบกับด่านโหย่วอี้กวน ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่เขา มีพื้นที่จำกัด ทำให้มีปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงฤดูผลไม้ ทำให้เกิดความเสียหายของสินค้าอยู่บ่อยครั้ง ด่านตงซิงจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางเลือกสำหรับการขนส่งสินค้าผลไม้ไทยสู่ตลาดจีน อีกทั้ง ทางเมืองตงซิงให้ความสำคัญและมีความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมการแปรรูป อาจเป็นโอกาสสำหรับการแปรรูปสินค้าเกษตรไทยไม่ว่าจะเป็นผลไม้ ผักหรือสัตว์น้ำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและขยายส่วนแบ่งตลาดในจีนอีกได้ด้วย

 

*********************************

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง

วันที่ 14 มิถุนายน 2567

 

 

แหล่งที่มา :

  1. https://mp.weixin.qq.com/s/F1Mt8D5kq9-cP-FLSh7s-w

 

 

 

 

 

thThai