เมื่อไม่นานมานี้ Reuters และ Anadolu Agency (AA) ได้รายงานการเปิดเผยข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของตุรกีว่า เงินสํารองระหว่างประเทศในธนาคารกลางตุรกีเพิ่มขึ้นจนกลับมาอยู่ในแดนบวกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นปี 2020 โดยในช่วงสัปดาห์เดียวได้เพิ่มขึ้นถึง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และรวมแล้วเพิ่มขึ้นเกือบ 67 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นับตั้งแต่การเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2024 ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้เงินสำรองระหว่างประเทศของตุรกีได้แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ลบ 65.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในวันที่ 29 มีนาคม 2024
นาย Mehmet Şimşek รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้อธิบายถึงการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศเป็นประวัติการณ์ในประวัติศาสตร์ของประเทศว่า เงินสำรองระหว่างประเทศเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสืบเนื่องมาจากความสนใจจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นและความต้องการสกุลเงินต่างประเทศของชาวตุรกีที่ลดลง และกล่าวว่าโครงการเศรษฐกิจระยะกลางของรัฐบาลทํางานได้ดีกว่าที่คาดไว้ “มีการไหลเข้าของเงินในธนาคารกลางกว่า 65 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา” ในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ NTV เขาให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่าเงินสํารองสุทธิ (Net Reserve) ของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐตุรกี (CBRT) เพิ่มขึ้นประมาณ 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 40.35 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 หลังจากนั้นในอีก 1 สัปดาห์ก็เพิ่มขึ้นอีก 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 45.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศรวมทั้งหมด (Total Reserve) เพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก 142.24 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 143.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลอย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของตุรกีพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 75 ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นจุดสูงสุดก่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง และค่าเงินลีร่าตุรกีที่ค่อนข้างคงที่ จะทําให้เกิดผลกระทบลดลง และนาย Şimşek ยังกล่าวด้วยว่า มีการไหลเข้าของเงินตราจากต่างประเทศสุทธิประมาณ 17 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ในมิติของการส่งออกนั้น ในช่วงเดือนเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เป็น 106.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่การนําเข้าลดลงร้อยละ 9.3 เป็น 143.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ “เรากําลังเติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นการการเติบโตที่สมดุล” นาย Şimşek กล่าว และกล่าวเสริมว่า ช่องว่างของบัญชีเดินสะพัดในปี 2023 อยู่ที่ 45.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจาก 48.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2022 และ “อัตราส่วนของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อรายได้ประชาชาติจะลดลงต่ำกว่าร้อยละ 2.5 ณ สิ้นปีนี้ รัฐบาลได้มาถึงขั้นตอนสุดท้ายของงานในการปฏิรูปเพื่อให้แน่ใจว่ามีความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี”
จากตัวเลขสถิติการค้าของตุรกีเฉพาะในเดือนเมษายน 2567 มีการส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่การนำเข้าเติบโตขึ้นร้อยละ 4 การขาดดุลการค้ายังเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนการ
ส่งออกต่อการนำเข้าดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีเยอรมนีเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิรัก และอิตาลี ส่วนจีนเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ รัสเซีย เยอรมนี อิตาลี และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ
ในมิติของประชาชน พบว่าดัชนีผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.37 ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.18 ในเดือนเมษายน “เราเห็นจุดสูงสุดของอัตราเงินเฟ้อประจําปี ซึ่งรวมถึงผลกระทบสะสมในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างถาวรจะเริ่มในเดือนมิถุนายน อัตราเงินเฟ้อประจําปีมีแนวโน้มที่จะลดลงต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในสิ้นไตรมาสที่สาม” นาย Şimşek กล่าว ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว ธนาคารกลางได้เพิ่มการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสําหรับสิ้นปี 2567 เป็นร้อยละ 38 เพิ่มขึ้นจากประมาณการก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ 36 ซึ่งการรักษาการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสําหรับปี 2025 และ 2026 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ร้อยละ 14 และ 9 ตามลําดับ และคาดว่าจะทรงตัวที่ร้อยละ 5 ในระยะกลาง
ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ
ถึงแม้ว่าตัวเลขของเศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศตุรกีที่ประกาศออกมานั้นจะดูมีแนวโน้มที่ดีขึ้นก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าในระดับจุลภาคแล้ว ภาคประชาชนเองยังไม่ไม่สามารถรับรู้หรือสัมผัสสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้เลย ดัชนีผู้บริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นก็ล้วนมาจากตัวเลือกในสินค้าและบริการที่ถูกบีบอัดจากมาตราการทางภาษีที่บังคับให้คนใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น หรือแม้แต่ความสนใจเงินสกุลต่างชาติที่ลดลงของคนตุรกีเองก็มีเหตุผลเดียวกัน ทั้งนี้ ยังคงพูดได้ว่าอัตราค่าครองชีพของตุรกียังคงมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในปัจจุบันจะเริ่มชะลอตัวลงกว่าช่วงก่อนหน้านี้ก็ตามแต่ก็ยังคงอยู่ในอัตราสูง และสร้างผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนอย่างมาก ภาคธุรกิจการส่งออกหรือนำเข้านั้นก็ไม่ต่างกัน ผู้ผลิตในประเทศต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต อันเนื่องจากมาตรการการเพิ่มภาษีการนำเข้าวัตถุดิบต่างๆ ดังนั้น ถึงแม้ว่าในระยะสั้นจะเห็นตัวเลขการส่งออกของตุรกีที่โตขึ้นก็ตาม แต่ในระยะยาวหากตุรกียังคงดำเนินนโยบายทางภาษีของการนำเข้าวัตถุดิบในลักษณนี้ต่อไปนั้น เชื่อว่าอาจกระทบต่อภาคการผลิตและความสามารถในส่งออกของตุรกีโดยตรงด้วยเช่นกัน