ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มนุษย์เรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากวัสดุต่าง ๆ ในธรรมชาติทั้งจากพืชและสัตว์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวเข้ามาปรับใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ข้อมูลจากองค์กร Discover Natural Fiber Initiative หรือ (DNFI) คาดการณ์ว่าในปี 2567 จะมีการผลิตเส้นใยธรรมชาติจากทั่วโลกได้ประมาณ 32.4 ล้านตัน[1] โดยเป็นเส้นใยจากพืชประมาณ 29.7 ล้านตัน และจากสัตว์ประมาณ 2.6 ล้านตัน ซึ่งเส้นใยจากสัตว์ที่หายากและมีราคาสูงที่สุดในโลก[2] คือ เส้นใยจากขนของวิคูญ่า (Vicuña) ซึ่งวิคูญ่าเป็นสัตว์ในตระกูลอูฐที่มีขนาดเล็กที่สุด มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบลาตินอเมริกา เปรู โบลิเวีย อาร์เจนติน่า ชิลี และเอกวาดอร์ อาศัยอยู่บนแถบเทือกเขาแอนดีส ที่ระดับความสูง 3,500 – 5,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โดยมีความสำคัญอย่างมากในวัฒนธรรมของเปรูมาตั้งแต่สมัยยุคอาณาจักรอินคา
ปัจจุบันวิคูญ่าถือเป็นสมบัติและสัตว์ประจำชาติของประเทศเปรู โดยปรากฏบนตราแผ่นดิน ธงชาติ และเหรียญกษาปณ์ ผ้าจากขนของวิคูญ่าเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมานานหลายศตวรรษ มีชื่อเสียงและคุณภาพที่โดดเด่นเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าเป็นเส้นใยที่มีความละเอียดและอ่อนนุ่มที่สุด ด้วยคุณลักษณะเฉพาะที่มีขนาดเล็กเพียง 9 – 12 ไมครอน[3] (1 ไมครอนมีค่าเท่ากับ 1 ใน 1,000 ส่วน ของ 1 มิลลิเมตร) มีน้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่น มีโพรงอากาศด้านในทำหน้าที่เป็นฉนวนควบคุมอุณหภูมิที่ดี นอกจากนี้ยังไม่มีสาร Lanolin ซึ่งเป็นน้ำมันตามธรรมชาติที่พบได้ทั่วไปในขนสัตว์ จึงไม่ก่อให้เกิดการแพ้แก่ผู้สวมใส่ ทำให้ขนของวิคูญ่าเป็นวัตถุดิบหายากที่เป็นที่ต้องการอย่างมากของแบรนด์ระดับ Luxury และ Hi-end ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น
สาเหตุที่ทำให้ขนของวิคูญ่ามีราคาสูง เนื่องมาจากอุปทานที่มีอย่างจำกัด และไม่สามารถนำมาเลี้ยงได้เหมือนสัตว์ชนิดอื่น ๆ อีกทั้งขั้นตอนการล้อมจับในธรรมชาติต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ใช้เวลาหลายวันติดต่อกันในภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสูงเข้าถึงได้ยาก การตัดขนที่ต้องทำด้วยมือ ประกอบกับระยะเวลาในการผลิตขนของวิคูญ่าเองที่ใช้เวลานาน โดยวิคูญ่า 1 ตัว จะสามารถตัดขนได้เพียง 1 ครั้งทุก ๆ 3 ปี และให้ขนปริมาณเพียง 150 – 190 กรัมเท่านั้น นับเป็นจำนวนที่น้อยมากหากเปรียบเทียบกับขนจากอัลปาก้า ที่สามารถ
ตัดขนได้ทุกปี และให้ปริมาณขนถึง 3 กิโลกรัมต่อตัว ปัจจุบันขนดิบวิคูญ่าที่ยังไม่ผ่านการทำความสะอาดมีราคาสูงถึง 400 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม[1]
ข้อมูลจาก The Association of Exporters of Peru (ADEX) Textile Committee[2] และ Global Trade Atlas เผยว่า ในปี 2566 เปรูส่งออกสินค้า ในกลุ่มเส้นใยดิบจากขนสัตว์ (พิกัดศุลกากรที่ 51) โดยมีมูลค่าการส่งออกที่ 17.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 33.9 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หากพิจารณาเฉพาะส่งการส่งออกขนวิคูญ่าจะอยู่ที่ 14,887[3] กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 4.6 ล้านเหรียญสหรัฐ[4] โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มเส้นใยดิบจากขนสัตว์ ในจำนวนนี้ ขนวิคูญ่าดิบถูกส่งออกไปยังประเทศอิตาลีคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 97.1[5] โบลิเวียร้อยละ 1.6 และญี่ปุ่นร้อยละ 1.2 ตามลำดับ โดยขนของวิคูญ่าที่ผ่านกรรมวิธีเป็นผ้าผืนแล้วจะมีราคาสูงถึง 1,800 – 3,000 เหรียญสหรัฐ ต่อ 1 หลา ขึ้นอยู่กับความหนาของเนื้อผ้า และเมื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าเครื่องนุ่งห่ม ผ้าพันคอจากขนของวิคูญ่าจะมีราคาตั้งแต่ 1,000 – 3,000 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่เสื้อคลุมหรือสูทจะมีราคาสูงถึง 20,000 – 40,000 เหรียญสหรัฐ
ก่อนยุคล่าอาณานิคมคาดว่ามีวิคูญ่าอาศัยอยู่ในภูมิภาคลาตินอเมริกาประมาณ 2 ล้านตัว[6] แต่เนื่องจากความต้องการขนวิคูญ่าที่เพิ่มขึ้น ทำให้วิคูญ่าถูกล่าอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการควบคุม จนเข้าสู่ภาวะวิกฤตใกล้สูญพันธ์ ข้อมูลจากสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN[7] เผยว่าในช่วงปี 2503 จำนวนวิคูญ่าทั่วทั้งภูมิภาคลาตินอเมริกาเหลืออยู่เพียง 6,000[8] ตัว ต่อมาในปี 2512 เปรูได้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์วิคูญ่า โดยจัดทำร่างอนุสัญญา La paz Convention[9] และผลักดันให้วิคูญ่าถูกจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อกลุ่มที่ 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES[10] โดยห้ามมิให้มีการล่า หรือค้าขายผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากวิคูญ่า พร้อมทั้งจัดตั้ง 6 เขตสงวนภายในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยมีประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา อาทิ โบลิเวีย ชิลี อาร์เจนติน่า รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ร่วมให้การสนับสนุน นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้จำนวนประชากรวิคูญ่ากลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ทั้งนี้ ในปี 2561 เปรูได้ปรับให้วิคูญ่าอยู่ในบัญชีรายชื่อในกลุ่มที่ 2 จากอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES ให้กลับมาเป็นสัตว์ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อีกครั้ง โดยต้องได้รับอนุญาตและอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาล
ข้อมูลจากกระทรวงการเกษตร (MINAGRI) กรมป่าไม้และสัตว์ป่า (SERFOR) ของเปรู เผยว่าในปี 2566 มีผู้ได้รับอนุญาตในการจับต้อน (Chaccus)[1] วิคูญ่าจำนวน 306 ราย จากพื้นที่ทั้งหมด 11 เขตการปกครอง โดยมีการจับต้อนเกิดขึ้นในปีนี้ทั้งหมด 720 ครั้ง สามารถจับวิคูญ่าได้ 70,254 ตัว และตัดขนได้ปริมาณรวมทั้งสิ้น 12,319 กิโลกรัม นอกจากนี้ วิคูญ่าที่ถูกจับจะได้รับการตรวจสุขภาพ รักษาโรค และปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ เป็นการลดความเสี่ยงจากการถูกล่าอย่างผิดกฎหมายเพราะวิคูญ่าที่ถูกตัดขนแล้วจะไม่ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มลักลอบฆ่าสัตว์ จากการจัดลำดับความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยแบ่งเป็นระดับต่าง ๆ ประกอบด้วย
- NE ยังไม่มีการประเมิน DD ข้อมูลไม่เพียงพอ
- LC ไม่น่ากังวล
- NT ใกล้ถูกคุกคาม
- VU เปราะบางต่อการสูญพันธ์
- EN อันตรายต่อการสูญพันธ์
- CR อันตรายต่อการสูญพันธ์อย่างร้ายแรง
- EW สูญพันธ์แล้วในธรรมชาติ
- EX สูญพันธ์โดยสมบูรณ์
ซึ่งในปัจจุบันวิคูญ่าถูกจัดอยู่ในระดับไม่น่ากังวล (Least Concern) LC ทั้งนี้ ข้อมูลจากสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN เผยว่าปัจจุบันจำนวนวิคูญ่าได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและถูกปรับเปลี่ยนสถานะจากระดับเปราะบางต่อการสูญพันธ์ (Vulnerable) มาเป็นระดับ ไม่น่ากังวล (Least Concern) และมีอัตราการฟื้นฟูสายพันธ์อยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 67) นอกจากนี้ มีการจัดลำดับอัตราการฟื้นฟูสายพันธุ์ของวิคูญ่า โดยแบ่งเป็นระดับต่าง ๆ ประกอบด้วย (1) NE ยังไม่มีการประเมิน (2) ID ยังไม่ได้กำหนด (3) FR ฟื้นคืนโดยสมบูรณ์ (4) SD ลดลงเล็กน้อย (ยังมีเหลืออยู่มาก) (5) MD ลดลงปานกลาง (มีเหลืออยู่พอสมควร) (6) LD ลดลงอย่างมาก (เหลือน้อย) (7) CD ลดลงอย่างร้ายแรง (แทบไม่เหลือแล้ว) (8) EW สูญพันธ์แล้วในธรรมชาติ (9) EX สูญพันธ์โดยสมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันวิคูญ่าถูกจัดอยู่ในระดับลดลงปานกลาง (Moderately Depleted) MD ทั้งนี้ จำนวนวิคูญ่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของเปรูในฐานะประเทศผู้นำที่ริเริ่มโครงการอนุรักษ์อย่างจริงจัง โดยปัจจุบัน มีวิคูญ่าประมาณ 474,000[1] ตัวในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยจำนวนวิคูญ่าส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเปรูคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 46 ในโบลิเวียร้อยละ 29 ในอาร์เจนติน่าร้อยละ 21 ในชิลีร้อยละ 3 และในเอกวาดอร์ร้อยละ 1 ตามลำดับ
บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก
ความสำเร็จของเปรูในการอนุรักษ์วิคูญ่า นับเป็นกรณีศึกษาที่ดีให้กับนานาประเทศ ในการบริหารจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากนโยบายและความร่วมมือในระดับนานาชาติ ไปจนถึงระดับรัฐบาลและชุมชนที่มีส่วนสำคัญในการช่วยพลิกฟื้นวิกฤตนี้ ไม่เพียงรักษาคุณค่าและความหลากหลายทางชีวภาพให้กับโลก ยังเป็นโอกาสในการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นประโยชน์ต่อสัตว์ที่ได้จะรับการคุ้มครองและดูแลอย่างยั่งยืน เป็นการได้ผลประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศเปรู มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 10 ของการผลิตทั้งหมดของประเทศ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 ของ GDP[1] สคต.ฯ คาดว่าการส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าจากขนสัตว์ในเปรูจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปี 2567 สะท้อนจากตัวเลขการซื้อขายในสินค้ากลุ่มเสื้อผ้าจากขนสัตว์ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 192.9[2] และสินค้าอื่น ๆ ที่ทำจากขนสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.4 คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 51.7 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ จากข้อมูล World trade atlas พบว่าการส่งออกเส้นใยดิบจากขนสัตว์ (พิกัดศุลกากรที่ 51) ของเปรูมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ถึงแม้ว่าเปรูจะสามารถผลิตเส้นใยจากขนสัตว์และเครื่องนุ่งห่มได้ แต่ยังคงจำเป็นต้องนำเข้าวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรสำหรับการผลิตอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันเปรูนำเข้าสินค้าในกลุ่มดังกล่าวจากไทย อาทิ เส้นด้าย (พิกัดศุลกากรที่ 55) เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.2 เครื่องจักรไฟฟ้า (พิกัดศุลกากรที่ 85) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 รวมมูลค่ากว่า 11 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการขยายตัวของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเปรูจะเป็นส่วนสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องของไทยเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี หลายประเทศมีการผลิตสินค้าที่ใกล้เคียงกับไทย ผู้ประกอบการของไทยจึงควรพิจารณาผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีการปรับใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าให้สินค้า และการกำหนดราคาที่สามารถแข่งขันได้
ในประเทศไทย กระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ค่อนข้างส่งผลทางลบต่อตลาดเครื่องนุ่งห่มและอุตสาหกรรมสิ่งทอจากเส้นใยที่ได้จากสัตว์ เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าสัตว์ต้องได้รับความทรมาน หรือเสียชีวิตในกระบวนการผลิต ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่มหรือเส้นใยจากขนสัตว์ จึงควรให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ และให้ความรู้เกี่ยวกับ แหล่งที่มา สวัสดิภาพของสัตว์ การควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวัสดุทางเลือกที่ได้มาโดยไม่ต้องฆ่าสัตว์ ซึ่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอจากเส้นใยที่ได้จากสัตว์ สามารถลงทะเบียนธุรกิจและขอใบรับรองจากสถาบัน RAF[3] (Responsible Animal Fiber) Textile exchange certified เพื่อรับรองกระบวนการผลิตและวัสดุว่าได้มาอย่างถูกต้องและมีจริยธรรม อีกยังเป็นการรับประกันสินค้าว่าผลิตจากวัสดุที่เป็นของแท้ ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภคอีกด้วย
__________________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
มิถุนายน 2567
[1] https://textilespanamericanos.com/textiles-panamericanos/2024/04/peru-textil-en-cifras-2/
[2] https://textilespanamericanos.com/textiles-panamericanos/2024/04/peru-textil-en-cifras-2/
[3] https://textileexchange.org/certification-bodies/
[1] https://www.iucnredlist.org/species/22956/145360542#population
[1] https://drive.google.com/file/d/1O04sKBJmMj1r1AqAhRHlgUgyY1lCEWi1/view
[1] https://www.textiletoday.com.bd/history-behind-the-worlds-most-expensive-vicuna-wool
[2] https://www.lostiempos.com/actualidad/mundo/20240428/exportadores-piden-peru-diversificar-oferta-fibra-vicuna-darle-valor
[3] https://infomercado.pe/exportacion-de-fibra-de-alpaca-y-vicuna-a-que-se-debe-el-incremento-en-envios-y-la-caida-de-precios/
[4] https://www.lostiempos.com/actualidad/mundo/20240428/exportadores-piden-peru-diversificar-oferta-fibra-vicuna-darle-valor
[5] https://infomercado.pe/exportacion-de-fibra-de-alpaca-y-vicuna-a-que-se-debe-el-incremento-en-envios-y-la-caida-de-precios/
[6] https://www.iucnredlist.org/species/22956/145360542#green-assessment-information
[7] https://www.iucnredlist.org/species/22956/145360542#geographic-range
[8] https://www.textiletoday.com.bd/history-behind-the-worlds-most-expensive-vicuna-wool
[9] https://www.oas.org/xxxivga/spanish/reference_docs/convencion_viena.pdf
[10] https://cites.org/eng
[1] https://dnfi.org/dnfi-world-natural-fibre-update-may-2024
[2] https://www.textiletoday.com.bd/history-behind-the-worlds-most-expensive-vicuna-wool
[3] https://longnow.org/ideas/vicuna-fur-conservation-peru/