- บทนำ
ธุรกิจร้านอาหารในไต้หวันเป็นธุรกิจที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ร้านอาหารต้องปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลของกระทรวงเศรษฐกิจไต้หวันชี้ว่า ผลประกอบการของร้านอาหารใน ไต้หวันในปี 2563 และ ปี 2564 มีการหดตัวลงร้อยละ 2.9 และ 6.2 ตามลำดับ ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2555 และกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2565 และปี 2566 ผลประกอบการของธุรกิจร้านอาหารกลับมาขยายตัวมากถึงร้อยละ 18.7 และ 19.1 โดยมีมูลค่า 7,957.4 ล้านบาทและ 9,478.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์ และขยายตัวมากขึ้นถึงร้อยละ 96.51 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555
- ภาวะตลาด
มูลค่าตลาดของธุรกิจร้านอาหารแบบ Full-Service ในไต้หวัน ในปี 2566 คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 296,407.9 ล้านบาท มีจำนวนร้านอาหารรวมประมาณ 8,069 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 1.2 (ข้อมูลจาก Euromonitor International)
ร้านอาหารเอเชีย (รวมถึงร้านอาหารไทย) ถือเป็นประเภทร้านอาหารที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดในตลาดไต้หวัน ด้วยมูลค่า 165,950.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากปี 2565 รองลงมาได้แก่ร้านอาหารอเมริกาเหนือ มูลค่า 15,967.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 จากปีก่อนหน้า และร้านอาหารยุโรป มูลค่า 9,772.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.4 ตามลำดับ รายละเอียดเพิ่มเติมปรากฏตามตารางที่ 1
ร้านอาหารต่างชาติที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในไต้หวันอย่างสม่ำเสมอ คือร้านอาหารเอเชีย ซึ่งในปี 2566 มีส่วนแบ่งตลาดมากถึงร้อยละ 56 อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคไต้หวันส่วนใหญ่มองว่าร้านอาหารเกาหลีและร้านอาหารไทยเป็นร้านในระดับกลาง เช่นเดียวกับอาหารสไตล์ North American จะเน้นการทำตลาดในกลุ่มลูกค้าระดับ Middle-high ในขณะที่ร้านอาหารญี่ปุ่นจะมีระดับราคาเฉลี่ยที่สูงกว่า
ตารางที่ 1 : จำนวนร้านและมูลค่าตลาดร้านอาหารแบบ Full-Service ในไต้หวันแบ่งตามประเภท
หน่วย: ร้าน / ล้านบาท
Type | 2564 | 2565 | 2566 | เปลี่ยนแปลง
66:65 (%) |
||||
จำนวน | มูลค่า | จำนวน | มูลค่า | จำนวน | มูลค่า | จำนวน | มูลค่า | |
Asian | 5,000 | 129,861.1 | 4,753 | 155,114.1 | 4,914 | 165,950.5 | 1.7 | 7.0 |
North American | 677 | 13,228.3 | 623 | 15,211.6 | 641 | 15,967.3 | 0.0 | 5.0 |
European | 310 | 8,109.2 | 292 | 9,500.3 | 284 | 9,772.2 | -0.4 | 2.9 |
Pizza | 40 | 1,038.6 | 42 | 1,249.1 | 44 | 1,334.9 | 2.3 | 6.9 |
Others | 1,662 | 94,366.6 | 2,287 | 98,785.3 | 2,186 | 103,383.0 | 0.4 | 4.7 |
Total | 7,689 | 246,603.8 | 7,997 | 279,860.4 | 8,069 | 296,407.9 | 1.2 | 5.9 |
ที่มา : Euromonitor International ปรับปรุงโดย : สคต. ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)
- ผู้ประกอบการรายสำคัญ
ผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 อันดับแรกในตลาดร้านอาหารแบบ Full-Service ของไต้หวันคือ Wowprime Corp. (ร้านเชนสเต็กและร้านอาหารญี่ปุ่นประยุกต์) TTFB Co.,Ltd. (ร้านเชนอาหารเอเชีย ส่วนใหญ่คืออาหารไทย) และ Jhujian Catering Group ทั้ง 3 บริษัทเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน 1) Wowprime Corp. ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในธุรกิจร้านอาหารแบบ Full-Service มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 17.9 โดยดำเนินธุรกิจด้วยการแตกแบรนด์เพื่อจับตลาดในระดับต่างๆ ของกลุ่มลูกค้าที่มีความชอบไม่เหมือนกัน Wowprime Corp. มีร้านอาหารในเครือแบบ Chain Restaurant หลายประเภทรวมทั้งหมด 32 แบรนด์ โดยมีจำนวนสาขารวมมากกว่า 400 แห่ง แบรนด์ที่มีชื่อเสียงคือ Wang Steak และ Tasty Steak House นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารญี่ปุ่นแนวประยุกต์ชื่อดังของไต้หวันอย่าง Tokiya ร้าน CHAMONIX ซึ่งเป็นร้านเทปันยากิระดับ High-end รวมไปถึงร้าน 12hotpot ซึ่งเป็นสุกี้หม้อไฟแบบชาบูราคามิตรภาพ ซึ่งต่างก็เป็นร้านที่ได้รับความนิยม มีคนต่อคิวเข้าใช้บริการเป็นจำนวนมากในทุกสาขา อีกทั้ง Wowprime ยังเป็นตัวแทนของร้าน PUTIEN ร้านอาหารจีนชื่อดังของสิงคโปร์ที่เป็นแบรนด์ระดับมิชลินสตาร์ด้วย
ตารางที่ 2 : ส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบการร้านอาหารแบบ Full-Service ในไต้หวัน 10 อันดับแรก
Unit: %
Company | 2564 | 2565 | 2566 |
1) Wowprime Corp | 22.4 | 17.5 | 17.9 |
2) TTFB Co.,Ltd. | 11.5 | 10.1 | 9.7 |
3) Jhujian Catering Group | 8.0 | 7.1 | 8.2 |
4) Fairy Rise Development Ltd. | 8.9 | 7.0 | 7.7 |
5) Rododo Hotpot | 4.9 | 3.7 | 4.0 |
6) Le Bie d’Or &B Co.,Ltd. | 3.8 | 2.9 | 3.3 |
7) 3Royalty 3House Int’l Co.,Ltd. | 4.7 | 3.5 | 2.7 |
8) Eat Together Corp. | 0.8 | 2.2 | 2.4 |
9) La Kaffa International Co.,Ltd. | 1.9 | 2.2 | 2.4 |
10) Renjie Oldshichuang Catering Management Consult Co.,Ltd. | 3.2 | 2.5 | 2.4 |
ข้อมูล : Euromonitor International ปรับปรุงโดย : สคต. ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)
2) ร้าน Thai Town ของกลุ่ม TTFB ถือเป็นแบรนด์ร้านอาหารไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในไต้หวัน โดย TTFB มีร้านอาหารในเครือทั้งหมด 9 แบรนด์เป็นร้านอาหารไทย 5 แบรนด์ ได้แก่ Thai Town, Very Thai, Thai Noodle, Thai BBQ และ BO BO มีร้านอาหารจีน 3 แบรนด์คือ 1010 Hunan Cuisine, 1010 Hunan Bistro และ Shann Rice Bar รวมถึงร้านอาหารอาเซียน 1 แบรนด์คือ Yabi Kitchen โดยมีจำนวนสาขารวมทั้งสิ้น 148 สาขา และรายได้ส่วนใหญ่ของ TTFB มาจากร้าน Thai Town ซึ่งมี 64 สาขาทั่วไต้หวันและเป็นแบรนด์ร้านอาหารที่ครองส่วนแบ่งตลาดในไต้หวันเป็นอันดับ 3 ในปี 2566 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 6.7 ในขณะที่ร้าน Very Thai ที่มี 7 สาขาทั่วไต้หวันก็มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.4 โดยกลุ่ม TTFB มีแผนจะขยายสาขาโดยมีเป้าหมายว่า ภายในปี 2030 จะขยายเป็น 30 แบรนด์และมีจำนวนสาขาทั่วโลกรวม 500 แห่ง โดย TTFB ตั้งเป้าจะยกระดับขึ้นเป็นแบรนด์ร้านอาหารเอเชียที่ใหญ่ที่สุดในโลกในอนาคต โดยวางตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดเป้าหมายแห่งแรกในต่างประเทศก่อน และมีแผนจะเปิดร้าน Thai Town สาขาแรกในสหรัฐฯ ที่นครลอสแองเจลิส อีกทั้งยังมีเป้าหมายจะเปิดร้านอาหารให้ได้ 100 สาขาทั่วสหรัฐฯ ภายในปี 2573 ด้วย
3) Jhujian Catering Group กลุ่มธุรกิจเชนร้านหม้อไฟและเนื้อย่างที่ก่อตั้งในปี 2019 ถือผู้ประกอบการที่เติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดร้านอาหารแบบ Full-Service ในไต้หวัน นำโดยขยายตัวของแบรนด์หลักอย่าง Jhu Jian ร้านหม้อไฟชื่อดัง และ Yakiniku Smile ร้านปิ้งย่างยอดฮิต ซึ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยมีสาขาหลายแห่งตั้งอยู่ในแหล่งช็อปปิ้งซึ่งเป็นศูนย์กลางในการนัดพบของผู้คน โดยบางร้านเปิดถึงตี 4 โดย Jhu Jian ซึ่งเป็นร้านหม้อไฟอันเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมจากชาวไต้หวัน นำเสนอบริการในแบบเซมิบุฟเฟ่ต์ซึ่งลูกค้าสามารถเติมผัก ไอศกรีม และเครื่องดื่มได้ตลอดเวลา ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทำให้ได้รับความนิยมในตลาดเป็นอย่างมากจนขยายตัวอย่างรวดเร็วและกลายเป็นผู้ประกอบการระดับ Top 3 ในตลาดร้านอาหารแบบ Full-Service ของไต้หวันในปี 2566 โดยหม้อไฟถือเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมในไต้หวันซึ่งสามารถรับประทานได้ทุกฤดูกาล เดิมที การรับประทานหม้อไฟจะนิยมรับประทานกันเป็นกลุ่ม ทั้งกับครอบครัวและญาติสนิทมิตรสหาย แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อไลฟ์สไตล์ของสังคมยุคใหม่ ทำให้มีร้านขายหม้อไฟหลายแบรนด์หันมาเปิดให้บริการสำหรับผู้ที่มาคนเดียว เช่น 12hotpot ซึ่งเป็นแบรนด์ร้านหม้อไฟของกลุ่มร้านอาหารชื่อดังอย่าง Wowprime Corp ก็ได้ออก 12MINI ที่เป็นร้าน Hotpot สำหรับบริการลูกค้าที่มีคนเดียว เพื่อเป็นการต่อยอดในการรองรับผู้ที่ต้องการรับประทานทานหม้อไฟเพียงลำพัง โดยที่ธุรกิจของ 12MINI ก็ฟื้นตัวหลังผ่านพ้นสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วด้วย เพราะในยุคหลังโควิด ผู้บริโภคในไต้หวันจำนวนไม่น้อยเห็นว่า หม้อไฟถือเป็นอาหารที่มีสุขอนามัยที่ดีกว่าอาหารหลายประเภท
ในขณะที่แบรนด์ร้านอาหารที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในไต้หวันคือร้านติ่งไท่ฟง (Din Tai Fung) ซึ่งเป็นร้านขายเสี่ยวหลงเปาชื่อดังที่บรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติไปเยือนในยามที่มีโอกาสเดินทางมาท่องเที่ยวในไต้หวัน ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 7.7 แบรนด์อันดับ 2 ในตลาดคือ Jhu Jian ร้านหม้อไฟชื่อดังที่ให้บริการแบบเซมิบุพเฟต์ (ลูกค้าสามารถเติมผัก เครื่องดื่ม และไอศกรีมได้ไม่อั้น) ซึ่งมีไอศกรีมแบรนด์ Mingo ของไทยไว้คอยให้บริการแก่ลูกค้าด้วย โดยมีจำนวน 179 สาขาทั่วไต้หวัน ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 7.0 โดยรายละเอียดเพิ่มเติมของส่วนแบ่งตลาดในส่วนของร้านอาหารแบบ Full-Service แบรนด์ต่างๆ ในไต้หวัน ปรากฏตามตารางที่ 3
ตารางที่ 3 : ส่วนแบ่งตลาดของแบรนด์ร้านอาหารแบบ Full-Service ในไต้หวัน 10 อันดับแรก
Unit: %
Brand | Company | 2564 | 2565 | 2566 |
1) Din Tai Fung | Fairy Rise Development | 8.9 | 7.0 | 7.7 |
2) Jhu Jian | Jhujian Catering Group | 6.9 | 6.1 | 7.0 |
3) Thai Town | TTFB Co | 7.6 | 6.8 | 6.7 |
4) Tasty Steak House | Wowprime Corp | 5.2 | 4.2 | 4.2 |
5) Rododo Hotpot | Rododo Group | 4.9 | 3.7 | 4.0 |
6) Le Ble d’Or | Le Bie d’Or F&B Co.,Ltd. | 3.8 | 2.9 | 3.3 |
7) Tokiya | Wowprime Corp | 4.4 | 3.3 | 3.0 |
8) 12hotpot | Wowprime Corp. | 3.4 | 2.4 | 2.7 |
9) 3Royalty 3House | 3Royalty 3House International | 4.7 | 3.5 | 2.7 |
10) Kaifun | Eat Together Corp. | 0.8 | 2.4 | 3.8 |
ข้อมูล : Euromonitor International ปรับปรุงโดย : สคต. ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)
- แนวโน้มตลาดและร้านอาหารไทยในไต้หวัน
การให้บริการในแบบเซมิบุฟเฟ่ต์ ที่ให้ผู้บริโภคสั่งอาหารจานหลักและมีบริการ ผักสด ไอศกรีม และเครื่องดื่ม ให้ทานแบบไม่จำกัด กำลังได้รับความนิยม เพราะผู้บริโภคมีความรู้สึกว่ามีความคุ้มค่าต่อเงินที่ใช้จ่ายไป (High Cost-Performance) อีกทั้งผู้บริโภคไต้หวันมีความรู้สึกว่า การรับประทานหม้อไฟจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ตามหลักโภชนาการ ทำให้ร้านหม้อไฟเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยม ส่งผลให้มีร้านอาหารหลายแห่ง เช่น ร้าน 12hotpot ของ Wowprime, ร้าน Giguo และร้าน Enjoy Hot Pot ซึ่งเป็นแบรนด์ในเครือของ Old Sichuan และ ร้าน Jhu Jian ซึ่งเป็นร้านอาหารที่ให้บริการตามความนิยมแบบนี้ โดย Jhu Jian มีการขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว หลังจากที่เปิดสาขาแรกในปี 2553 จนถึงสิ้นปี 2565 มีสาขาในไต้หวันรวม 166 แห่งพร้อมทั้งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไต้หวันในช่วงปลายปี 2565
อาหารแบบ BBQ ซึ่งรวมถึง BBQ แบบเกาหลีและยากินิกุ สไตล์ญี่ปุ่น ก็ได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่เป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การรับประทาน BBQ มักจะรับประทานร่วมกับกลุ่มหรือในงานพิเศษในไต้หวัน แต่เนื่องจากไลฟ์สไตล์แบบใช้ชีวิตคนเดียวกำลังเป็นแนวโน้มที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ในไต้หวัน ทำให้ร้านอาหารแบบ BBQ หันมาเปิดโต๊ะที่มีเตาย่างขนาดเล็กมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ซึ่งกระแสการบริโภคแบบญี่ปุ่นมีอิทธิพลอย่างมากในตลาดร้านอาหารประเภทนี้ ทำให้สามารถพบเห็นร้าน BBQ ที่เป็นแบรนด์ญี่ปุ่นหรือตกแต่งร้านสไตล์ญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากในไต้หวัน
สำหรับในส่วนของร้านอาหารไทย นอกจากร้าน Thai Town และร้านอาหารในเครือ TTFB แล้ว ร้านอาหารที่เป็นแบรนด์มาจากไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอย่างมาก ก็มีหลายแบรนด์ด้วยกัน เช่น Nara, Lady nara, Somtam Der, Baan และ Baan Phadthai ซึ่งต่างก็เป็นร้านอาหารไทยในไต้หวันที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai Select ด้วย ในจำนวนนี้ Nara มีจำนวนสาขามากที่สุด คือ 11 สาขา รองลงมาได้แก่ Lady nara และ Baan Phadthai ซึ่งต่างก็มีจำนวน 5 สาขา แสดงให้เห็นถึงความนิยมที่เพิ่มขึ้นของอาหารไทย ในส่วนของร้านอาหารไทยระดับ High-end ในตลาดไต้หวัน ก็มีหลายแบรนด์ เช่น ร้าน Sukhothai ในโรงแรม Sheraton Taipei ร้าน Coast ของเชฟเอียน กิตติชัยในโรงแรม Regent Taipei และร้าน Thai & Thai ที่เป็นร้านอาหารไทยในโรงแรมแมนดารินโอเรียลเต็ล แสดงให้เห็นถึงโอกาสของร้านอาหารไทยในไต้หวันที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง
ผู้บริโภคไต้หวันมีทัศนคติที่เปิดกว้างต่อการทดลองและเปิดรับวัฒนธรรมใหม่ๆ ทำให้มีร้านอาหารสไตล์ต่างประเทศเปิดให้บริการในไต้หวันมากขึ้น โดยแม้ว่าร้านอาหารไทยจะเป็นร้านอาหารจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับความนิยมในตลาด ไต้หวันมากที่สุด จนมีร้านอาหารไทยในไต้หวันอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่จะมีเจ้าของเป็นชาวไต้หวัน ซึ่งแตกต่างจากการเปิดตัวเป็นจำนวนมากของร้านอาหารเวียดนามในช่วงหลายปีมานี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีชาวเวียดนามที่ย้ายถิ่นฐานมาพำนักอาศัยอยู่ในไต้หวันเป็นเจ้าของร้านเอง โดยส่วนใหญ่ ยังเป็นร้านเล็กๆ ที่จับกลุ่มลูกค้าในระดับกลาง-ล่างในแบบของร้านอาหารจานเดียวมากกว่า ไม่เหมือนร้านอาหารไทย ที่มีความหลากหลายของกลุ่มลูกค้า
ไต้หวันเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด จนเกิดการขาดแคลนแรงงานในธุรกิจร้านอาหาร ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว โดยล่าสุดมีการเปิดตัวร้านบะหมี่ไร้พนักงานแห่งแรก ซึ่งเปิดให้บริการในไต้หวันตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 คือร้าน Han Si-en 24h Ramen Convenience Store ซึ่งผู้บริโภคสามารถซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีจำหน่ายในร้านไปต้มเองและทางร้านจะจัดเตรียมผักสด/เครื่องเคียงให้นำไปต้มพร้อมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ความสะดวกในการไปใช้บริการและการเปิดร้านบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด รวมถึงมีบริการตลอด 24 ชั่วโมง ความรู้สึกคุ้มค่าในการมาใช้บริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นนักศึกษาซึ่งต้องการหาอาหารรับประทานในช่วงยามดึก และเริ่มเบื่อหน่ายกับการรับประทานข้าวกล่องแบบ Frozenหรือขนมปังจากร้านสะดวกซื้อ ทำให้ร้านบะหมี่ไร้พนักงานได้รับความนิยมจากเหล่านักศึกษาและคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก จนมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลให้มีผู้สนใจนำไอเดียในการเปิดร้านแบบนี้ ไปเปิดเป็นแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งขณะนี้มีร้านแบบเดียวกันนี้มากถึง 6 แบรนด์แล้ว
นอกจากนี้ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดของไต้หวัน ยังทำให้เกิดแนวโน้มการบริโภคเพื่อสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ร้านอาหารแนวมังสวิรัติได้รับความนิยมไม่น้อยเช่นกัน โดยมีแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในไต้หวัน เช่น Fruitfulfood ที่เป็นร้านอาหารมังสวิรัติแนวบุพเฟ่ต์ในเครือ Eat Together ซึ่งมี 5 สาขาทั่วไต้หวัน ร้าน Little Tree Food ที่มี 4 สาขาในไทเป ร้าน Yang Shin Vegeterian ที่ขายอาหารมังสวิรัติสไตล์กวางตุ้ง ร้าน DeliSoys ซึ่งเน้นการขายเมนูเต้าหู้ และร้าน Vegan Amore ซึ่งเป็นร้านขายอาหารมังสวิรัติในเมนูแบบตะวันตก เป็นต้น
- ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ
5.1 ความนิยมในการรับประทานหม้อไฟของชาวไต้หวัน ถือเป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจสำหรับการขยายตลาดของร้านอาหารแบรนด์ไทยมายังไต้หวัน ปัจจุบัน ในกลุ่มร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai Select ก็มีร้านหม้อไฟแบบไทย คือ ร้าน Lan Xian Ting Thai Pot ซึ่งปัจจุบันมี 5 สาขาทั่วไต้หวัน ได้รับความนิยมจากชาวไต้หวันไม่น้อย โดยนำเสนออาหารหม้อไฟน้ำซุปต้มยำและแกงเขียวหวาน ซึ่งเป็นเอกลัษณ์ของร้านที่ไม่มีในร้านอื่น นอกจากนี้แล้ว ไทยก็ยังมีแบรนด์ร้านอาหารแบบหม้อไฟที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวไต้หวันเป็นอย่างมาก และเป็นหนึ่งในร้านที่ต้องไปรับประทานหากเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศไทย คือ ร้าน MK สุกี้ รวมถึงยังมีแบรนด์ร้านจิ้มจุ่มของไทยที่ถือเป็นแนวร้านอาหารในกลุ่มหม้อไฟเช่นกัน จึงถือเป็นโอกาสของแบรนด์ไทยในการขยายตลาดมายังไต้หวัน
5.2 การดูข้อมูลจาก Google Search ซึ่งจะมีการติดดาวให้กับร้านอาหารในละแวก/พื้นที่ที่ต้องการค้นหา ดังนั้นร้านอาหารควรให้ความสนใจต่อความคิดเห็นที่ถูกแสดงขึ้นมาให้มาก โดยเฉพาะในส่วนของ Negative WOM ที่จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะตัดสินใจไม่เลือกใช้บริการร้านอาหารที่มี Negative WOM จำนวนหลายๆ ข้อความ ทำให้ร้านอาหารหลายแบรนด์มีการให้โปรโมชั่นพิเศษ สำหรับลูกค้าที่กด 5 ดาวให้ในกูเกิล เช่น ร้านหม้อไฟหม่าล่า หรือร้าน Pinnada ที่เป็นร้านขายหมูทอดญี่ปุ่นในเครือ Wowprime เพื่อช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์
5.3 ร้านอาหารแบรนด์ไทยที่เข้ามาเปิดและมีชื่อเสียงในไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็น Nara Thai Cuisine, Baan Phadthai, Baan รวมถึง Somtamdur ต่างก็เป็นร้านในระดับมิชลินสตาร์แทบทั้งสิ้น แสดงให้เห็นถึงการยอมรับในแบรนด์มิชิลินของชาวไต้หวัน ไต้หวันจึงถือเป็นตลาดที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับร้านอาหารในกลุ่มนี้ ทั้งนี้ การที่รัฐบาลไต้หวันอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถจดทะเบียนนิติบุคคลในกิจการร้านอาหารโดยถือหุ้น 100% ได้ จึงทำให้ไต้หวันเป็นตลาดที่น่าสนใจมากๆ ของร้านอาหารแบรนด์ไทยเป็นอย่างมาก
5.4 การเติบโตของร้าน Thai Town ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญในการสร้างธุรกิจร้านอาหารอย่างเป็นระบบ ที่สามารถควบคุมคุณภาพได้แม้จะมีการขยายสาขาเป็นจำนวนมาก โดยมีการจัดทำ Standard Operation Procedure (SOP) ที่ไม่ว่าเชฟคนใดก็สามารถปรุงอาหารได้รสชาติเดียวกัน นอกจากนี้ TTFB ยังมีระบบสร้างเชฟ ที่นำเอาระบบแถบสีของเชฟ/พนักงานต้อนรับมาใช้ ในแบบเดียวกับระบบสีเข็มขัดของกีฬายูโดหรือเทควันโด้ โดยจะมีการกำหนดไว้ว่าเชฟในระดับแถบสีอะไร สามารถทำอาหารในเมนูใด หรือเชฟระดับแถบสีใดสามารถเป็นหัวหน้าเชฟประจำสาขา ทำให้พนักงานสามารถมองเห็น Carrer Path ในการสร้างความก้าวหน้าให้กับตัวเอง จนมี Loyalty ต่อองค์กรในระดับสูง ส่งผลให้ TTFB สามารถประชาสัมพันธ์ได้อย่างเต็มที่ว่า การไปรับประทานอาหารในร้านของทางเครือไม่ว่าสาขาใด จะได้รับประทานอาหารที่มีรสชาติเป็นมาตรฐานเหมือนกันทุกแห่ง จึงถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับร้านอาหารแบรนด์ไทยที่สามารถนำไปปรับใช้งานให้เหมาะสมกับการขยายธุรกิจของตัวเองต่อไป
- งานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้อง
- Taipei International Food Show 2024 (http://www.foodtaipei.com.tw)June 26-28, 2567
- Taipei Int’l Chain & Franchise Summer Exhibition
(https://franchise-fair.top-link.com.tw/)
September 20-23, 2567
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- Internatinoal Trade Administration (http://www.trade.gov.tw)
- Administration of Commerce (https://www.aoc.gov.tw/)
- Taiwan External Trade & Development Council (http://www.taiwantrade.com.tw)
- แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
- Association of Chain & Franchise Promotion, Taiwan (https://www.taiwanfranchise.org/)
- ข้อมูลการจัดตั้งร้านอาหาร/ภัตตาคารไทยในไต้หวัน