• ไอซ์แลนด์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่อยู่ระดับแนวหน้าของโลก จัดเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง สภาพสังคมและการเมืองมีความมั่นคงเรียบร้อย เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก เมื่อเดือนมกราคม 2538 มีการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูง โดยเฉพาะศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม พลังงานและแร่ธาตุธรรมชาติ ภาวะ โลกร้อน และน้ำแข็งทางขั้วโลก
• ไอซ์แลนด์ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ปัจจุบันเป็นสมาชิก European Free Trade Association (EFTA) และ European Economic Area (EEA) ใช้เงินสกุลของตนเองคือโครนไอซ์แลนด์ (Icelandic Krona: ISK) เป็นหลัก แต่กฎระเบียบทางการค้า การนำเข้า คล้ายคลึงกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรป เช่น การติดฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร และ CE marking
• ข้อมูลจากธนาคารโลก (World Bank, 2022) ประชากรไอซ์แลนด์มีรายได้ต่อหัวประชากรที่ 68,660 เหรียญสหรัฐ จากโครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ประชาชนได้รับการศึกษาที่ดี มีความรู้ความสามารถ สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ประเทศต่างๆ จึงมีความสนใจในการแสวงหาความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนเรื่อยมา
• ไอซ์แลนด์มีจำนวนสัดส่วนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (Internet Users) สูงที่สุดในกลุ่มประเทศนอร์ดิก คิดเป็นร้อยละ 100 ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยไอซ์แลนด์มีระบบสาธารณูปโภคที่ได้รับการพัฒนาเป็นอย่างดี
• ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติไอซ์แลนด์ (Statistics Iceland) ไอซ์แลนด์มีจำนวนประชากรรวม 383,726 ราย แบ่งออกเป็นประชากรวัยทำงานประมาณ 200,000 ราย ประชากรเด็ก และเยาวชน (0 – 19 ปี) ประมาณ 90,000 ราย และประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ประมาณ 80,000 ราย
บทวิเคราะห์
• จากระยะทางที่ห่างไกล และขนาดตลาดที่เล็ก ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าจากประเทศไทยสูง ผู้นำเข้าจึงจำเป็นต้องสั่งสินค้าไทยผ่านประเทศที่สามในสหภาพยุโรป เช่น เดนมาร์ก สวีเดน และเนเธอร์แลนด์
• นอกจากนี้ จากเขตที่ตั้งที่อยู่ห่างไกลและมีอากาศหนาวเย็น ไอซ์แลนด์จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ สินค้าไทยที่มีโอกาสในตลาดนี้ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก สินค้าสันทนาการ เกมและอุปกรณ์การกีฬา เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และเนื่องจากการส่งออกปลาและอาหารทะเลเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไอซ์แลนด์ อุปกรณ์การจับปลาและตาข่ายจึงมีโอกาสในตลาดนี้ด้วย
• พฤติกรรมการบริโภคของไอซ์แลนด์จะมีแนวโน้มรูปแบบคล้ายคลึงกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก กล่าวคือ นิยมสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีมาตรฐานสูง แต่ยังมีแนวโน้มช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านเดนมาร์กประมาณ 20 ปี การรับประทานสินค้าออร์แกนิกยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก
• ไอซ์แลนด์เป็นประเทศขนาดเล็ก และยังมีผู้เล่นในตลาดไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไอซ์แลนด์เติบโตอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อเดินทางเข้ามายังไอซ์แลนด์กว่า 2.3 ล้านคน/ปี เติบโตกว่าร้อยละ 40 โดยเฉพาะหลังช่วงโรคระบาด COVID-19 ที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาฟื้นฟู
• ผลิตภัณฑ์อาหารไทยได้การรับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคชาวไอซ์แลนด์ เนื่องจากมีรสชาติที่จัดจ้าน เหมาะกับผู้บริโภคชาวไอซ์แลนด์ที่ชื่นชอบรสชาติอาหารแปลกใหม่ สินค้าอาหารไทยที่มีศักยภาพในตลาดนี้ เช่น ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว เครื่องแกง และซอสปรุงรสต่างๆ เป็นต้น