เมืองตงก่วนม้ามืดทางเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้งในปี 2567

ในปี 2567 เมืองตงก่วนซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางระเบียงเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุก          มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นเมืองม้ามืดที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมาแรงในมณฑลกวางตุ้ง ด้วยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และรากฐานทางอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง เมืองตงก่วนจึงไม่เพียงแต่เป็นหน้าต่างสำคัญสำหรับมณฑลกวางตุ้งเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการก่อสร้างเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊าอีกด้วย (Greater Bay Area : GBA) ผนวกกับการดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมของรัฐบาลจีน ส่งผลให้เห็นแนวโน้มการพัฒนาของเมืองได้ชัดเจน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการยกระดับของเมืองที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บ่งชี้ว่าเมืองต่งกวนจะกลายเป็นต้นแบบเมืองนำร่องสำหรับการพัฒนาในระดับภูมิภาคของจีน

เมืองตงก่วน (Dongguan) เป็นนครระดับจังหวัดตั้งอยู่ทางตอนกลางของมณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในแผนการพัฒนาของเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area : GBA) โดยเมืองตงก่วนเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุก และตั้งอยู่กึ่งกลางระเบียงเศรษฐกิจ กวางโจว-เซินเจิ้น ซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางบกและทางทะเล ในทางภูมิศาสตร์ ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาทางทิศตะวันออกและที่ราบทางตะวันตก โดยมีชายฝั่งยาว 115.98 กิโลเมตร (72.07 ไมล์) ตงก่วนมีอาณาเขตทางทิศเหนือติดกับกวางโจว เมืองเอกของมณฑล ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับฮุ่ยโจว ทิศใต้ติดกับเซินเจิ้น และทิศตะวันตกติดกับแม่น้ำไข่มุก เมืองตงก่วนกับฮ่องกงและมาเก๊า มีเพียงแม่น้ำกั้นระหว่างกลางเท่านั้น ทั้งยัง อยู่ใกล้กับปากแม่น้ำไข่มุก ตั้งอยู่ในใจกลางของภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุก นอกจากนี้ ยังมีการคมนาคมที่สะดวกอย่างมาก อาทิเส้นทางระหว่างเมืองฝอซาน-เมืองตงกวน, เส้นทางระหว่างเมืองซุ่ยเสิน-เมืองเซินเจิ้น, รถไฟใต้ดินตงก่วน R1 และสายระหว่างเมืองตงกวน-ฮุ่ยโจว ส่งผลให้เมืองตงก่วนเป็นศูนย์กลางการสัญจรของผู้คน การขนส่ง และเงินทุนในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุก จนนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการทางเศรษฐกิจของภูมิภาคจีน

การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้เมืองตงก่วนมีการเปลี่ยนจากรูปแบบการค้าแปรรูปแบบดั้งเดิมไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตและบริการระดับสูง โดยเมืองตงก่วนเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกจนได้รับฉายาว่าเป็นโรงงานของโลก และมีบริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนกว่า 10,000 บริษัท ซึ่งเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมสินค้าเทคโนโลยีระดับสูง สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ และรองเท้า ได้รับการขนานนามให้เป็น “Global Computer City” “Global Toy City” “Global Footwear City” และ “Famous South China Costume City” มีการผลิตโทรศัพท์มือถือมากที่สุดในจีน 3.5 ล้านล้านเครื่อง (มีโรงงานผลิตมือถือของ บ. Huawei บ.OPPO และ บ.VIVO) นอกจากนี้ เมืองตงก่วนยังเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลกอย่าง หัวหนาน มอลล์ (South China Mall) และยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกวางตุ้ง มหาวิทยาลัยแพทย์กวางตุ้ง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีตงก่วน

ตัวเลขทางเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้งส่วนใหญ่ มาจากเมืองในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง อาทิ กวางโจว เซินเจิ้น จูไห่ ฝอซาน จงซานและตงก่วน ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องวัดการค้าต่างประเทศของจีนมาโดยตลอด  โดยส่วนแบ่งการค้าต่างประเทศของเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงตลอดทั้งปี 2566 ยังคงอยู่ที่ประมาณ 20% ต่อการค้าต่างประเทศทั้งหมดของประเทศจีน และอัตราส่วนการค้าต่างประเทศรวมตลอดทั้งปีของมณฑลกวางตุ้งอยู่ที่ประมาณ 95% ดังนั้น การค้าต่างประเทศของจีน ส่วนใหญ่มาจากมณฑลกวางตุ้ง และส่วนใหญ่มาจากเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง ปริมาณการค้าต่างประเทศรวมของ 4 เมืองดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80% ของปริมาณการค้าต่างประเทศของ 9 เมืองในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง ซึ่งมาจากสี่เมืองหลักในมณฑลกวางตุ้ง โดยหนึ่งในนั้นมีเมืองตงก่วนรวมอยู่ด้วย เมื่อพิจารณาจากข้อมูลการนำเข้าและส่งออกในปี 2566 เมืองตงก่วนยังคงครองอันดับสองของเมืองที่มีการค้าต่างประเทศมากที่สุดในมณฑลกวางตุ้ง นอกจากนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 เมืองตงก่วนมีอัตราการเติบโตของ GDP เป็นอันดับ 2 ของ 9 เมืองในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง

เมื่อพิจารณาจากภาพรวมเศรษฐกิจของเมืองต่างๆ ในมณฑลกวางตุ้ง จะเห็นได้ว่าสถานะและความสำคัญของตงก่วนในมณฑลกวางตุ้ง ไม่เพียงแต่มีศักยภาพและประสิทธิภาพที่โดดเด่นในหลายด้าน เช่น อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การท่องเที่ยว ฯลฯ แต่ยังแสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจและความหนาแน่นของประชากร ความสามารถในการแข่งขันและความกระตือรือร้นในการเร่งพัฒนาเติบโตอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าเมืองตงก่วนจะมีพื้นที่ขนาดเล็ก แต่เมืองตงก่วนยังคงสามารถครองสัดส่วนทางเศรษฐกิจในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุก นอกจากนี้ ด้วยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ กอปรกับการสนับสนุนด้านนโยบายของรัฐบาลท้องถิ่นอย่างแข็งขันที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทำให้ภาคธุรกิจในเมืองที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงของมณฑลกวางตุ้ง สามารถนำสินค้ามุ่งหน้าไปสู่ตลาดผู้บริโภคภายในจีนอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงมีแนวโน้มการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ในระยะยาวจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ปัจจุบันอาเซียนได้กลายเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ ของจีน  จะเห็นได้ว่า จีนหันมาให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางการค้ากับประเทศอาเซียนมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต รวมถึงโอกาสของไทยที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC กับ GBA ด้วย ซึ่งในระยะยาวจะผลักดันให้ไทยนำไปสู่การพัฒนาทางการค้าได้อย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน 

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

ปัจจุบัน เมืองตงก่วนได้รับคัดเลือกให้เป็นเมืองที่มีศักยภาพการแข่งขันสูง เป็นอันดับที่ 20 จาก 249 เมืองในจีน โดยมีเกณฑ์การประเมินด้านต่างๆ เช่น ศักยภาพทางเศรษฐกิจ ระดับรายได้ของประชาชน สิ่งก่อสร้างและที่อยู่อาศัย โดย 10 อันดับแรกที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นเมืองที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง คือ ฮ่องกง ไทเป ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น กวางโจว เทียนจิน หางโจว ชิงต่าว และฉางซา ตามลําดับ แม้ว่าเมืองตงก่วนจะไม่ได้เป็นเมืองชั้นนําที่มีศักยภาพในการแข่งขันที่ติดอันดับ Top10 ของจีน แต่วิสาหกิจของเมืองตงก่วนกลับมีความสามารถในการแข่งขันสูงเป็นอันดับ 3 มีนวัตกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับ 7 และมีสิ่งแวดล้อมทางด้านสังคมที่ดีเป็นอันดับ 9 ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของกิจการส่วนใหญ่จะประเมินครอบคลุมถึงดัชนีความสามารถในการเติบโตของกิจการ ความสร้างสรรค์ ความสามารถทางด้านการผลิต ความสามารถทางการตลาด ความสามารถทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากร ศักยภาพในการขับเคลื่อนธุรกิจ ตามการรายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีน ปี 2566 ระบุว่า อันดับ 1 และ 2 คือ เมืองเซี่ยงไฮ้ และเมืองซูโจว ตามลําดับ นอกจากนี้ จากการเปรียบเทียบเมืองที่มีศักยภาพในการแข่งขันที่เติบโตเร็วที่สุด 50 เมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมืองตงก่วนได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับ 6 จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า เมืองตงก่วนเป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการผลิตและการค้า  ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนความรู้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ของเมืองตงก่วน เพื่อนำไปพัฒนากับอุตสาหกรรมการผลิตของไทยและสามารถหาช่องทางความร่วมมือทางการค้ากับอุตสาหกรรมเหล่านั้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยเองควรมีการปรับกลยุทธ์และพัฒนาวิสาหกิจ เพื่อเสริมศักยภาพของธุรกิจให้แข็งแกร่งท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และเพื่อเพิ่มศักยภาพการส่งออกให้มากยิ่งขึ้น

 

 

 

ที่มา:

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1796210242847850168&wfr=spider&for=pc

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1799027474367209160&wfr=spider&for=pc

https://finance.eastmoney.com/a/202406113100577420.html

https://export.shobserver.com/baijiahao/html/759080.html

https://www.thepaper.cn/newsDetail_forward_27665275

ภาพ: https://m.thepaper.cn/baijiahao_27118094

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

thThai