งานแสดงสินค้า China (Guangzhou) international Health industry Expo ครั้งที่ 32 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14-16 มิถุนายน 2567 ณ China Import and Export Fair Complex เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมด้านสุขภาพนานาชาติ รูปแบบ B2B ที่ยิ่งใหญ่ในประเทศจีน จัดขึ้นภายใต้ธีม “Healthy China, Blessing the World” โดยมีพื้นที่จัดแสดง 30,000 ตารางเมตร ภายในงานมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์กว่าหมื่นรายการ โดยครอบคลุมถึงสินค้าอาหาร เพื่อสุขภาพและอาหารเสริม อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาบำรุงและยาแผนโบราณจีน ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพแม่และเด็ก โปรไบโอติกและสุขภาพลำไส้ , การดูแลผู้สูงอายุอัจฉริยะ, อาหารและเวชภัณฑ์เพื่อสุขภาพนำเข้า, การรักษาพยาบาลข้ามพรมแดนและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์, ผลิตภัณฑ์ไฮโดรเจนและน้ำดื่มเพื่อสุขภาพ, ผลิตภัณฑ์เสริมความงามและการชะลอวัย, นิคมอุตสาหกรรมด้านสุขภาพแบบครบวงจร, ซัพพลายเออร์ผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพกว่าสิบกลุ่มหลัก เช่น บรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและอุปกรณ์การผลิตจากแบรนด์ชั้นนำกว่า 1,000 แบรนด์ ในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพระดับโลก ส่งผลให้งานแสดงสินค้าดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ซื้อและตัวแทนจำหน่ายมืออาชีพเป็นจำนวนมาก
งานแสดงสินค้า The 32nd China (Guangzhou) International Health Industry Expo เป็นงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมด้านสุขภาพนานาชาติ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีศักยภาพในการสร้างห่วงโซ่อุปทาน ที่มีประสิทธิภาพสำหรับอุตสาหกรรมด้านสุขภาพในจีนและต่างประเทศ โดยงานแสดงสินค้าฯ ครั้งนี้ มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ ร้านขายยาแบบเครือข่าย อีคอมเมิร์ซ ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า สมาคมธุรกิจ และผู้ซื้อมืออาชีพด้านสุขภาพ ที่มีศักยภาพสูง เข้าร่วมจัดแสดงสินค้ามากกว่า 1,500 ราย และมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 80,000 คน จาก 20 กว่าประเทศทั่วโลก อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย ปากีสถาน เวียดนาม กัมพูชา นอร์เวย์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมนี เป็นต้น
โดยบูธสินค้าประเทศไทย มีผู้ประกอบการไทยจำนวน 2 ราย ที่เข้าร่วมโครงการ SMEs Pro-active ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้สนับสนุนค่าเช่าพื้นที่ โดยสินค้าที่นำมาจัดแสดงเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและความงาม อาทิ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับแม่และเด็ก ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม จากการเข้าเยี่ยมชมและพบปะผู้ประกอบการจำนวน 2 ราย ที่เข้าร่วมโครงการ SMEs Pro-active พบว่า สินค้าผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและความงามที่ทำจากธรรมชาติได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในตลาดจีนเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยปัจจุบัน ผู้บริโภคกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในจีน คือคนยุคหลังปี 1990 และผู้บริโภคกลุ่มสูงวัย ต้องการผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม เนื่องจากปัจจุบัน ประชากรสูงวัยในจีนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้มีความต้องการสำหรับผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมและน้ำยาปกปิดผมขาวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ดี จากการสอบถามผู้ประกอบการ พบว่า ผู้ประกอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับแม่และเด็กต้องประสบกับราคาของคู่แข่งจากจีน โดยผลิตภัณฑ์ฯ ของประเทศจีน มีราคาที่ถูกกว่า อีกทั้งจีนมีความเข้าใจผู้บริโภคในประเทศเป็นอย่างดี รวมถึงมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดีทำให้ผู้คนหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์ภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมของไทยได้รับความนิยมจากตลาดจีนอย่างมาก ซึ่งระหว่างการเข้าร่วมงานจัดแสดงมีลูกค้ามาติดต่อสอบถามและเจรจาการค้าเฉลี่ย 10 – 20 รายต่อวัน โดยผู้เข้าชมบูธส่วนใหญ่เป็นชาวจีน นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศ ได้นำผู้ส่งออกสินค้าเกษตรนวัตกรรมของไทย ประกอบไปด้วย ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ อาทิ แยมไม่ใส่น้ำตาลเพื่อสุขภาพ ขนมทานเล่นคลุกข้าว เครื่องดื่มถั่วแระญี่ปุ่นผสมผักชีไทย ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากทางเลือกจากพืช เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและความงาม อาทิ โลชั่นน้ำมันแมคาเดเมีย ครีมทาผิวสารสกัดจากพืชสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดขนตาจากธรรมชาติ น้ำมันและครีมมะพร้าว สเปรย์กำจัดกลิ่นสัตว์เลี้ยงเป็นต้น มาร่วมจัดแสดงในงานแสดงสินค้าครั้งนี้ ซึ่งระหว่างการจัดแสดง ผลิตภัณฑ์สินค้าของไทยมีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้สินค้าไทยที่นำมาจัดแสดงได้รับความสนใจจากผู้นำเข้าทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
ภายหลังจากการระบาดของโรคโควิด 19 ประชาชนจีนให้ความสำคัญกับการบริโภคสินค้าและให้ความสนใจสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยประเภทอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ เนื่องจากชาวจีนมีความเชื่อมั่นต่อคุณภาพสินค้าทางการเกษตรของไทย ทั้งนี้ การนำสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและความงามของไทยที่มีศักยภาพเข้าร่วมจัดแสดงในงานแสดงสินค้าฯ ครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการประชาสัมพันธ์สินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในเวทีการค้าสากลมากยิ่งขึ้น งานแสดงสินค้าดังกล่าว ไม่เพียงแต่สามารถช่วยให้ผู้ส่งออกของไทยเข้าใจสถานการณ์ในตลาดจีนมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ส่งออกไทยสามารถติดต่อการค้ากับหลากหลายประเทศ จนนำไปสู่การขยายตลาดเพิ่มมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี จากการสอบถามผู้ประกอบการเกี่ยวกับอุปสรรคในการส่งออก พบว่า อุปสรรคทางการค้าของผู้ประกอบการไทยที่สำคัญ คือ ราคาสินค้าของผลิตภัณฑ์ของไทยมีราคาสูงกว่าคู่แข่งจากประเทศจีน รวมถึงการขอใบอนุญาตจากสำนักงานผลิตภัณฑ์การแพทย์แห่งชาติจีน (National Medical Products Administration) หรือ (NMPA) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการควบคุมกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร และผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับมนุษย์ โดยกำหนดมาตรฐานและออกใบอนุญาตสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก่อนจะสามารถวางจำหน่ายในประเทศจีนได้ โดยการขอใบอนุญาตจาก NMPA (National Medical Products Administration) สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารนั้นถือเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อน เนื่องจากจีนมีข้อกำหนดและมาตรฐานที่เข้มงวดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ผู้ส่งออกไทยจึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบการนำเข้าอาหารออร์แกนิกของประเทศจีน เพื่อสามารถผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและมาตรฐานตามที่สำนักงานผลิตภัณฑ์การแพทย์แห่งชาติจีนกำหนดและสามารถวางจำหน่ายในประเทศจีนได้อย่างถูกต้องตามกฎระเบียบการนำเข้าอาหารออร์แกนิกของประเทศจีน
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย
ปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวจีนโดยเฉพาะกลุ่มคนเมืองที่มีรายได้ในระดับปานกลางถึงระดับสูง มีความตระหนักรู้และหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โดยจะนิยมเลือกอาหาร ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ของใช้ในชีวิตประจำวันที่เป็นออร์แกนิกและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสารสกัดธรรมชาติหรือพืชสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น โดยในส่วนของผู้บริโภคในตลาดของจีน กลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็นคนที่เกิดระหว่างปี 1980 – 1990 ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังการบริโภคมากที่สุดและผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 250 ล้านคน เป็นกลุ่มที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกมากที่สุด ส่งผลให้ตลาดจีนมีความต้องการอาหารออร์แกนิกและอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ตามข้อมูลการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพของจีนในปี 2020 ระบุว่า มีการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพสูงถึงประมาณ 9.5 แสนล้านหยวน และคาดว่าจะมากกว่า 1.5 ล้านล้านหยวน ในปี 2025 ตลาดอาหารออร์แกนิกและอาหารเพื่อสุขภาพของจีน จะเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่สำคัญสอดคล้องกับ “กลยุทธ์ Healthy China” ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้คนมีกำลังซื้อและยินดีจ่ายในราคาที่สูงเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้ เทรนด์รักสุขภาพของจีนที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ตลาดผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกของจีน กลายเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ผู้ส่งออกไทยต้องจับตามองและใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มการส่งออกสินค้าเพื่อสุขภาพมายังตลาดจีนได้มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกควรศึกษากฎระเบียบการนำเข้าอาหารออร์แกนิกของประเทศจีนอย่างละเอียดรอบคอบ เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการควบคุมอย่างเคร่งครัด และมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ผู้บริโภคและผู้ส่งออกควรหาช่องทางและโอกาสในการเข้าตลาดจีน โดยผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ทุกชนิดที่ส่งออกไปยังประเทศจีน จะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพและได้รับโลโก้การันตีคุณภาพจากองค์กรของประเทศจีน ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคบางรายนิยมใช้และเชื่อมั่นในโลโก้มาตรฐานสินค้าออร์แกนิกสากล ดังนั้นผู้ส่งออกควรมีโลโก้การตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายและเครื่องสำอางออร์แกนิกสากล ติดบนบรรจุภัณฑ์ควบคู่กันไปด้วย ในส่วนของบรรจุภัณฑ์และรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์จะต้องมีความสวยงามและไม่เติมแต่งกลิ่นน้ำหอมที่มีสารเคมี จึงจะสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค รวมถึงคุณภาพก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นเดียวกัน สำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร ควรปรับรสชาติตามความนิยมของผู้บริโภคจีน และควรระบุแหล่งกำเนิดสินค้าที่เป็นแหล่งขึ้นชื่อของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น ข้าวหอมและผลไม้ฤดูร้อนระบุแหล่งผลิตที่มาจากไทย ส่วนผลิตภัณฑ์จำพวกนมระบุแหล่งผลิตที่มาจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นต้น รวมถึงบรรจุภัณฑ์ควรทำมาจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีอายุการเก็บรักษาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ในส่วนกลยุทธ์ด้านการตลาด ผู้ส่งออกสามารถดึง Soft Power มาบูรณาการใช้ในการประชาสัมพันธ์สินค้า หรือการทำวิดีโอสั้นเผยแพร่บนช่องทางโซเชียลมิเดียในการประชาสัมพันธ์ เหล่านี้จะส่งเสริมให้ผู้บริโภครับรู้และเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าและปริมาณการส่งออกสินค้าได้มากยิ่งขึ้น
ที่มา:https://www.rmzxb.com.cn/c/2024-06-04/3557404.shtml
จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว