ลูกจ้างออสเตรเลียนับล้านคนจะได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม จากการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล

คณะกรรมการการทำงานอย่างเป็นธรรม (Fair Work Commission หรือ FWC) ได้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ (Minimum Wage) และค่าแรงตามอัตราเฉพาะอุตสาหกรรม (Award Wages) ร้อยละ 3.75 ส่งผลให้ค่าแรงขั้นต่ำจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 24.10 เหรียญออสเตรเลีย ต่อชั่วโมง หรือ 913.37 เหรียญออสเตรเลียต่อสัปดาห์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป

การประกาศขึ้นค่าแรงดังกล่าวมีผลให้แรงงานกว่า 2.6 ล้านคน หรือร้อยละ 20.7 ของภาคแรงงานทั้งประเทศจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 33 เหรียญออสเตรเลียต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตามค่าแรงที่เพิ่มขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างประเภทไม่เต็มเวลา (Part Time) และชั่วคราว (Casual) :ซึ่งเป็นกลุ่มลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำ

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำคือปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น เนื่องจากแรงงานที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่นั้นได้รับค่าจ้างและมีรายได้ไม่สูงมากนัก โดยพบว่าแม้ภาวะเงินเฟ้อจะต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่แรงงานกลุ่มนี้ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ FWC ยังระบุเพิ่มเติมว่าการเพิ่มค่าแรงดังกล่าวจะไม่เพิ่มไปมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ โดยคาดว่าการประกาศขึ้นค่าแรงดังกล่าวจะส่งผลดีต่อภาคแรงงานที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งมีจำนวนประมาณ 2.6 ล้านคน นอกจากนี้ยังคาดว่าสถานการณ์การเงินของลูกจ้างในช่วงเดือนกรกฎาคมจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นโยบายลดหย่อนภาษีมีผลบังคับใช้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในมุมมองจากภาคธุรกิจนั้นอาจมีมุมมองที่ต่างออกไป โดยพบว่า หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งออสเตรเลีย (Australian Commerce of Chamber and Industry หรือ ACCI) เสนอให้มีการขึ้นค่าแรงไม่เกินร้อยละ 2 ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมแห่งออสเตรเลีย (Australian Industry Group หรือ Ai Group) เสนอให้เพิ่มร้อยละ 2.8 ในขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กมองว่าอาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง เนื่องจากต้องแบกรับภาระต้นทุนมากขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว

อนึ่ง การขึ้นค่าแรงครั้งล่าสุดในออสเตรเลียเกิดขึ้นเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา โดย PWC ได้พิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและค่าจ้างแบบ Award Wages ร้อยละ 8.6 และ 5.75 ตามลำดับ ตามแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งการประกาศขึ้นค่าแรงในครั้งนั้นได้สร้างความกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดีพบว่าสถานการณ์เงินเฟ้อของประเทศในปัจจุบันอยู่ในแนวโน้มชะลอตัวลงจนอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบสองปี

……………………………………………………………………………

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์

ที่มา :www.abc.net.au

 

thThai