“DITP จับมือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปั้นผู้ประกอบการไทยสู่การเป็นผู้นำกระแสการประกอบธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ รุ่นที่ 2 “Carbon Neutrality Leaders (CNLs) Generation 2”
………………………………………………………….
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดโครงการเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยสู่ความยั่งยืน ปี 2567 (BCG to Carbon Neutrality 2024) พร้อมจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้ชื่อ “3 Days Way to achieve carbon neutrality” ณ ห้อง Gallery 3 โรงแรมพูลแมน กรุงเทพ จี
2 กรกฎาคม 2567 – DITP เปิดโครงการเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยสู่ความยั่งยืน ปี 2567 (BCG to Carbon Neutrality 2024) พร้อมจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้ชื่อ “3 Days Way to achieve Carbon Neutrality” เพื่อพัฒนาองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มอาหารเเละเครื่องดื่มให้เป็นต้นแบบผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในการประกอบธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมต่อมาตรการจัดเก็บภาษีด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการยื่นขอฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่อองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในอนาคต
นายพรวิช ศิลาอ่อน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กล่าวว่า ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ที่กำหนดนโยบายส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยในมาตรฐานความยั่งยืนที่เป็นกรอบกติกาใหม่ของโลก โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตและสร้างสินค้าแบรนด์ไทยที่สอดคล้องกับมาตรฐานความยั่งยืนด้านต่างๆ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีพันธกิจมุ่งพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ โดย “โครงการเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยสู่ความยั่งยืน ปี 2567 (ระยะที่ 2) (BCG to Carbon Neutrality 2024)” มุ่งหวังให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยในการดำเนินธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ
นางสาวลิสา จินดานนท์ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน สำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เสริมว่า โครงการมุ่งเป้าพัฒนาศักยภาพและยกระดับ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจากทั่วประเทศ ให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการประกอบธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวต่อเนื่องมาจาก “Carbon Neutrality Leaders หรือ CNLs” รุ่นที่ 1 จำนวน 10 ราย ในกลุ่มหัตถอุตสาหกรรมสินค้าไลฟ์สไตล์ภาคเหนือและภาคกลาง และในปีนี้ได้ร่วมปั้นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในการประกอบธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ หรือ “Carbon Neutrality Leaders (CNLs)” รุ่นที่ 2 โดยขยายผลสู่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ในพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย โดยคัดเลือกผู้ประกอบการจำนวน 38 บริษัท ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการดำเนินธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำที่สมัครเข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศเพื่อเข้าสู่กระบวนการสร้างองค์ความรู้
รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า STeP ได้ร่วมกับทาง DITP ร่วมขับเคลื่อนและผลักดันผู้ประกอบการไทยให้ดำเนินธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในตลาดสากล มาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ทั้งยังร่วมดำเนินงานเพื่อมุ่งเป้าเชื่อมตลาดกับนวัตกรรม ขยายโอกาสทางการตลาด ลดช่องว่าง และบูรณาการเชื่อมโยง การค้า การตลาด โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการการค้าระหว่างประเทศให้เข้าถึงภาคการวิจัยและนวัตกรรม โครงการนี้มุ่งเน้นการนำร่องยกระดับผู้ประกอบการไทย เน้นการเตรียมความพร้อมด้านองค์ความรู้ การยื่นขอคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ผลักดันให้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นเศรษฐกิจภาคการส่งออก และให้การสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
โดยกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้ชื่อ “3 Days Way to achieve carbon neutrality” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 กรกฎาคม 2567 ผู้ประกอบการ จำนวน 38 บริษัท จะได้รับการอบรม 5 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรที่ 1 จุดประกายธุรกิจด้วยแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งเเวดล้อม หลักสูตรที่ 2 Sustainable Product to Global Market หลักสูตรที่ 3 How to prepare for the Carbon label หลักสูตรที่ 4 หลักการประเมินและคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (หลักสูตรเข้มข้น) และหลักสูตรที่ 5 Export & Funding Clinic พร้อมกิจกรรมคัดเลือกผู้ประกอบการจำนวน 10 บริษัท
ต่อเนื่องด้วยกิจกรรมให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ผู้ประกอบการทั้ง 10 บริษัท จะได้รับคำปรึกษาเชิงลึกในการจัดทำแผนผังวัฏจักรชีวิตและคำนวณปริมาณ Carbon footprint ของผลิตภัณฑ์
ทั้งคำแนะนำและการวางแผนการลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงการเตรียมข้อมูลเพื่อใช้ในการรับรองการยื่นขอฉลาก Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ในอนาคต
และท้ายสุดดำเนินการจัดทำแผนธุรกิจด้านการลดคาร์บอน ได้แก่ คู่มือการดำเนินการขอใบรับรอง Carbon footprint ของผลิตภัณฑ์ และ Booklet รวบรวมข้อมูลสินค้า/ผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปประกอบการยื่นขอฉลาก Carbon Footprint of Product (CFP) จาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) และนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
***********************
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
2 กรกฎาคม 2567