เมียนมาออกคำแถลงชี้แจงเรื่องรายงานพิเศษ UN

 

สหประชาชาติ (UN: United Nations) ออกรายงานพิเศษ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 โดยระบุว่า ธนาคารของเมียนมา ได้แก่ ธนาคารของรัฐ ธนาคารพาณิชย์เอกชนบางแห่ง มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกรรมบางอย่างที่เป็นการต่อต้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาและเรียกร้องให้สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ เช่น พิจารณายกระดับการตรวจสอบธุรกรรมการเงินในลักษณะเข้มงวด (EDD – Enhanced Due Diligence) พิจารณาความสัมพันธ์และการดำเนินงานระหว่างกัน หากเป็นธุรกรรมการเงินที่อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว

หลังจากที่รายงานพิเศษของ UN ออกมาแล้ว ธนาคารกลางเมียนมา (CBM) สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเมียนมา (UMFCCI) ธนาคารพาณิชย์เอกชนที่เกี่ยวข้อง และองค์กรต่างๆ  ได้ออกคำแถลงชี้แจงรายงานพิเศษของ UN โดยชี้แจงว่า ธนาคารทุกแห่งในเมียนมาได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการตรวจสอบสถานะลูกค้าอย่างเต็มที่ รวมทั้งการตรวจสอบเอกสารการโอนเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยระบบการตรวจสอบธุรกรรมการเงินในลักษณะเข้มงวด นอกจากนี้ ธนาคารกลางเมียนมากำกับดูแลธนาคารในเมียนมาให้ดำเนินการตามเกณฑ์มาตรฐานสากลของ Financial Action Task Force (FATF) ซึ่งเป็นคณะทำงานระหว่างประเทศด้านการเงิน เพื่อป้องกันการฟอกเงินและธุรกรรมการเงินนอกระบบ

โดยหน่วยงานต่างๆ ของเมียนมาได้ชี้แจงว่า ธุรกรรมทางการเงินดังกล่าวเป็นธุรรรมการเงินตามปกติ เช่น ยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์การเกษตรและปศุสัตว์ ปุ๋ย น้ำมันพืช และน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ไม่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายอาวุธหรือการต่อต้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ซึ่งธนาคารได้ตรวจสอบเอกสารและหลักฐานในการทำธุรกรรมชำระเงินนำเข้าสินค้าจำเป็นดังกล่าว รวมทั้งพร้อมชี้แจงและแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้อง

ผลกระทบ/โอกาส ความเชื่อมั่นเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องการเงิน ดังนั้นเมื่อมีรายงานพิเศษของ UN ซึ่งระบุธนาคารของเมียนมาบางแห่ง ก็กระทบความเชื่อมั่นของลูกค้าผู้ใช้งานและธนาคารพาณิชย์ที่เป็นพันธมิตร โดยหน่วยงานต่างๆ ของเมียนมา ได้เร่งชี้แจงว่าไม่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายอาวุธหรือการต่อต้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา รวมทั้งพร้อมชี้แจงและแสดงหลักฐานได้ ตลอดจนมีการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินอย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับการพิจารณาของลูกค้าผู้ใช้งานและธนาคารพาณิชย์ที่เป็นพันธมิตร ว่าจะพิจารณาความสัมพันธ์ ความร่วมมือ และยังคงใช้งานธนาคารเมียนมาบางแห่งที่มีชื่อในรายงานพิเศษของ UN ดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ ขอให้ภาคเอกชนติดตามข้อมูลและปรับแผนธุรกิจหรือการเงินที่เกี่ยวข้อง เช่น พิจารณาข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ธนาคารเมียนมาชี้แจง พิจารณาธนาคารเมียนมาอื่นๆ ที่ไม่ถูกระบุในรายงานพิเศษของ UN เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้ธุรกรรมทางการเงินเพิ่มเติม เป็นต้น

********************************************

ที่มา: Global New Light of Myanmar

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง

thThai