เปรูและอินโดนีเซียเริ่มการเจรจาจัดทำความตกลง Indonesia-Peru Comprehensive Economic Partnership Agreement (IP-CEPA) ซึ่งมีการเจรจารอบแรกเมื่อวันที่ 27-30 พฤษภาคม 2567 โดยมีเป้าหมายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและเพิ่มโอกาสทางการค้าในด้านต่าง ๆ ของ ทั้ง 2 ประเทศ
ในการเจรจารอบแรก ทั้ง 2 ประเทศได้เจรจาในประเด็นการค้าสินค้า การเข้าสู่ตลาด กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อุปสรรคทางเทคนิคด้านการค้า การปลอดภัยทางการค้า การคุ้มครองมนุษย์ สัตว์และพืชเพื่อสุขภาพ การระงับข้อพิพาท และกรอบกฎหมายต่าง ๆ
อินโดนีเซียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ในภูมิภาคเอเชีย มีจำนวนครัวเรือนรวมประมาณ 276 ล้านครัวเรือน มีจำนวนประชากรรวมมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก การส่งออกไปเปรู มีมูลค่า 367.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าจากเปรู คิดเป็นมูลค่า 77 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2566 อินโดนีเซียเป็นคู่ค้าสำคัญของเปรูในลำดับที่ 9 จากภูมิภาคเอเชีย สินค้าสำคัญส่งออกไปยังเปรู ได้แก่ ยานยนต์และรถยนต์ (มูลค่า 144 ล้านเหรียญสหรัฐ) รองเท้า (มูลค่า 44.9 ล้านเหรียญสหรัฐ) เมล็ดโกโก้ (มูลค่า 33.1 ล้านเหรียญสหรัฐ) ไบโอดีเซล (มูลค่า 31.8 ล้านเหรียญสหรัฐ) องุ่นสดและแห้ง (มูลค่า 19.7 ล้านเหรียญสหรัฐ) กระดาษ (มูลค่า 13.2 ล้านเหรียญสหรัฐ) ปุ๋ยเคมีและฟอสเฟต (มูลค่า 8.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) แร่สังกะสี (มูลค่า 5.3 ล้านเหรียญสหรัฐ) และตะกรันโลหะ (มูลค่า 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2567 การค้ารวมระหว่างอินโดนีเซียและเปรู มีมูลค่า 97.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยอินโดนีเซียส่งออกไปยังเปรู คิดเป็นมูลค่า 63.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่การนำเข้าสินค้าจากเปรูลดลง มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 33.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
แม้เปรูจะไม่ใช้ประเทศคู่ค้าดั้งเดิมของอินโดนีเซีย การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมระหว่างอินโดนีเซียและเปรู (Indonesia-Peru Comprehensive Economic Partnership Agreement: IP-CEPA) จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศ ให้กว้างขวางและครอบคุลมมากขึ้น อินโดนีเซียเห็นว่าเปรูสามารถเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยทั้ง 2 ประเทศ กำหนดเป้าหมายการเจรจาความตกลงฯ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 ซึ่งนอกจากประโยชน์ร่วมกันทางการค้าแล้ว ทั้ง 2 ประเทศมีแผนในการขยายบทบาทของเปรูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการขยายบทบาทของอินโดนีเซียในภูมิภาลาตินอเมริกา[1]
บทวิเคราะห์ / ความเห็นของ สคต.
เศรษฐกิจของเปรูมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 และค่อนข้างมีเสถียรภาพ และหลังสถานการณ์โควิด-19 เปรูมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี การขยายตัวดังกล่าวมีอัตราลดลงในช่วงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ แม้เปรูจะประสบกับการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่รัฐบาลเปรูสามารถจัดการกับปัญหาความไม่สงบทางการเมือง การเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นจากนักลงงทุน และแก้ไขสถานการณ์เงินเฟ้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ[1] จากการคาดการณ์ของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของเปรู อัตราการขยายตัวเฉลี่ยทางเศรษฐกิจของเปรูจะอยู่ที่อัตราร้อยละ 3 ระหว่างปี 2567 – 2570
เปรูมีความตกลงด้านการค้าในระดับพหุภาคี (Multilateral) ระดับภูมิภาค (Regional) และทวิภาคี (Bilateral) ที่มีผลใช้บังคับแล้ว รวมจำนวน 25 ฉบับ ล่าสุด เปรูได้ลงนามความตกลงทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้มีผลใช้บังคับ ได้แก่ กัวเตมาลา บราซิล และความตกลง TPP ในขณะที่ เปรูอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงด้านการค้าบริการ (Trade in Services) ภายใต้องค์การการค้าโลก และการเจรจากับประเทศอื่น ๆ เช่น เอลซัลวาดอร์ ตุรกี อินเดีย นิการากัว ฮ่องกง และอินโดนีเซีย
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การส่งออกและการนำเข้าสินค้าของเปรูมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่าในปี 2567 นี้ การส่งออกของเปรูจะมีมูลค่ารวม 66.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ การนำเข้าจะมีมูลค่ารวม 51.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ไทยและเปรูมีการจัดทำความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น (Thailand – Peru Closer Economic Partnership: TPCEP) โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2554 ไทยและเปรูเริ่มลด/ยกเลิกภาษีสินค้าบางส่วน (Early Harvest Scheme) ลดเหลืออัตราภาษีเป็นร้อยละ 0 แล้ว คิดเป็นร้อยละ 70 ของรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งความตกลง TPCEP ฉบับสมบูรณ์ จะครอบคลุมการเปิดตลาดสินค้าส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 30 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด และการเปิดเสรีภาคบริการ โดยเปรูพยายามผลักดันการเจรจาให้ได้ผลสรุปภายในปีนี้ เปรูนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับ โดยการนำเข้าขยายตัวคิดสัดส่วนร้อยละ 0.5 ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าร่วม 5,451.7 ล้านเหรียญสหรัฐ การนำเข้าวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ขั้นกลางขยายตัวเฉลี่ยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.2
ในปี 2566 ไทยมีมูลค่าการค้ากับเปรูรวม 486.93 ล้านเหรียญสหัรฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 9.50 โดยเป็นการส่งออก 290.99 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้า 195.94 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ มีการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลง TPCEP ในการส่งออกสินค้าคิดเป็นมูลค่า 34.90 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.56 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 118.18 ของมูลค่าการส่งออกรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ กลุ่มสินคาสำคัญที่สงออกภายใตสิทธิฯ ความตกลง TPCEP สูงที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่
1) ด้ายผสมกับฝ้าย (HS 550953)
2) ถุงมือที่ใช้ทางศัลยกรรม (HS 401519)
3) ถุงยางคุมกำเนิด (HS 401410)
4) โพลิเอทิลีนที่มีความถ่วงจำเพาะตั้งแต่ 0.94 ขึ้นไป (HS 390120)
5) เครื่องรับวิทยุกระจายเสียงอื่น ๆ (HS 852729)
6) รถจักรยานยนต์ที่มีความจุของกระบอกสูบ 250 – 500 ลบ.ซม. (HS 401511)
7) เครื่องแต่งกายและของใช้ประกอบทำด้วยยางธรรมชาติ (HS 950662)
8) อุปกรณ์สำหรับออกกำลังกายชนิดพองลม (HS 871130)
9) ส่วนประกอบอื่น ๆ ของยานยนต์ (HS 870829)
10) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ค และปลาโบนิโต (กระป๋อง) (HS 160414)
ภาพรวมการค้าระหว่างไทยและเปรูในปี 2566 มีการหดตัว เนื่องจากการค้าโลกที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบให้การส่งออกสินค้าหลายรายการของไทยไปเปรูลดลง เช่น ยานยนต์สำหรับขนส่งของ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบมีลูกสูบที่จุดระเบิดโดยการอัก รถยนต์และยานยนต์อื่น ๆ ที่มีความจุของกระบอกสูบ 1,000 – 1,500 ลบ.ซม. เครื่องตักย้ายแบบฟร้อนต์แอนด์ เป็นต้น สำหรับสินค้าที่มีการนำเข้าลดลง เช่น อาโวคาโด วุ้นและยางข้นอื่น ๆ ที่ได้จากผลิตภัณฑ์จากพืช (นอกจากวุ้นที่ได้จากสาหร่ายทะเล วุ้นและยางข้นที่ได้จากโลคัสต์บีน เมล็ดโลคัสต์บีนหรือเมล็ดกัวร์) เป็นต้น สคต.ฯ เห็นว่า ปัจจุบันหลายประเทศที่ไทยมีการจัดทำความตกลงการค้าเสรี มีการขยายความสัมพันธ์ทางการค้าผ่านการจัดทำความตกลงทางการค้าในระดับต่าง ๆ ส่งผลให้สินค้าไทยมีการแข่งขันกับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรรักษาและ/หรือพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ทัดเทียม หรือสูงกว่าประเทศคู่แข่งในตลาดปลายทาง รวมทั้งการกำหนดราคาที่สามารถแข่งขันได้
ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่อินโดนีเซียพิจารณาจัดทำความตกลงทางการค้ากับเปรู คือ การเตรียมพร้อมของเปรูในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าจากภูมิภาคเอเชียมายังภูมิภาคลาตินอเมริกาผ่านท่าเรือ Chancay ที่จะเปิดดำเนินการได้ภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 โดยการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือ Chancay จากภูมิภาคเอเชียไปยังภูมิภาคลาตินอเมริกา จะใช้เวลาเพียง 23 วัน (จากเดิมอย่างน้อย 40 วัน) เนื่องจากเป็นท่าเรือที่ขนส่งสินค้าโดยตรงไม่ต้องแวะพักผ่านท่าเรือแห่งอื่น ซึ่งจะทำให้สินค้าจากภูมิภาคเอเชียที่ขนส่งมายังภูมิภาคลาตินอเมริกาสามารถทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น ใช้เวลาในการขนส่งน้อยลง และค่าขนส่งน่าจะถูกลงกว่าเดิม เนื่องจากใช้เวลาในการเดินทางน้อยลงทำให้ประหยัดค่าน้ำมันมากขึ้น
หากเปรูและอินโดนีเซียสามารถบรรลุการเจรจาจัดทำความตกลง IP-CEPA ในปีนี้ จะเป็นผลดีต่อการขยายตัวทางค้าของทั้งเปรูและอินโดนีเซีย โดยปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้นของทั้ง 2 ประเทศดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของสินค้าไทยไปยังเปรู เนื่องจากสินค้าบางรายการที่เปรูนำเข้าจากอินโดนีเซียในปัจจุบัน เป็นคู่แข่งกับสินค้าไทย เช่น รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน ทูน่า และสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากยางพารา เป็นต้น
_____________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
กรกฎาคม 2567
[1] Consumption and retail online news about Latin America – https://www.america-retail.com/marketing/peruanos-gastan-alrededor-del-5-de-su-sueldo-en-moda/
Fahion online platform – https://pe.fashionnetwork.com/news/Los-peruanos-compran-tres-veces-mas-ropa-que-calzado,1537181.html
[1] Local Peruvian newspaper – https://andina.pe/ingles/noticia-peru-and-indonesia-start-negotiations-towards-trade-agreement-987146.aspx
A collaborative space to share information and support movements struggling against bilateral trade and investment – https://www.bilaterals.org/?indonesia-peru-commit-to&lang=en
Consulate General of the Republic of Indonesia in Chicago, The United States of America – https://kemlu.go.id/chicago/en/news/29305/indonesia-peru-start-first-ip-cepa-negotiation-round-ministry