หน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของอินเดีย(FSSAI) เปิดตัวโลโก้ใหม่สำหรับอาหารออร์แกนิก

หน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของอินเดีย (Food Safety and Standard Authority of India: FSSAI) ได้เปิดตัวโลโก้ใหม่สำหรับอาหารออร์แกนิก ซึ่งการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคสามารถระบุอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบออร์แกนิกได้อย่างถูกต้อง โลโก้ใหม่นี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อระบุมาตรฐานของอาหารออร์แกนิกและอาหารที่ไม่ใช่ออร์แกนิก ซึ่งตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ผลิตภัณฑ์อาหารออร์แกนิกจะไม่สามารถจำหน่ายได้หากไม่มีการรับรองด้วยโลโก้ดังกล่าว

หน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของอินเดีย(FSSAI) เปิดตัวโลโก้ใหม่สำหรับอาหารออร์แกนิก

โลโก้ใหม่สำหรับอาหารออร์แกนิกได้รับการพัฒนาจากการบูรณาการทำงานของหน่วยงาน FSSAI องค์การพัฒนาการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารอินเดีย (APEDA) และระบบการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS-India) ของกระทรวงเกษตรและสวัสดิการเกษตรกร โดยโลโก้ใหม่ที่เป็นเอกภาพนี้จะมีข้อความ “Jaivik Bharat ” or “Organic Food from India” แสดงอยู่ใต้บรรทัดด้านล่างของโลโก้ ซึ่งโลโก้มีสีเขียว ประกอบด้วยวงกลมหนึ่งวง ใบไม้ และเครื่องหมายถูกในวงกลม วงกลมสื่อถึงสุขภาพแบบองค์รวม ใบไม้สีเขียวสื่อแทนธรรมชาติ เครื่องหมายถูกบ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองจาก FSSAI ว่าเป็นอาหารออร์แกนิก และสีเขียวสื่อถึงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

ข้อมูลเพิ่มเติม
1. ตามกฎใหม่แต่ละผลิตภัณฑ์จะต้องมีเครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายรับประกันคุณภาพ นอกเหนือจากข้อกำหนดด้านการติดฉลากเดิมที่มีอยู่ ทั้งนี้ อาหารออร์แกนิกทั้งหมดต้องเป็นไปตามข้อกำหนดด้านบรรจุภัณฑ์และการติดฉลากที่ระบุไว้ภายใต้กฎและมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร (บรรจุภัณฑ์และการติดฉลาก) พ.ศ. 2554
2. บริษัท Equinox Lab ให้ข้อมูลว่า “สำหรับอุตสาหกรรมออร์แกนิกของอินเดียนั้น ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน FSSAI และ APEDA ในการเปิดตัวโลโก้ออร์แกนิกเพียงหนึ่งเดียวนี้ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์” เพราะจะเปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ สามารถเข้าสู่ตลาดอาหารออร์แกนิกได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยการใช้โลโก้นี้จะช่วยสร้างทั้งความไว้วางใจและแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสของการได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ ด้วยการรวมมาตรฐานและกระบวนการรับรองเข้าด้วยกัน และท้ายที่สุด โลโก้นี้จะแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายของอินเดียในการเติบโตอย่างยั่งยืนและสามารถผลิตสินค้าออร์แกนิกที่มีคุณภาพสูงได้
3. หน่วยงาน FSSAI กำลังพยายามปรับสมดุลระหว่างแผนการเพิ่มการส่งออกอาหารออร์แกนิกกับข้อกังวลด้านความปลอดภัยทางด้านอาหาร ผ่านการอนุมัติให้ห้องปฏิบัติการทุกรัฐที่ได้รับรองมาตรฐาน สามารถทดสอบผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกได้
4. การบังคับใช้โลโก้สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารออร์แกนิกนี้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 เพื่อเสริมสร้างมาตรฐานและเพิ่มการกำกับดูแลอาหารออร์แกนิก เนื่องจากประชาชนมีความกังวลต่อผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกแอบอ้าง Mr.Sunil Barthwal รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของอินเดียได้ออกมาเน้นย้ำถึงศักยภาพของประเทศในการขยายตลาดอาหารออร์แกนิกสู่ตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 135 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยอินเดียครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ

5. รัฐบาลอินเดียส่งเสริมการใช้โลโก้ออร์แกนิก “Jaivik Bharat” ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนธันวาคม 2560 เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในระดับสากล อย่างไรก็ตาม ความกังวลด้านความปลอดภัยของอาหารกับสินค้าที่ไม่ได้รับรองมาตรฐานยังคงมีอยู่ โดยในปีนี้ หน่วยงานตรวจพบอาหารปนเปื้อนกว่า 170 กรณี และเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น FSSAI ได้สั่งการให้ห้องปฏิบัติการทดสอบอาหารในแต่ละที่ ยกระดับมาตรฐานให้เข้มงวด พร้อมกับปรับให้แต่ละแห่งมีระบบที่สามารถทดสอบสินค้าออร์แกนิกได้ โดยห้องทดสอบจะต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงานพัฒนาส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารเกษตรและแปรรูป (APEDA) นอกจากนี้ ห้องปฏิบัติการจะต้องเข้าร่วมทดสอบมาตรฐานกับ APEDA National Referral Laboratory เพื่อตรวจสอบและยืนยันคุณภาพก่อนการส่งออกผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก เพื่อให้มั่นใจถึงความน่าเชื่อถือของสินค้าและได้ปฏิบัติตามมาตรฐานสากล

ผลกระทบและท่าที
1. ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น: FSSAI ได้แนะนำการใช้โลโก้ใหม่สำหรับอาหารออร์แกนิก จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในอินเดีย ซึ่งจะเป็นกลไกที่กระตุ้นความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ผ่านรับรองอย่างถูกต้อง ผู้ส่งออกไทยสามารถศึกษาและใช้โอกาสนี้ในการปรับมาตรฐานสินค้า เพื่อเป็นการขยายตลาดอินเดียได้อีกทาง
2. การสร้างโอกาสด้านความร่วมมือ: ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน FSSAI, APEDA และ PGS-India จะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกไทยสามารถสร้าง/ขยายความร่วมมือกับภาคเอกชน หุ้นส่วนทางธุรกิจ และหน่วยงานในอินเดียที่มีประสบการณ์โดยตรงกับมาตรฐานการรับรองใหม่ได้
3. ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น: การปฏิบัติตามข้อกำหนดใหม่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ การติดฉลาก และการรับรอง ที่ประกาศโดยหน่วยงาน FSSAI อาจทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ส่งออกไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสร้างความท้ายทายต่อกลยุทธ์การตั้งราคาและความสามารถในการแข่งขัน

ข้อคิดเห็น
1. สินค้าและผลิตภัณฑ์อาหารออร์แกนิกในตลาดอินเดียมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยความนิยมของผู้บริโภค หันมาสนใจในอาหารเพื่อสุขภาพ เริ่มหาซื้อได้ง่ายตามร้าน Modern trade และช่องทางออนไลน์ ในปี 2566 ตลาดอาหาร
ออร์แกนิกของอินเดียมีมูลค่าถึง 1,510.36 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม (CAGR) ประมาณ 22 % ซึ่งเป็นการคาดการณ์ในระหว่างปี 2567 – 2575 และจะสร้างมูลค่าถึงประมาณ 9,043 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2575 ประกอบกับการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรในรูปแบบออร์แกนิกของอินเดียครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.6 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งจัดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก อินเดียมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ถึง 145.1% ในทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีเกษตรกรประมาณ 4.43 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดในโลก (ข้อมูลจาก Research Institute of Organic Agriculture (FiBL) ปี 2565-2566) ทั้งนี้ การขายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ สามารถเป็นอีกช่องทางการขยายตลาดและเป็นโอกาสแก่ผู้ประกอบการไทย ผ่านการวางจำหน่ายหลายแพลตฟอร์มสินค้าออร์แกนนิก อาทิ ISayOrganic, ekgaon, OgarnicShop, Farm2Kitchen, Organic Shop รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (AIFTA,TIFTA) ทำให้สินค้ากลุ่มผลไม้สดไทยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า โดยปัจจุบันมีกลุ่มสินค้าออร์แกร์นิกนำเข้า เช่น ข้าวอินทรีย์ มังคุด ฝรั่ง ลำไย สับปะรด มะพร้าวน้ำหอม แก้วมังกร มะม่วง เงาะ ทุเรียน ข่า ใบมะกรูด พริกขี้หนู น้ำตาลมะพร้าว ซึ่งหากไทยสามารถยกระดับการผลิตจากผักผลไม้ทั่วไปเป็นสินค้าออร์แกนิกได้ ก็จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายฐานลูกค้าในอินเดียได้

2. การปฏิบัติตามกฎการใช้ฉลากโลโก้ใหม่สำหรับสินค้าออร์แกนนิกที่หน่วยงาน FSSAI และ APEDA ได้ประกาศให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานรับทราบนั้น นอกจากจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคเมื่อซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีโลโก้ “Jaivik Bharat” นั้นคือผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน อาจเป็นการเพิ่มฐานลูกค้าที่มีความพร้อม มีกำลังซื้อสินค้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น สอดรับกับกระแสผู้บริโภคอินเดียมีความตระหนักในสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้นในปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยควรใช้โอกาสดังกล่าวขยายความร่วมมือกับภาคเอกชน ผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้าที่มีประสบการณ์ เพื่อให้ผู้ผลิตไทยสามารถปรับตัวได้ตามข้อกำหนด บทบัญญัติแห่ง National Programme for Organic Production(NPOP) / Participatory Guarantee System of India (PGS- India) ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการบรรจุภัณฑ์ การติดฉลาก และการรับรองของอินเดีย

ที่มา: 1. https://www.fnbnews.com/Top-News/fssai-unveils-new-logo-for-organic-foods-77694 2.https://www.foodnavigator-asia.com/Article/2023/09/27/india-food-authority-orders-upgrades-for-all-state-labs-to-boost-organic-exports#:~:text=According%20to%20government%20data%2C%20the,organic%20foods%20for%20export%20yearly.

 

thThai