อินเดียต้องการชิ้นส่วนแผงวงจรพิมพ์ (PCBA) และส่วนประกอบ เพื่อรองรับการขยายตัวอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

“อินเดียมีแผนจะขยายการผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปที่ระดับ 500 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573 ซึ่งจะทำให้ส่วนประกอบและส่วนประกอบย่อยโดยเฉพาะชิ้นส่วนแผงวงจรพิมพ์ PCBA เป็นที่ต้องการอย่างมาก”

ข้อมูลปี 2023 พบว่าอินเดียมีความต้องการส่วนประกอบและส่วนประกอบย่อยในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์อยู่ที่ระดับ 45.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อรองรับการผลิตในอุตสาหกรรมมูลค่าประมาณ 102 พันล้านเหรียญสหรัฐ และอินเดียมีแผนจะขยายการผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ไปที่ระดับ 500 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573 ซึ่งจะทำให้ส่วนประกอบและส่วนประกอบย่อยโดยเฉพาะชิ้นส่วนแผงวงจรพิมพ์ Printed Circuit Board Assembly (PCBA) เป็นที่ต้องการสำหรับป้อนเข้าสู่การผลิตมากถึง 240 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยรัฐบาลมีแผนจะพิจารณาสนับสนุนทางการเงินสำหรับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมผ่านโครงการ Scheme for Promotion of Manufacturing of Electronic Components and Semiconductors (SPECS 2.0) รวมถึงภาษีนำเข้าสำหรับส่วนประกอบ และการทำ FTA กับประเทศในยุโรปและแอฟริกา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมดังกล่าว
.
รายงานระบุว่าชิ้นส่วนที่มีความต้องการสูงเพื่อใช้ในการผลิต 5 ลำดับแรกได้แก่ ลิเธียมไอออนแบตเตอรี่ กล้องโมดูล ชิ้นส่วนกลไก จอแสดงผล และแผงวงจรพิมพ์ โดยคิดเป็นร้อยละ 43 ของความต้องการในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 51.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2573 สินค้าเหล่านี้ยังคงต้องนำเข้าในปริมาณที่มากเนื่องจากความสามารถในการผลิตภายในประเทศเองไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้ง อินเดียยังมีข้อเสียเปรียบในด้านการผลิตทั้งในเรื่อง know-how และวัตถุดิบ หากเทียบกับผู้ผลิตชั้นนำ อาทิ จีน เวียดนาม หรือเม็กซิโก จึงทำให้ยังคงเป็นความท้าทายของอินเดียในการยกระดับการผลิตในอุตสาหกรรมดังกล่าวภายในประเทศ
.
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ
อินเดียกำลังเผชิญปัญหาภาวะคนว่างงาน กระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศอินเดียจึงมีแผนระยะยาวที่จะขยายอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศเพื่อสร้างงานให้แก่คนในประเทศ โดยปัจจุบันมีประชาชนราว 2.5 ล้านคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมดังกล่าว และรัฐบาลตั้งเป้าภายใน 5 ปีจะขยายภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดการจ้างงาน 5 ล้านคน โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณราว 9 พันล้านเหรียญสหรัฐสำหรับการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ผ่านนโยบายจูงใจรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ อีกหนึ่งสาเหตุที่อินเดียต้องการกระตุ้นภาคการผลิตก็เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าในสินค้าหมวดดังกล่าว โดยปัจจุบันแหล่งนำเข้าหลักของอินเดียสำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ จีนและฮ่องกง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 44 และร้อยละ 16 ตามลำดับ
.
ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตสินค้าแผงวงจรพิมพ์ PCB อันดับ 1 ของอาเซียน โดยได้รับอานิสงค์จากนักลงทุนไต้หวันที่ย้ายฐานการผลิตมายังไทยมากขึ้นเพราะต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ภายในประเทศ อีกทั้งไทยยังมีข้อได้เปรียบด้านห่วงโซ่อุปทานมาอย่างยาวนานของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และ PCB เป็นส่วนประกอบสำคัญ ทำให้ไทยซึมซับและมีความชำนาญในการผลิตสินค้าหมวดดังกล่าว และถูกมองว่าสามารถที่จะเติบโตในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ไทยมีการส่งออกสินค้าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มายังอินเดียในปี 2566 ประมาณ 733 ล้านเหรียญสหรัฐ หากนับเฉพาะสินค้า PCB ไทยมีการส่งออกมายังอินเดียช่วงเดือน ม.ค.- พ.ค. 67 ประมาณ 12.98 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 30.49% แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการผลิตและส่งออกของสินค้าไทยในหมวดดังกล่าว หากพิจารณาจากการที่อินเดียมีความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และ PCB ในปริมาณที่สูงเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในระยะยาว บวกกับการที่รัฐบาลอินเดียสนับสนุนให้เกิดการผลิตภายในประเทศอย่างจริงจังแล้ว อินเดียถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับนักลงทุนไทยที่สนใจเข้ามาลงทุนในตลาดนี้ นอกเหนือจากการส่งสินค้าเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตของอินเดีย

***************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงนิวเดลี
1 กรกฎาคม 2567

ที่มา:
– The Economic Times, 23 Jun 2024, India’s electronic manufacturing may reach USD 500 bn by 2030: CII report
– The Economic Times, 15 Jun 2024, India’s electronic manufacturing likely to double in the next five years
– ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

thThai