บทบาทของฮังการีในฐานะประธานแห่งคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Presidency of the Council of the European Union)

📰 ข่าวเด่นประจำเดือนกรกฎาคม 2567 โดย สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest 
Cover Photo Credit: Council of the European Union

 

ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ถึง 31 ธันวาคม 2567 ประเทศฮังการีจะดำรงตำแหน่งประธานแห่งคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป หรือ Presidency of The Council of the European Union ซึ่งประเทศสมาชิกสหภาพฯ จะผลัดกันเป็นประธานฯ วาระละ 6 เดือน มีภารกิจหลัก คือการจัดการประชุมระหว่างสมาชิกฯ และเป็นแกนนำในการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ ซึ่งในฐานะประธานฯ รัฐบาลฮังการีถูกจับตามองว่าจะผลักดันประเด็นใดเป็นสำคัญ

 

รัฐสภายุโรปจะประกอบไปด้วยผู้แทนจากรัฐบาลของประเทศสมาชิก ซึ่งรัฐบาลฮังการีชุดปัจจุบัน มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่ๆ ของสหภาพฯ อันเนื่องมาจากปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การที่ประชาชนจำนวนมากเริ่มเล็งเห็นว่านโยบายที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ทั้งเศรษฐกิจที่ยังคงไม่ฟื้นตัว และปัญหาเรื่องผู้อพยพ ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ต้องการโยบายที่มีแนวทาง และวิธีการที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งอาจจะสามารถแก้ไขปัญหา หรืออย่างน้อยก็มีแนวโน้มที่ปัญหาจะลดความรุนแรงลง

 

เช่นเดียวกันกับสมาชิกสภายุโรปจากรัฐบาลฮังการีในปัจจุบัน ซึ่งมีตัวแทนจากพรรคการเมืองใหม่เข้ามามากขึ้น และพยายามที่จะสร้างความแปลกใหม่ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และตั้งใจที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศ รวมทั้ง  การปรับเปลี่ยนเข้าสู่โลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบายต่างประเทศ การพัฒนาและสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การปรับเป้าหมายและกระบวนการค้าให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี หรือการให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่รักษ์สิ่งแวดล้อม ลดการสร้างมลพิษ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน อันจะส่งผลลัพธ์ที่ดีต่อประชากรในอนาคต

 

นอกจากนี้ รัฐบาลฮังการีส่งเสริมการค้าและการลงทุนกับประเทศนอกสหภาพฯ อย่างต่อเนื่อง โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เช่น การให้เงินทุนสนับสนุนการตั้งโรงงาน  ในเมืองต่างๆ ของฮังการี มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ HEPA (Hungarian Export Promotion Agency) และ HIPA (Hungarian Investment Promotion Agency) เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลฮังการียังต้องการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment-FDI) โดยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อให้ฮังการีเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานขั้นพื้นฐานในระดับสากล และแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ICT และโลจิสติกส์ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ คือ การที่ฮังการีมีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล อยู่ที่ระดับ 9% ซึ่งเป็นอัตราภาษีที่ต่ำที่สุดในสหภาพฯ

 

ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ รัฐบาลฮังการีได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสัมพันธไมตรีกับตลาดที่มีศักยภาพและมีขนาดใหญ่ของโลกในปัจจุบัน คือ ประเทศจีน มีกิจกรรมส่งเสริมการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อันสอดคล้องกับความต้องการ   ของจีนเองด้วยที่ต้องการขยายตลาดมายังภูมิภาคยุโรปตะวันกลางเช่นกัน ตามข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative และ China-CEEC ที่มุ่งเน้นการสร้างพันธมิตรของจีนในภูมิภาคยุโรปตะวันกลางและยุโรปทางตะวันออก ล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ฮังการีและจีนประกาศยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคี เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (All-weather Comprehensive Strategic Partnership) อันเป็นการตอกย้ำความร่วมมือในการพัฒนาและการค้าขายระหว่างสองประเทศมากขึ้น

 

รัฐบาลฮังการีมีความพยายามที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาทในภูมิภาคฯ มากขึ้น เห็นได้จากการเน้นย้ำความสำคัญของการดำเนินนโยบาย EU Cohesion Policy[1] ที่ให้ความช่วยเหลือประเทศในภูมิภาคยุโรปกลาง และคาบสมุทรบอลข่าน[2] ให้สามารถเข้าสู่การเป็นสมาชิกสหภาพฯ ได้รวดเร็วมากขึ้น ทั้งการช่วยเหลือ สนับสนุน แก้ไขปัญหาสร้างความเข้มแข็ง และพัฒนาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนทางเทคโนโลยีและความมั่นคงทางการเมือง เพื่อแก้ไขความไม่สมดุลระหว่างประเทศในสหภาพฯ

[1] EU Cohesion Policy strengthens the European Union’s economic, social, and territorial cohesion. It aims to correct imbalances between countries and regions. It delivers on the Union’s political priorities, especially the green and digital transition.
[2] คาบสมุทรบอลข่าน (Balkans) คำว่า “บอลข่าน” เป็นรากศัพท์จากภาษาตุรกี หมายถึงดินแดนทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ซึ่งมีเทือกเขาบอลข่านพาดผ่านประเทศ

 

บทบาทของฮังการีในฐานะประธานแห่งคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Presidency of the Council of the European Union)
รูปภาพที่ 1: สถานะของแต่ละประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน

 

การที่ฮังการีสนับสนุนประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางและคาบสมุทรบอลข่านให้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพฯ นอกจากจะเป็นการขยายเขตแดนเชงเก้น การสร้างเขตการค้าเสรีแล้ว ประเด็นสำคัญที่ฮังการีต้องการความร่วมมือจากประเทศสมาชิกฯ คือการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการอพยพข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการอพยพผ่านทางประเทศในภูมิภาคบอลข่าน ดังนั้น ประเด็นนี้จึงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับฮังการีในแง่ของความมั่นคงทางเมือง

 

💭 ข้อคิดเห็นของ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ 💭

 

ในช่วง 6 เดือนที่ฮังการีจะดำรงตำแหน่งประธานแห่งคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป รัฐบาลฮังการีจะมุ่งมั่นและผลักดันนโยบายในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์กับทั้งฮังการี ประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน และประเทศสมาชิกอื่นๆ โดยอาจจะเน้นการพัฒนาประเทศในภูมิภาคยุโรปกลาง หรือบอลข่านมากขึ้น ด้วยการนำเสนอนโยบายที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะการลดอุปสรรคทางการค้า และการหาช่องทางนำเข้า/ส่งออกสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อพิจารณาเป็นทางเลือกในการค้าขาย ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุน การปรับเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งสินค้า รวมทั้ง ข้อเสนอจากประเทศในภูมิภาคฯ นี้ ซึ่งอาจทำให้ประเทศผู้ส่งออก/นำเข้า หันมาให้ความสนใจ

 

หมายเหตุ : สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ได้จัดทำ Infographic ในประเด็นที่ได้กล่าวมาข้างต้น

 

บทบาทของฮังการีในฐานะประธานแห่งคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Presidency of the Council of the European Union)
Infographic เกี่ยวกับการรับตำแหน่งประธานแห่งคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (President of the Council of the EU) ของประเทศฮังการี ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2567

 

ข้อมูลและอินโฟกราฟิก จัดทำโดย วรวิช เจตมงคลนวัช

 

มอนเตเนโกรระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรจาก 43 ประเทศทั่วโลก 🐷 เนื่องจากโรค ASF ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกเนื้อสุกรจากไทย

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
กรกฎาคม 2567

thThai