สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 8-12 กรกฎาคม 2567
โอกาสขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Gen Z) ในแคนาดา
ปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่ม ประมาณหนึ่งในสามของชาวแคนาดาใช้เทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ เพื่อศึกษาข้อมูลและหาคำแนะนำตั้งแต่การเลือกประเภทอาหารไปจนถึงพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้า พวกเขาแสวงหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และมักอาศัยข้อมูลรีวิวออนไลน์ก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้า และมากกว่าครึ่งหนึ่งของ Gen Z (อายุตั้งแต่ 14 ถึง 27 ปี) จะพึ่งพา Social Media เช่น TikTok YouTube และ Instagram เป็นช่องทางหลักในการค้นหาข้อมูล
ผลการศึกษาล่าสุดโดยบริษัท The Hartman Group ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยอาหารและเครื่องดื่มระดับนานาชาติ ที่จัดพิมพ์รายงาน “Taste of Tomorrow: Navigating Food Through the Eyes of Gen Z and Alpha” พบว่ากลุ่มวัยรุ่น Gen Z กำลังกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักในอนาคต โดยกลุ่มนี้จะมีกำลังซื้อสูงและจะตัดสินใจซื้อสินค้าอาหารที่สะท้อนถึงภูมิหลังทางวัฒนธรรมและค่านิยมที่หลากหลายในแคนาดา เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนรุ่นก่อนๆ (Gen X and Millennial) กลุ่ม Gen Z กำลังมองหาอาหารที่มีรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มนี้ยังมองหาความสะดวก และกำลังมองหาแบรนด์ที่สามารถนำเสนอรสชาติที่หลากหลายมากขึ้นโดยใช้ส่วนผสมที่สดใหม่และดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
จากการศึกษา พบว่าร้อยละ 52 ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าเพราะสะดวกหรือง่ายต่อการเตรียมปรุง ในขณะที่ Gen X ให้ความสำคัญเพียงร้อยละ 42 เท่านั้น ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้ อาจเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มีไลฟ์สไตล์ที่วุ่นวายในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน หน้าที่ดูแลครอบครัว และการศึกษา ทำให้มีโอกาสหรือเวลาในการทำอาหารจำกัด หรือเพิ่งเริ่มต้นเรียนรู้การทำอาหารไม่มีทักษะการปรุงอาหารมากนัก การมีตัวเลือกในการซื้ออาหารพร้อมรับประทานที่ดีต่อสุขภาพซึ่งสามารถเตรียมได้ง่ายโดยไม่ต้องยุ่งยากเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดสำหรับพวกเขาอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเทคโนโลยีจะมีส่วนสำคัญในชีวิตประจำวัน แต่ยังมีปัจจัยด้านอื่นๆ ที่ควรจะพิจารณาดังต่อไปนี้
- โอกาสสำหรับขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ
ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ (Better-for-you snacking) คือ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้บริโภค Gen Z ด้วยการลดปริมาณส่วนผสมที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของพวกเขา เช่น น้ำตาล โซเดียม ไขมัน แต่มีสารอาหารอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
โดยทั่วไปแล้ว Gen Z จะให้ความสำคัญกับการได้รับสารอาหารที่ดี โดยให้ความสำคัญกับขนมที่มีส่วนช่วยบำรุงร่างกาย และช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้น พวกเขามองหาตัวเลือกที่มีประโยชน์ทางโภชนาการและการเผาผลาญสารอาหาร รวมถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพทั้งด้านจิตใจและอารมณ์ เช่น ถั่วอัลมอนด์ ที่จะช่วยชะลอริ้วรอย บำรุงประสาท และเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย หรือ Granola Bar ที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังบางชนิด และยังเป็นแหล่งสำคัญของสารอาหารที่จำเป็นหลายชนิด
รายงาน “The Power of Health and Well-Being in the Food Industry 2023” จากสมาคมอุตสาหกรรมอาหาร (FMI) พบว่าร้อยละ 50 ของผู้บริโภค (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 46 ในปี 2565) มีความเชื่อมั่นกับข้อมูลรีวิวสินค้าเพื่อใช้ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอาหารสุขภาพจากช่องทางรีวิวออนไลน์ (จากห้างค้าปลีกหรือร้านออนไลน์) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มาจากผู้บริโภคที่มีการซื้อและทดลองใช้จริง โดยมองว่าร้านค้าปลีกหรือร้านออนไลน์ เป็นแค่ตัวกลางที่เชื่อมระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสินค้า เป็นแหล่งข้อมูลรีวิวสินค้าที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่าข้อมูลจากหน่วยงานรัฐบาลหรือจากเว็บไซต์ผู้ผลิตสินค้าเสียอีก เนื่องจากทุกวันนี้ การค้นหาข้อมูลได้ง่าย แค่เพียงปลายนิ้วสัมผัสและก็มีข้อมูลผิดพลาดที่ไม่ตรงตามความเป็นจริงมากมายในโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งปัจจัยที่ผู้บริโภคให้เชื่อถือกับกับร้านค้านั้นเป็นสิ่งที่ดี โดยนักโภชนาการของ FMI เห็นว่าร้านค้าเฉพาะหรือห้างค้าปลีกเป็นจุดเชื่อมต่อที่ดีระหว่างผู้บริโภคกับสินค้า ซึ่งร้านค้าสามารถช่วยคัดเลือกสินค้าอาหารที่เหมาะสม คัดเลือกสินค้าที่มีคุณภาพ ลดความเสี่ยงของผู้บริโภค
นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมกล่าวว่านี่เป็นโอกาสสำหรับร้านค้าในแคนาดา โดยเฉพาะร้านที่ยังไม่ได้วางจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพมาก ในการดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการ เนื่องจากผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญในการดูแลตัวเองและเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายมากขึ้น ผู้บริโภคจะมองหาสินค้าขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพมากขึ้น
- การรับประทานแบบไร้สติ (Mindless Eating)
ถึงแม้ว่ากลุ่ม Gen Z จะให้ความสำคัญถึงคุณประโยชน์โภชนาการของสินค้าอาหาร แต่กลุ่ม Gen Z เป็นกลุ่มที่ชอบทานขนมขบเคี้ยวมากที่สุด โดยเฉพาะช่วงอายุ 20 ถึง 27 ปี ที่ชอบทานขนมขบเคี้ยวในช่วงเวลาบ่ายและเย็น อย่างไรก็ตาม ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การใช้โทรศัพท์มือถือหรือเล่นวิดีโอเกมขณะการทานขนมขบเคี้ยวอาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคบ่อยครั้งขึ้น รวมถึงปริมาณและชนิดของขนมและอาหาร ดังนั้น กลุ่มคนรุ่นใหม่จึงมีแนวโน้มที่เสี่ยงเป็นโรคอ้วนและมีปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น อาการปวดหัว โรคเบาหวาน และปัญหาทางเดินอาหาร
- การส่งเสริมสุขภาพผ่านเทคโนโลยี
ร้านค้าสามารถใช้เทคโนโลยี โดยให้ข้อมูลในการตัดสินใจซื้อสินค้า เช่น การแสดงข้อมูลโภชนาการของขนมต่างๆ หรือการแนะนำตามความชอบด้านอาหารของแต่ละตัวบุคคล การส่งเสริมการรับประทานขนมแบบมีสติในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีขึ้น
ความเห็นของ สคต.
การใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงกับ Gen Z กับพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ โดยผู้บริโภค กลุ่มนี้พึ่งพาแพลตฟอร์มดิจิทัลในการเลือกอาหาร และมีการศึกษาหาข้อมูลทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อมูลรีวิวสินค้า เพื่อใช้เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจจับจ่ายไปกับสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้ คนกลุ่ม Gen Z ให้ความเชื่อมั่นกับข้อมูลรีวิวจากช่องจัดจำหน่าย (ห้างค้าปลีก) หรือห้างออนไลน์ มากกว่าข้อมูลรีวิวจากเว็บไซต์ผู้ผลิตและข้อมูลรีวิวทั่วไปบนอินเทอร์เน็ต จึงเป็นอีกช่องทางของผู้ประกอบการไทยที่จะส่งเสริมสินค้าไทยผ่านการข้อมูลรีวิวของสินค้าบนแพลตฟอร์มหรือช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าในแคนาดา เนื่องจากผู้บริโภคจะให้ความสำคัญและมองว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งควรใช้ข้อมูลการรีวิวจากห้างค้าปลีกให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาปรับปรุงสินค้าให้ดียิ่งขึ้นให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)