ภาพรวมตลาด

มูลค่าตลาดเบเกอรี่ในสหรัฐฯ ปี 2566 อยู่ที่ 98,127 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 12.8 จากปี 2565 ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าตลาดในปี 2571 จะอยู่ที่ 132,582.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยอดขายปี 2566 ที่แบ่งตามประเภทของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1) ขนมปัง 33,633.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เติบโตร้อยละ 9.8 จากปีก่อนหน้า) 2) ขนมเค้ก 31,533.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เติบโตร้อยละ 15 จากปีก่อนหน้า) 3) ขนมอบ 24,629.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เติบโตร้อยละ 16.2 จากปีก่อนหน้า) 4) พายและทาร์ต 3,044.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เติบโตร้อยละ 5.6 จากปีก่อนหน้า) 5) ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่แช่แข็ง 2,891.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เติบโตร้อยละ 8.2 จากปีก่อนหน้า) และ 6) แป้งสำเร็จรูป 2,394.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เติบโตร้อยละ 7.6 จากปีก่อนหน้า)

 

สำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายส่วนใหญ่เป็นการซื้อผ่านหน้าร้านร้อยละ 92.6 ของยอดขายทั้งหมด โดยการซื้อผ่านหน้าร้านมากที่สุดเป็นการซื้อผ่านซุปเปอร์มาร์เก็ตร้อยละ 44.4 สำหรับการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มีเพียงร้อยละ 7.4

 

พฤติกรรมการบริโภค

ช้อมูลการบริโภคผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ของชาวสหรัฐฯ ในปี 2565 พบว่าชาวอเมริกันบริโภคขนมปังประมาณ 6,640 ล้านกิโลกรัมต่อปี หรือบริโภค 19.84 กิโลกรัมต่อคนต่อปี สำหรับการบริโภคเค้กและพายอยู่ที่ 8,600 ล้านกิโลกรัมต่อปี โดยชาวอเมริกันซื้อสินค้าเบเกอรี่เพื่อบริโภคเอง รวมทั้ง ซื้อให้ผู้อื่นด้วย

 

ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ร้านค้าเบเกอรี่ได้มีบริการส่งสินค้าที่บ้านและสั่งไว้ล่วงหน้าเพื่อมารับสินค้าที่ร้าน อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมเบเกอรี่นี้กำลังกลับสู่ภาวะปกติหลังจากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะยากลำบากมาหลายปี ผู้บริโภคเริ่มกลับมารับประทานภายในร้านมากขึ้นและมีความต้องการสินค้าเบเกอรี่สำหรับช่วงโอกาสพิเศษเพิ่มขึ้น สำหรับชาวอเมริกันการบริโภคของหวานกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคถือว่าเป็นการให้รางวัลตัวเองมากกว่าจะรู้สึกผิดว่าบริโภคของที่ไม่ดีต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ร้านเบเกอรี่ยังเผชิญความท้าทาย เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่าร้านเบเกอรี่เป็นจุดแวะพักมากกว่าจะเป็นร้านประจำที่ผู้บริโภคจะเข้าทุกวัน จึงทำให้โอกาสในการซื้อสินค้าเบเกอรี่ในร้านจึงมีน้อยกว่าอาหารจำเป็น

 

Mintel บริษัทวิจัยการตลาดพบว่าร้อยละ 82 ของผู้บริโภคเบเกอรี่ซื้อสินค้าในปริมาณเท่าเดิมหรือมากกว่าที่ซื้อเป็นปกติ และร้อยละ 48 ของผู้บริโภคทั้งหมดได้ซื้อสินค้าเบเกอรี่เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง และสำหรับผู้บริโภคที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าเบเกอรี่เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองถึงร้อยละ 53 โดยผู้บริโภคร้อยละ 39 จะซื้อสินค้าสำหรับรับประทาน 1 คน ทำให้การแบ่งขายสินค้าหรือขายในสัดส่วนที่เล็กจึงเป็นโอกาสของร้านเบเกอรี่ที่ต้องการดึงดูดผู้บริโภคที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย

 

ความท้าทายสำหรับร้านเบเกอรี่

อุตสาหกรรมเบเกอรี่ในสหรัฐอเมริกาได้เผชิญกับความไม่เพียงพอของแรงงานและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการดำเนินงานเนื่องจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อดึงดูดและรักษาพนักงานเบเกอรี่ ร้านค้าจะต้องเพิ่มค่าแรงและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ถึงแม้ว่าจะทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานสูงขึ้นก็ตาม

 

แนวโน้มของอุตสาหกรรมเบเกอรี่ในสหรัฐฯ ปี 2567

ความตระหนักเรื่องสุขภาพและนวัตกรรมในการพัฒนาสินค้า ทำให้ร้านเบเกอรี่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น เช่น การใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ไม่ใช้ส่วนผสมที่เป็นโทษต่อสุขภาพ การใช้ส่วนผสมที่จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์และความต้องการเฉพาะ เช่น สินค้าที่ปราศจากกลูเตน (Gluten-free) เป็นต้น จึงได้สรุปแนวโน้มของอุตสาหกรรมเบเกอรี่ในสหรัฐฯ ปี 2567 มีดังนี้

 

  1. Gluten-free

ร้านเบเกอรี่ในสหรัฐฯ ที่ขายเฉพาะขนมปังที่ไม่มีสารกลูเตน หรือ Gluten-free ในปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 25 ของร้านเบเกอรี่ในสหรัฐฯ ทั้งหมด หรือเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17 ในปี 2560 และสินค้าเบเกอรี่ที่ปราศจากกลูเตนเติบโตเร็วในไม่กี่ปีที่ผ่านมาในหลายประเภทผลิตภัณฑ์ เช่น ส่วนผสมเบเกอรี่ที่ปราศจากกลูเตนมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 ขนมปังกรอบเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 คุกกี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ขนมปังเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 และเค้กและพายเพิ่มขึ้นร้อยละ 15

 

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ส่วนใหญ่ปราศจากกลูเตน มักจะปราศจากน้ำตาล ปราศจากสารก่อภูมิแพ้ เป็น Plant-based และปลอด GMO ด้วย โดย    ผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z และ Gen Y มีแนวโน้มว่าจะบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารกลูเตน จากการสำรวจล่าสุดพบว่าร้อยละ 13 ของกลุ่ม Gen Z และร้อยละ 14 ของกลุ่ม Gen Y ต้องการผลิตภัณฑ์ Gluten-free

 

  1. การใช้วัตถุดิบที่มีประโยชน์

กระแสใส่ใจสุขภาพได้ทำให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เบเกอรี่เพื่อสุขภาพมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการผสมไฟเบอร์ การใช้ธัญพืชไม่ขัดสี การใช้ธัญพืชที่หลากหลาย รวมถึงการเสริมโปรตีนหรือส่วนผสมเพื่อสุขภาพอื่นๆ ที่เป็นที่รู้จัก เช่น วิตามิน แร่ธาตุ และพรีไบโอติก เป็นต้น

 

ในเรื่องส่วนผสมเพื่อสุขภาพพบว่ามีขนมปังที่ผสมไฟเบอร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ในรอบ 3 ปี และขนมปังที่ผสมพรีไบโอติกเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 4 ในรอบ 3 ปี ซึ่งวัตถุดิบทั้ง 2 มีส่วนช่วยเรื่องการย่อยอาหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปี 2565 ขนมปังที่ระบุว่ามีโปรตีนสูงคิดเป็นร้อยละ 14 ของผลิตภัณฑ์ขนมปังทั้งหมด

 

  1. การลดการใช้น้ำตาล

ผู้ผลิตเบเกอรี่ในสหรัฐฯ ได้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในการผลิตเบเกอรี่ที่ปราศจากสารปรุงแต่งหรือส่วนผสมสังเคราะห์ หรือการใช้น้ำตาลและแป้ง โดยมีจุดขายว่าว่าปราศจากน้ำตาล หรือ ไม่ได้มีการใช้น้ำตาลเพิ่ม หรือมีปริมาณน้ำตาลต่ำ ผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าไม่มีน้ำตาล (Sugar Free) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยอาจใช้สารให้ความหวานอื่นแทน เช่น สารให้ความหวานอิริทริทอล (Erythritol) น้ำตาลหล่อฮังก้วย และน้ำตาลจากหญ้าหวาน เป็นต้น

 

  1. การลดขนาดของสินค้า

รูปแบบของผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ที่มีขนาดพอดีคำมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มมากขึ้น เช่น มินิมัฟฟิน หรือคุกกี้ในบรรจุภัณฑ์แบบพกพา เป็นต้น ประกอบกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่มีเวลาในการทำอาหารน้อยลงและอยู่นอกบ้านมากขึ้น จึงทำให้ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ที่อยู่ในรูปแบบพกพาเป็นที่นิยมมากขึ้น เพื่อให้รวดเร็วและสะดวกสำหรับการนำไปรับประทานที่ทำงานหรือโรงเรียน

 

ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก

ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีแนวโน้มบริโภคผลิตภัณฑ์เบเกอรี่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพมากขึ้นประกอบกับนวัตกรรมด้านเบเกอรี่ก็มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้อุตสาหกรรมเบเกอรี่ได้พัฒนาสินค้าได้ตรงความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคมากขึ้น เช่น Gluten-free การลดการใช้น้ำตาล เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามแนวโน้มอุตสาหกรรมเบเกอรี่ในสหรัฐฯ เพื่อที่จะพัฒนาและผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกัน และสามารถขยายตลาดเข้ามาในสหรัฐอเมริกาได้มากยิ่งขึ้น

 

 

ข้อมูลอ้างอิง: Euromonitor, Mintel,
Statista, Innova Market Insights

thThai