การประชุมประจำปี 2024 Summer Davos Forum หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า World Economic Forum: Annual Meeting of the New Champions 2024 ภายใต้หัวข้อ Next Frontiers for Growth” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 มิถุนายน 2567 ณ เมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เพื่อเวทีแลกเปลี่ยนความเห็น และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระหว่างผู้นำระดับสูงและผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงมุมมองเกี่ยวกับความท้าทายจากความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน โดยในงานนี้มีผู้บริหารระดับสูง ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ กว่า 1,600 คน ทั่วโลก เข้าร่วมการประชุมฯ พร้อมด้วยการปราศรัยโดยบุคคลสำคัญ อาทิ ฯพณฯ นายหลี่ เฉียง (H.E.Mr.Li Qiang) นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ฯพณฯ นายอันด์แชย์ ดูดา (H.E.Mr.Andrzej Duda) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐโปแลนด์ ฯพณฯ ฝั่ม มิญ จิ๊ญ (H.E.Mr.Phạm Minh Chính) นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และ Ms. Amina J. Mohammed รองเลขาธิการสหประชาชาติ

 

การหารือได้หยิบยกประเด็นสำคัญ อาทิ เศรษฐกิจของเอเชียที่มีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจโลกที่กำลังก้าวสู่ภาวะถดถอย ความท้าทายจากความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ กฎระเบียบเพื่อรองรับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ การมุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ และการพัฒนาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เป็นต้น

 

ในช่วงพิธีเปิดการประชุม ฯ นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถา โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือและนวัตกรรมระดับโลกเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และระบุว่า “ปัญญาประดิษฐ์ พลังงานสีเขียว และ และชีวเวชศาสตร์ จะหลักพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมหลักที่มีมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์” รวมถึงนโยบายการเปิดตลาดให้แก่บริษัทต่างชาติเพื่อร่วมกันสร้างตลาด Blue Ocean จากการปฏิวัติเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ (The Sci-Tech Revolution) โดยมีประเด็นสำคัญ 3 ประการ สรุปเนื้อหาดังนี้

 

ถอดประเด็นสำคัญจากการประชุม 2024 Summer Davos Forum ณ เมืองต้าเหลียน

 

ประการแรก สถานการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบที่ยาวนาน นับแต่มีการระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่องมาช่วงหลังโควิด-19 ซึ่งเศรษฐกิจโลกก็ยังเติบโตต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาด ตามมาด้วยปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูง และหนี้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาฝังลึกภายใน ประกอบกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค เกิดผลกระทบต่อห่วงโซ่อุทาน เพิ่มต้นทุนการดำเนินงาน และลดทอนการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคจากการแข่งขันเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์อย่างรุนแรงขึ้น โดย นรม.หลี่ เฉียง กล่าวว่าทางเลือกที่ถูกต้องคือการเปลี่ยน ‘โลกที่กำลังเข้าสู่วังวนแห่งการทำลายล้าง’ ซึ่งต่างฝ่ายต่างเสียประโยชน์ ไปสู่การสร้างความร่วมมือระหว่างกัน และการขยายของเขตการพัฒนาเพื่อรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งเปรียบเสมือนการเปลี่ยนแนวคิดจากการแย่งส่วนแบ่งพายชิ้นใหญ่ ไปสู่การเพิ่มขนาดพายให้ใหญ่ขึ้น

 

ประการที่สอง การคว้าโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดจากการปฏิวัติเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ (The Sci-Tech Revolution) และการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม โดยมองว่าความก้าวล้ำของเทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงาน และชีวภาพ ช่วยขับเคลื่อนความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอัจฉริยะ อุตสาหกรรมสีเขียว และเทคโนโลยีด้านสุขภาพ  ซึ่งเข้ามาช่วยรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤตพลังงาน และความท้าทายต่าง ๆ อีกทั้งยังยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพของระบบอุปทาน พร้อมทั้งสร้างอุปสงค์ใหม่จำนวนมหาศาล อันนำมาซึ่งแสงสว่างและความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกเข้าสู่วงจรขาขึ้นใหม่

 

ถอดประเด็นสำคัญจากการประชุม 2024 Summer Davos Forum ณ เมืองต้าเหลียน

 

ทั้งนี้ จีนก็เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่พยายามคว้าโอกาสจากการปฏิวัติเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ โดยส่งเสริมวิสาหกิจในการพัฒนาระดับสูง โดยเน้นการสร้างรากฐานพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) และการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าพลังน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานนิวเคลียร์ โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แบตเตอรี่ลิเธียม และผลิตภัณฑ์เซลล์แสงอาทิตย์ (Photovoltaic Products) ที่ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการในประเทศเท่านั้น แต่ยังเพิ่มอุปทานในตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้ส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระดับโลก ยกเลิกกฎเกณฑ์ที่จำกัดการเข้าถึงตลาด และเปิดกว้างให้บริษัทต่างชาติแข่งขันและร่วมมือกับบริษัทในประเทศอย่างเท่าเทียมกัน

 

ประการที่สาม การร่วมกันสร้างตลาด Blue Ocean จากการปฏิวัติเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ 4 ประการ ได้แก่

1) การแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น สร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง ยุติธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ บนพื้นฐานของการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

2) การเสริมสร้างรากฐานการพัฒนาสีเขียว เพื่อการบรรลุเป้าหมายและหลักการของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและข้อตกลงปารีส

3) การปกป้องสภาพแวดล้อมของตลาดแบบเปิด สร้างความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน พัฒนาการเปิดเสรี การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการลงทุน

4) ส่งเสริมการพัฒนาที่ครอบคลุม และเป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยมองว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AI และ Big Data แม้จะเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็อาจก่อให้เกิดปัญหา เช่น การว่างงานเชิงโครงสร้าง และความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี โดยจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมายและกรอบการกำกับดูแลเทคโนโลยีใหม่อย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันความเสี่ยงอย่างรอบด้าน นอกจากนี้ ควรต้องมีการพัฒนาการศึกษาและการฝึกอบรมแก่กลุ่มเปราะบางและยกระดับทักษะแรงงานเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ประเทศและผู้คนจำนวนมากได้รับประโยชน์จากนวัตกรรม

 

ถอดประเด็นสำคัญจากการประชุม 2024 Summer Davos Forum ณ เมืองต้าเหลียน

 

นอกจากนี้ การเสวนาได้กล่าวถึง “จีนและโลก” ว่าอุตสาหกรรมที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ของจีน กำลังนำโอกาสการพัฒนาใหม่ๆ มาสู่หลายประเทศ และกระตุ้นโมเมนตัมเชิงบวกของการพัฒนาเศรษฐกิจโลก โดยเวียดนามมองว่าการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และ AI คุณภาพสูง และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ เป็นอนาคตของการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมองว่าเอเชีย โดยเฉพาะจีนและอาเซียน กำลังกลายเป็นตัวขับเคลื่อนพลวัตการพัฒนาที่สำคัญ โดยแสดงเจตจำนงค์ในการสร้าง “ชุมชนที่มีอนาคตร่วมกัน” กับจีน ส่วนมาเลเซียต้องการสร้างความร่วมมือในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง

 

ความเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

 

กลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของจีนมุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อก้าวสู่โลกสมัยใหม่ โดยใช้ความได้เปรียบจากการประหยัดต่อขนาดของจีน ซึ่งปฏิเสธมิได้ว่าทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนมีอิทธิพลต่อโลก ทั้งนี้ จากถ้อยคำปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีของจีน แสดงจุดยืนในการมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจระดับสูงสู่การ sci-tech revolution ได้แก่ ดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ชีวเวชศาสตร์ และพลังงานสีเขียว (Green Energy) โดยเฉพาะการผลักดันอุตสาหกรรม EV, แบตเตอรี่,พลังงานแสงอาทิตย์ ที่จีนมีศักยภาพ โดยเปิดรับการขยายความร่วมมือจากต่างชาติ ทั้งในแง่ของการลงทุนในประเทศในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง และการขยายการลงทุนออกนอกประเทศเพื่อสร้างความต่อเนื่องของห่วงโซ่อุปทานให้แก่อุตสาหกรรมดังกล่าวของจีน โดยภูมิภาคอาเซียนเป็นเป้าหมายหนึ่งในการรองรับการขยายการลงทุนเพื่อเชื่อมโยงสู่ตลาดโลก ซึ่งไทยควรส่งเสริมนโยบายเชิงรุกในการสร้างความร่วมมือในสาขาดังกล่าว

 

ที่มาข้อมูล : 

https://www.weforum.org/agenda/2024/06/address-by-china-premier-li-qiang-to-the-annual-meeting-of-new-champions/

https://www.weforum.org/agenda/2024/06/viet-nam-pham-minh-chinh-amnc24/

https://news.cgtn.com/news/2024-06-27/Summer-Davos-2024-concludes-China-drives-global-economic-growth-1uM8CoqCNeE/p.html

https://news.cgtn.com/news/2024-06-25/Li-Qiang-China-s-economy-offers-new-room-for-foreign-enterprises-1uJeU9zvhN6/p.html

ที่มาภาพ : https://www.weforum.org/

 

thThai